...+

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเหลื่อมล้ำของไทยกับของประเทศรวันดา โดย ประสาท มีแต้ม

ความเหลื่อมล้ำของไทยกับของประเทศรวันดา

โดย ประสาท มีแต้ม


ก่อนอื่นผมขอทบทวนความทรงจำกันสักนิด คือเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว (พ.ศ. 2537) ชาวไทยเราได้ชมข่าวทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา (Rwanda) ประเทศเล็กๆ ที่ประชาชนเป็นชาวผิวดำและยากจนในทวีปแอฟริกา

เราคงจำไม่ได้แล้วว่า สงครามกลางเมืองในครั้งนั้นเขาฆ่าฟันกันด้วยเหตุผลใด แต่ภาพที่เราได้เห็นในวันนั้นมันช็อกความรู้สึกของคนไทยเราเป็นอย่างมาก มันทั้งน่ากลัว โหดร้ายและป่าเถื่อนมาก ไม่คิดว่ามนุษย์ด้วยกันจะทำกันได้ถึงเพียงนั้น ผมคิดว่าคงไม่มีคนไทยคนใดคิดว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ในประเทศของเรา

แต่แล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้ ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งเหตุการณ์ที่อุดรธานีและกรุงเทพมหานคร

สาเหตุของความรุนแรงในประเทศรวันดากับประเทศไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากและอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหาร่วมกันก็คือ “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (Income Inequality)” ซึ่งสูงมากๆ

จากรายงานเรื่อง “Human Security, Today and Tomorrow” โดยหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า ในปี 2549 ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย (ซึ่งจะอธิบายความหมายในตอนท้าย) อยู่ที่ 14.7 เท่า (หน้า 80) แต่ของประเทศรวันดาในปี 2548 เท่ากับ 13.9 เท่า (ข้อมูลจาก http://data.worldbank.org/indicator (หมายเหตุ ข้อมูลจากสองแหล่งนี้ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ข้อมูลของธนาคารโลกให้ความเหลื่อมล้ำของไทยในปี 2551 เท่ากับ 7.9 แต่ UNDP ให้เท่ากับ 12.81 ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไป)

ปัญหาที่เราสงสัยก็คือ ความเหลื่อมล้ำมันสำคัญหรือก่อปัญหาอะไร ผมได้นำคำพูดของศาสตราจารย์ Richard Wilkinson ผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ The Spirit Level: Why Greater Equality Makes Societies Stronger ได้สรุปว่า “ความเหลื่อมล้ำคือความแตกแยกและความผุกร่อนของสังคม”

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังก่อปัญหาสุขภาพและสังคมอีกมากมาย ในบรรดาประเทศที่ร่ำรวย 22 ประเทศพบว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย (เช่น ญี่ปุ่น สวีเดน) จะมีปัญหาสังคมและสุขภาพน้อย ในทางตรงกันข้ามประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมาก (เช่น สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส) กลับมีปัญหาดังกล่าวมากในทุกมิติ

มีผู้มาแสดงความเห็นใน Facebook ของผมว่า การขยายความเหลื่อมล้ำคือการเพิ่มการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผู้ก่อคดีความรุนแรงต่อร่างกายผู้อื่น มักจะมาจากความรู้สึกที่ว่าตนเองถูกดูถูกเหยียดหยาม

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ลัทธิบริโภคนิยม การแข่งขันเอง การเลียนแบบซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน ถ้าเราปรารถนาให้สังคมยั่งยืน เราต้องลดความแตกต่างระหว่างรายได้ลงมา

โดยสรุป ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในสังคมเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพมากมายซึ่งสมควรที่จะได้รับการศึกษาและครุ่นคิดเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำกันต่อไป

ผมยังมีอีก 2 ประเด็นที่กล่าวถึงในที่นี้คือ หนึ่ง วิธีการคิดค่าความเหลื่อมล้ำ และ สอง นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เท่าที่ผมทราบ วิธีการคิดค่าความเหลื่อมล้ำมี 2 วิธี วิธีแรกคือ แบ่งคนทั้งประเทศออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20% ตามจำนวนรายได้ของแต่ละคน จากนั้นนำรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุดแล้วหารด้วยรายได้ของกลุ่มคนที่จนที่สุด ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวนเท่า ในกรณีประเทศไทยซึ่งเท่ากับ 14.7 ก็หมายความว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด (20% บนสุด ประมาณ 13.6 ล้านคน) มีรายได้เป็น 14.7 เท่าของกลุ่มคนจนที่สุด (20% ล่างสุดประมาณ 13.6 ล้านคน)

สำหรับวิธีคิดที่สอง คือค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ซึ่งหมายถึงทุกคนในประเทศมีรายได้เท่ากันหมด (เป็นสังคมอุดมคติ) ถึง 1 ซึ่งหมายถึงการกระจายรายได้ที่แย่ที่สุด กราฟข้างล่างนี้มาจากรายงานของ UNDP เพื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำในช่วงเกือบ 50 ที่เรา “พัฒนา” ประเทศมาและเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และ อินโดนีเซีย ด้วย



พบว่า ยิ่งพัฒนาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยิ่งสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นมีแนวโน้มลดลง นั่นแปลว่าปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาพของคนไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หรือยิ่งพัฒนายิ่งสร้างปัญหาดังที่ได้เรียนตั้งแต่ต้น

ประเด็นสุดท้าย นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ การเพิ่มค่าแรง 300 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาทอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง หากสามารถควบคุมสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) นโยบายลดภาษีรถยนต์ บ้านหลังแรก จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเพราะเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นนายทุนพรรคการเมืองในคณะรัฐบาล และหากมีปัญหาในการผ่อนส่งก็ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

มีคนเสนอว่า (1) ทำไมไม่ยกเว้นภาษีให้กับคนที่มีรายได้ไม่ถึง 2 แสนบาท (แทนที่จะเป็น 1.5 แสนบาท) (2) ทำไมไม่เก็บภาษีมรดกที่เกิน 10 ล้านบาท (3) ทำไมไม่เพิ่มภาษีรายได้ของคนรวยจาก 37% เป็น 38% เขาเสนอไว้ตั้ง 26 วิธี แต่รัฐบาลนี้กลับทำในทางตรงกันข้าม น่าห่วงมากๆ ครับประเทศไทยเรา กลียุคอีสคัมมิ่งเมื่อเทียบกับรวันดา!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น