...+

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การบริหารอุทกภัย : พิบัติภัยในหัวใจเกษตรกร

การบริหารอุทกภัย : พิบัติภัยในหัวใจเกษตรกร

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


สถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศปีนี้ที่เพิ่งเริ่มต้น 20 จังหวัด ภาคเหนือและกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด และภาคตะวันออก 3 จังหวัด ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตประชาชนหลายล้านครัวเรือนแล้วเท่านั้น ทว่ายังนำความขัดแย้งรุนแรงสู่กลุ่มคนในสังคมทั้งที่แบ่งโดยพื้นที่ภูมิศาสตร์และสังกัดอาชีพอีกด้วย ดังการปะทะระหว่างเขตเศรษฐกิจกับเขตชนบท ท้องถิ่นกับเมือง ศูนย์กลางกับชายขอบ ชุมชนกับไร่นา ภาคเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม และภาคราชการกับประชาชน

ความสูญเสียและขัดแย้งที่ซ้ำรอยโดยตลอดในสังคมไทยจึงเป็นความท้าทายใหญ่หลวงของรัฐบาลที่ประกาศเดินหน้าบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทานในฐานะนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำในปีแรก ด้วยนอกเหนือจากเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งได้แล้ว ยังต้องสนับสนุนภาคเกษตรโดยการสร้างคลองส่งน้ำขนาดเล็กเข้าสู่ไร่นา ขยายเขตการจัดรูปที่ดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการผลิต ส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับชนิดพืช และจัดหาแหล่งน้ำในระดับไร่นาและชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นสำคัญด้วย

ทว่ากว่าจะถึงวันที่อุทกภัยและภัยแล้งสามารถป้องกันได้ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนปากต่อปากถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำผู้คนพลัดถิ่นที่อยู่ บาดเจ็บล้มตาย บ้านเรือนพังทลาย ไร่นาเสียหาย รวมถึงสลายสายสัมพันธ์ของคนพื้นที่เดียวกันแต่เพียงมีเขื่อนกั้นขวางก็เรียกน้ำใจและน้ำตาคนไทยได้ไม่น้อยโดยปรากฏออกมาในรูปเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย การลงพื้นที่นำสิ่งของไปช่วยเหลือ หรือกระทั่งส่งข้อความ SMS แสดงความอนาทร

ในความย้อนแย้งของสถานการณ์น้ำท่วมที่รัฐกำหนดนโยบายและมาตรการปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเมือง โดยปล่อยให้พื้นที่รอบนอกเสียหายก่อนจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจำนวนเล็กน้อยนั้น ทำให้เกษตรกรที่ไร่นาเสียหายหลายล้านไร่ เครื่องมือทำกินเสียหาย และบ้านเรือนจมน้ำจนอยู่อาศัยไม่ได้ต้องตกเป็นผู้เสียเปรียบอยู่ร่ำไป ไม่ต่างจากช่วงภัยแล้งขาดแคลนน้ำเกษตรกรก็จะเข้าไม่ถึงทรัพยากรน้ำเพราะรัฐมุ่งจัดสรรน้ำป้อนนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจในเมืองที่ขยายความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

กล่าวถึงที่สุด พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทางกายภาพที่คำนวณความสูญเสียออกมาเป็นตัวเลขเพื่อจะจ่ายเงินชดเชยได้เท่านั้น ทว่ายังหมายถึงพื้นที่ประสบภัยทางจิตใจของเกษตรกรที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้เสียสละ’ อีกด้วย ที่สุดแล้วหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐและทุนไม่ได้มองเกษตกรในฐานะผู้เสียสละ แต่เป็นผู้อ่อนแอไร้สิทธิเสียง (voiceless) ที่จะใช้เสียงที่ดังกว่าและอำนาจเหนือกว่ากระทำใดๆ ก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ปล่อยน้ำเข้าท่วมพื้นที่ไร่นาที่เกษตรกรฟูมฟักรักษามาหลายเดือน รออีกเพียงสิบกว่าวันก็จะเก็บเกี่ยวเลี้ยงปากท้องครอบครัวรวมถึงท้องผู้มีอำนาจที่สั่งการเบนน้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมได้แล้ว

การเยียวยาเกษตรกรจึงต้องมองประเด็นด้านการสร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม และชายขอบกับศูนย์กลางไปพร้อมๆ กับการจ่ายเงินชดเชยที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เพราะนอกจากมาตรการช่วยเหลือที่ข้าวได้รับการชดเชยในอัตรา 2,222 บาท/ไร่ พืชไร่ 3,150 บาท/ไร่ และพืชสวน 5,098 บาท/ไร่ จะไม่เพียงพอเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมหาศาล หากที่สำคัญความสูญเสียของเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจากพืชผลเสียหายเพราะน้ำท่วมยังควรได้รับการ ‘เฉลี่ยทุกข์สุข’ จากกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ที่บ้านเรือน ร้านค้า หรือโรงงานของตนเองไม่ถูกน้ำท่วมด้วย ไม่ใช่เกษตรกรหัวใจสลายฝ่ายเดียวดังปัจจุบันนี้

ดังนั้นเพื่อคลี่คลายวิกฤตน้ำท่วมรวมถึงภัยแล้งที่เป็น ‘พิบัติภัยในหัวใจเกษตรกร’ อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่รวมศูนย์ (centralization) จนไม่อาจตอบสนองความเดือดร้อนเร่งด่วนของพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมเป็นธรรม จึงมีความจำเป็นต้อง ‘ปฏิรูประบบการบริหารจัดการน้ำ’ ให้มุ่งเน้นการจัดการนํ้าขนาดเล็กที่ชุมชนมีส่วนร่วมและคำนึงถึงศักยภาพของลุ่มนํ้าเป็นสำคัญ เพราะในสถานการณ์ปกติจะทำให้ปัญหาแย่งชิงนํ้าจากการใช้นํ้าและผันนํ้าในลุ่มนํ้ามากเกินไปไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็รักษาแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อระบบเกษตร ภูมิปัญญา และศักยภาพด้านการผลิตของชุมชน ตลอดจนสมดุลนิเวศไว้ได้ ในขณะที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึงเท่าเทียมจากการที่คนที่มีอำนาจสั่งการอยู่ในพื้นที่เอง ไม่ต้องรอสายการบังคับบัญชามากมาย

มากกว่านั้นการคืนศักดิ์ศรีเกษตรกรรายย่อยในฐานะฐานหลักเกษตรกรรมที่ผลิตเพื่อบริโภคและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศชาติยังปฏิบัติการได้ผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่ให้รัฐทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ปฏิบัติต่อชุมชนท้องถิ่นที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และดำเนินการด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และมีส่วนร่วมของประชาชน ระบบโครงข่ายนํ้า (water grid) โครงการพลังงานไฟฟ้า (power grid) โครงการขุดคลองลัดในลุ่มนํ้าภาคกลาง โครงการและแผนพัฒนาในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในลุ่มนํ้าโขงต้องทำ EIA และ HIA รวมถึงจัดให้มีกระบวนการพิจารณาทางเลือกอื่นด้วย

นอกจากนี้ก็ต้องประเมินผลโครงการที่เกิดขึ้นแล้วทั้งด้านประสิทธิภาพ ประโยชน์ ผลกระทบ การบริหารจัดการ และการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ด้วยกระบวนการทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย และแสวงหาทางเลือก มาตรการ และแผนป้องกัน แก้ไข รวมถึงฟื้นฟู ปรับปรุง หรือรื้อถอนโครงการพัฒนาแหล่งนํ้าที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในปัจจุบันโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงบริหารจัดการและออกแบบโครงการใหม่หรือสร้างแผนชุมชนในการจัดการนํ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน เพราะวิกฤตอุทกภัยและภัยแล้งในหลายพื้นที่เกิดจากการดำเนินโครงการรัฐเป็นสำคัญ

อุทกภัยไม่ได้สร้างความสูญเสียแค่กายภาพตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าให้เงินชดเชยแล้วเกษตรกรทำไมไม่พอ เพราะเอาเข้าจริงแล้วพื้นที่ประสบภัยถาวรกว่าคือจิตใจที่สูญสลายจากการเลือกปฏิบัติของรัฐที่เบนน้ำเข้าท่วมพืชผลที่เป็นความหวังครอบครัว การแก้ไข ‘พิบัติภัยในหัวใจเกษตรกร’ จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดเหลื่อมล้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น