...+

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คิดไม่ถึง

ไม่ค่อยได้ยินผู้คนกล่าวคำว่า"คิดไม่ถึง"กันมานานแล้ว หรือจะเป็นเพราะผู้คนในปัจจุบันต่างคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ ว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคตแล้วเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่คาด หรือว่าแต่ละท่านล้วนแต่มีหมอดูแม่นๆเป็นที่ปรึกษา เพราะคนสมัยนี้ชอบดูหมอกันมาก ตั้งแต่ดูดวงชะตา โหงวเฮ้ง ลายมือ แม้กระทั่งหมอดูลายเท้าที่แก่งคอย สระบุรี เห็นเขาว่าแม่นมาก หรือจะเป็นเพราะไหว้เจ้าแล้วเกิดขลังศักดิ์สิทธิ์เบันดาลให้ป็นไปตามที่ลูกช้างขอก็ไม่รู้
แต่คำว่า"คิดถึง"กลับได้ยินเกลื่อนรูหูเลย เผลอๆไปใช้ภาษาต่างด้าวอย่างคำว่า miss you แทนก็มีไม่น้อย แล้วก็คงจะหายคิดถึงไปตามๆกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง เมื่อเอ่ยคำพูดว่าคิดถึงกันหรือmiss youไปแล้วเช่นกัน
เพิ่งจะมาได้ยินคำว่า"คิดไม่ถึง" ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิที่ฟูกุชิมะประเทศญี่ปุ่น จึงมีคนพูดถึงกันเยอะมากเป็นแรมเดือน
จนกระทั่งเดี๋ยวนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมืองไทย เดือดร้อนกันไปทั่วในขณะนี้ ไปไหนมาไหนจึงได้ยินคำว่าคิดไม่ถึงนี่แหละ
หลายๆคนที่เป็นชาววัดและเป็นนักปฎิบัติธรรมจะคุ้นหูกับคำว่าคิดถึงเมื่อหลายปีก่อน เพราะครูบาอาจารย์ท่านมาเน้นใช้คำพูดนี้ ตามครูบาอาจารย์รุ่นก่อนอย่างหลวงปู่ดูลย์ อตุโลที่ท่านพูดไว้ว่า"คนเราสมัยนี้ทุกข์เพราะความคิด"
หรือจะเป็นเพราะผู้คนเห็นธรรมกันมาก ก็ไม่รู้ คนจำนวนมากจึงพูดให้ฟังว่าขี้เกียจคิด เพราะคิดแล้วมันทุกข์ แต่คงไม่ใช่ความคิดที่เป็นความหมายเดียวกันกับของหลวงปู่แน่
เพราะหลวงปู่มักสอนให้คิดเป็นเห็นธรรม เช่นอย่าไปคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรืออย่าไปคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงเลย เสียเวลาเปล่า ให้คิดถึงปัจจุบัน
"เรียนอะไรให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเอง ที่ใจไม่สงบก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบเพราะ อยากสงบมันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาไปเรื่อยไปเถอะ สักวันจะได้สงบตามต้องการ" ดังที่สอนเรื่องปัจจุบันธรรมให้โดยการปฎิบัติภาวนา
แต่ในแง่ปุถุชนก็มีเรื่องให้คิดกันเยอะ คิดมากแค่ไหนก็ปวดหัวมากแค่นั้น แล้วไอ้ที่ส่วนใหญ่ที่คิดก็เป็นแต่เรื่องราวในอดีตหรืออนาคตกันทั้งนั้น ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครคิดกันนักหรอก แม้กระทั่งสำนวนล้อเลียนข้าราชการที่ว่า"ทำงานเช้าชามเย็นชาม"กลางวันไม่มีสักชาม
ความคิดถ้ามันเกิดขึ้นมาก มันก็สับสนฟุ้งซ่านมาก ยิ่งคิดเรื่องนี้ยังไม่จบเรื่องนู้นก็มาแล้ว เรื้องโน้นก็ตามมาติด สุดท้ายก็ต้องไปนอนคิดให้จิตแพท์เยียวยารักษา
อย่างที่ท่านอาจารย์มิตซูโอะ เควสโก ชอบยกตัวอย่างผลวิจัยว่าวันหนึ่งๆ ผู้คนคิดเรื่องราวต่างๆกันถึง 50,000 เรื่อง ถ้าเราอยู่ในหมวดบุคลลที่ถูกวิจัย ลองถามตัวเองดูสิครับว่าวันๆ คิดอะไรบ้าง แต่อย่าคิดจนพาลประสาท...จะรับประทานเอาเสียล่ะ
พุทธศาสนาจึงสอนให้ตระหนักรู้ในปัจจุบันธรรม หันไปสนใจในการเจริญสติหรือ เจริญภาวนาอย่างมาก เพราะปัจจุบันเป็นตัวบ่งชี้อนาคต แม้กระทั่งภพชาติต่อไปให้ผู้ปฎิบัติ
สอนให้รู้ว่ารู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ไม่หลง ไม่ฟุ้งซ่าน ให้รู้ว่ากายและใจเคลื่อนไหวอย่างไร จนจิตสงบและเรียงลำดับชั้นของความคิดให้พอดี ซึ่งอยู่ที่ความเพียรชอบของแต่ละคน
การเจริญสติและการเจริญภาวนา อย่างน้อยก็เป็นการเตรียมพร้อมกับเรื่องทุกเรื่องที่จะเข้ามาสู่ชีวิต
แม้กระทั่งภัยน้ำท่วมในขณะนี้ เพื่อจะรู้ว่าจะรับมือกันอย่างไรในสิ่งที่คิดไม่ถึง ซึ่งต้องหาหนทางแก้ไขกันต่อไป เมื่อสติมากสมาธิมั่นปัญญาก็จะเกิด ไม่ต้องไปนึกถึงการบรรลุธรรมอะไรมากนักหรอก แค่ทำอย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน จนใจสงบแล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นเอง มากหรือน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างน้อยมันไม่ฟุ้งซ่าน
ยิ่งถ้าเรามาพิจารณาตัวเลขหรือจำนวนเรื่องที่เราคิดไปในวันหนึ่งๆ เราจะเข้าใจว่าไอ้เรื่องที่คิดไม่ค่อยได้เรื่องหรือไร้สาระมันมากกว่ามีสาระ ถ้าขจัดความคิดที่ไม่มีสาระออกไป จะเหลือเวลาที่จะทำประโยชน์ได้อีกเยอะ
ลองคิดดูสิครับ แล้วอาจจะนึกขึ้นมาได้ว่าจริงเหมือนกัน เพราะคิดไม่ถึง
พระบรมศาสดาแม้ก่อนจะทรงเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านยังทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ทรงแสดงให้เห็นว่าจงอยู่ในความคิดที่เป็นปัจจุบันในศีล สมาธิ ปํญญา เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านทั้งหลาย
ไม่มัวมาพร่ำว่า คิดถึง miss you หรือเรื่องที่คิดไม่ถึงอยู่อีกเลย ตั้งกายตั้งสติเจริญสมาธิภาวนาเพื่อหนทางแห่งปัญญากันเถอะ อย่ามัวแต่ทุกข์กันเลย

ธรรมะสวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น