...+

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธรรมที่ช่วยให้อานาปานสติสำเร็จง่าย

ธรรมที่ช่วยให้อานาปานสติสำเร็จง่าย

[๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เสพ-
*อานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบต่อกาลไม่นานนัก
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจ
น้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบ
ความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ๑ ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบ
ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑ ย่อมเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้
สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรม
ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ ย่อมพิจารณาจิต
ตามที่หลุดพ้นแล้ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้
แล เสพอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ย่อมแทงตลอดธรรมที่ไม่กำเริบ ต่อกาลไม่
นานนัก ฯ

ตามความเห็นแล้ว พระสูตรที่ยกมาข้างต้น จะเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนหลักการเพิ่มเติมที่นำมาปฏิบัติแล้วจะช่วยให้กรรมฐานที่กำลังบำเพ็ญอยู่นั้น ก้าวหน้าหรือสำเร็จได้โดยง่าย ในที่นี่พระองค์เน้นเฉพาะอานาปานสติกัมมัฏฐาน ซึ่งหากพิจารณาดูให้ถ้วนถี่แล้วหลักเหล่านั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกรรมฐานอื่นๆ นอกเหนือจากอานาปานสติได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น พุทธานุสสติ อาจด้วยบริกรรมพุท-โธ, พอง-ยุบ, ดูจิต, กสิณ ๑๐, สติปัฏฐาน ฯลฯ ก็สามารถใช้ได้ หลักการปฏิบัติเพิ่มเติมที่พระองค์ทรงตรัสไว้มี ๕ ประการ มีดังต่อไปนี้

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีธุระน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย ยินดียิ่งในบริขารแห่งชีวิต

หมายถึง ให้ผู้ปฏิบัติรู้จักหาเวลาฝึกกรรมฐานให้มากๆ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่ง หรือกิจธุระอะไรที่ไม่จำเป็น เพราะว่ายิ่งหากเรามีเวลาฝึกกรรมฐานน้อย มีกิจธุระมาก ก็จะฝึกได้ไม่เต็มที่ เมื่อมีเวลาน้อย ก็จะทำให้จิตพัฒนาไปได้ช้า แต่ถ้าหากเรามีเวลาฝึกกรรมฐานมาก มีกิจธุระน้อย มีเวลามาก ก็จะฝึกได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้จิตพัฒนาไปได้เร็ว ตัวอย่างก็เหมือนกับ คนที่ต้องการเล่นฟุตบอลให้เก่ง หากมีเวลาฝึกฝนมาก ก็จะยิ่งเก่งได้เร็ว แต่หากมีเวลาฝึกฝนน้อยก็จะทำให้เก่งฟุตบอลได้ช้า แต่ทั้งนี้จะต้องมีการฝึกฝนที่ถูกต้อง ตั้งใจสม่ำเสมอ ประคองความเพียร แต่ไม่เคร่งเครียด

๒. ย่อมเป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง

หมายถึง ให้ผู้ปฏิบัติรู้จักควบคุมอาหาร ไม่เห็นแก่กิน ไม่กินมาก กิน หรือรับประทานอาหารเฉพาะที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตเท่านั้น ซึ่งหากเป็นในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสให้รับประทานอาหารมื้อเดียว หรือมือกลางวันด้วย หลังจากกลางวันไปแล้วก็จะไม่กินอะไรอีก ยกเว้นว่าหิวจริงๆ ตอนเย็นก็จะกินน้ำปานะได้ แต่หากสำหรับฆราวาสก็ควรจะรับประทานให้เหมาะกับอาชีพ สภานภาพของตนเอง หากเราเป็นผู้ที่ใช้กำลังกายมาก อาจจะรับประทาน ๓ มื้อ โดยมื้อเช้าจะรับประทานมากที่สุด มื้อกลางวันก็ปานกลาง มื้อเย็นก็น้อย แต่ถ้าหากเป็นคนที่ไม่ได้ใช้แรงกายมากอะไร ส่วนใหญ่จะใช้สมองก็สามารถรับประทานเพียง ๑ มื้อ หรือ ๒ มื้อได้ ส่วนมื้อเย็นก็รับประทานผลไม้ หรือน้ำปานะ หรือไม่ทานอะไรเลย ตามแต่เหมาะสมกับสถานภาพและร่างกายว่าปกติหรือเป็นโรคครับ และที่สำคัญไม่ควรทานจุกจิกควรทานเฉพาะอาหารหลักเท่านั้นจะดีที่สุดครับ

การที่ต้องมีการควบคุมอาหาร ก็เพราะว่า หากผู้ปฏิบัติไม่ควบคุมแล้ว จะทำให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีอุปสรรค์ ซึ่งอุปสรรคก็คือความง่วง และความอยากกิน เพราะพอกินอิ่ม จะทำให้หนังท้องตึง หนังตาก็จะหย่อน ยิ่งกินมากยิ่งจะขี้เกียจและง่วงได้ง่าย หากเป็นคนกินเก่งก็จะอยากกินนู้นกินนี่ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ทีนี้นั่งปฏิบัติสมาธิ หรือเดินจงกรมก็จะทำได้ไม่ทน และจิตจะถูกรบกวนให้สงบได้ยาก อีกทั้งยังอาจเกิดความทรมานขึ้นได้ครับ แต่ตรงกันข้ามหากมีการรับประทานอาหารน้อย หรือเท่าที่จำเป็น ก็จะทำให้ไม่ง่วงง่าย และจิตจะโปร่งโล่ง กายเบา สบาย ทำให้ปฏิบัติได้โดยทนทานกว่ากินมากครับ

๓. ย่อมเป็นผู้มีความง่วงนอนน้อย ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่

หมายถึง ให้ผู้ปฏิบัติไม่ห่วงแต่นอน ควรเพียรพยายามปฏิบัติกรรมฐานให้มาก คือ เมื่อถึงเวลาตอนเช้ามืดก็รีบตื่นขึ้นมาปฏิบัติ ไม่เอาแต่นอนขี้เซาอยู่ ตอนเช้ามืดเป็นเวลาที่ดี เงียบ เพราะคนยังไม่ค่อยตื่นกัน จิตจะสงบได้ง่าย เพราะหากปฏิบัติตอนสาย ตื่นสาย อาจมีเสียงรบกวนเยอะ ทำให้รบกวนสมาธิ เวลาปฏิบัติได้ก็มีน้อยลงไป ส่วนระหว่างวันเอง เมื่อถึงเวลาที่แบ่งเอาไว้สำหรับฝึกกรรมฐานก็ให้มาปฏิบัติ ไม่ขี้เกียจ ไม่ไปนอนกลางวัน ส่วนตอนหัวค่ำ ก็ไม่รีบนอน ปฏิบัติกรรมฐานเสียก่อนครับ แล้วเมื่อถึงเวลานอนค่อยไปนอนครับ ซึ่งหากเป็นฆราวาสก็อาจจะดูว่าเราควรจะนอนกี่ชั่วโมงถึงเพียงพอ สำหรับผู้ใหญ่ ๕ ชั่วโมงก็ถือว่าเพียงพอ หากเป็นเด็กก็อาจจะมากกว่านี้ หลังจากนั้นก็จัดเวลาตื่นกับเวลานอนให้ชัดเจน และจัดเวลาฝึกตอนเช้า กับตอนก่อนนอนให้ชัดเจนครับ

๔. ย่อมเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรม ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

ข้อนี้มีความหมายได้หลายนัย จะขออธิบายเท่าที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับการฝึกกรรมฐานโดยตรง คือ ขณะที่ฝึกกรรมฐานอยู่ เมื่อมีเวลาว่างจากการฝึกกรรมฐานหรือกิจธุระ ก็ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือจากครูอาจารย์ที่เราเคารพ ศรัทธา เชื่อถือได้อยู่เนื่องๆ ควบคู่ไปด้วย อาจจะแบ่งเวลาว่าวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์ หรือในแต่ละวันเอาไว้ฟังธรรมก็ได้ ซึ่งการทำอย่างนี้จะมีประโยชน์ เป็นการสนับสนุนกรรมฐานที่ฝึกอยู่ให้ก้าวหน้าไปได้อีกทาง เพราะหากเรามีอะไรที่สงสัย บางทีข้อสงสัยเหล่านั้นพอไดัฟังธรรมก็จะทำให้รู้คำตอบ หรือหากเกิดสภาวะใดที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าคืออะไร เมื่อได้ฟังธรรมก็จะเข้าใจเทียบเคียงกับสภาวะที่ปรากฏขึ้นมาได้ หรือมีคนมาเสนอแนะความคิดหลักธรรมใดๆ เราก็จะรู้ได้ว่าจริงหรือไม่จริงโดยเทียบเคียงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ถูกหลอกหรือชักจูงไปให้เนิ่นช้าหรือหลงทาง หรือในคราวใดที่เกิดความเบื่อ หรือศรัทธาเริ่มคลอนแคลน แต่เมื่อได้ฟังธรรม ก็จะช่วยให้กลับมาฮึดได้ มั่นคงได้ และยังมีประโยชน์อีกมากมาย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

๕. ย่อมพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว

ข้อนี้มีความหมายลึกซึ้ง เป็นการกล่าวถึงผลของการปฏิบัติหลายระดับ ขยายความได้ว่า เมื่อปฏิบัติอานาปานสติ หรือกรรมฐานอื่นใดไป ย่อมมีความก้าวหน้าของจิตและปัญญาเกิดขึ้นมามากน้อยแตกต่างกันแล้วแต่ว่าปฏิบัติกรรมฐานชนิดใด เช่น จิตสงบมากขึ้น, จิตสงบลงเป็นฌานต่างๆ, เกิดอภิญญา, จิตสามารถดับ หรือละกิเลสต่างๆ ได้ เป็นต้น สภาวจิตที่ก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้ผู้ปฏิบัติทำการพิจารณาเสียด้วย ว่ายังตกอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ ซึ่งหากไม่พิจารณา ผู้ปฏิบัติก็จะหลงติดกับสภาวะจิตที่หลุดพ้นเอาได้ ทำให้ไม่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด แต่หากมีการพิจารณาว่าอย่างไรเสียก็ยังต้องอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ยกเว้นนิพพานจะอยู่ในกฏของไตรลักษณ์เป็นอนัตตาเท่านั้น ไม่อยู่ในกฏของไม่เที่ยง และเป็นทุกข์) ก็จะทำให้ไม่เกิดความยึดติดถือมั่นในสภาวที่จิตหลุดพ้นเหล่านั้น แม้แต่ไม่ยึดติดถือมันในนิพพาน ที่นี้ก็จะทำให้บรรลุจุดสูงสุดได้อย่างแท้จริงได้ในที่สุด คือ "ไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ"

เท่าที่ตอบมาขยายความให้ทราบแต่โดยย่อ คิดว่าคงจะช่วยให้เกิดความเข้าใจธรรม ๕ ประการมากยิ่งขึ้น ว่าทำไมเมื่อได้ทำตามแล้วย่อมจะทำให้กรรมฐานที่ปฏิบัติอยู่สำเร็จได้โดยง่าย ใช้เวลาไม่นาน

ขอให้เจริญในธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น