...+

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน

ภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน

โดย ประสาท มีแต้ม

ผมเขียนบทความนี้พร้อมๆ ไปกับการเตรียมตัวเพื่อบรรยายในหัวข้อ “ภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน” ให้กับเวทีสัมมนาใน “โครงการเชื่อมประสานเครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด : เพื่อรักษาฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมและสุขภาวะ” ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

โจทย์ที่ผมต้องอธิบายก็คือคำว่า “ภัยพิบัติจากการพัฒนา” หมายถึงอะไร เกิดจากอะไรและมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมทั้ง “เครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ควรจะร่วมกันเฝ้าระวังอย่างไร (ด้วยเนื้อที่ 2 หน้า)

ในความเห็นของผมแล้ว “ภัยพิบัติจากการพัฒนา” หมายถึงสองอย่าง คือ ภัยพิบัติที่เรามองเห็น เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ฯลฯ และ “ภัยพิบัติที่เรามองไม่เห็น” ที่ซ่อนอยู่ในความคิด จิตใจ และระบบคุณค่าของประชาชนที่เกิดจาก กระบวนการพัฒนา แต่ทั้งสองอย่างก็คุกคามสิทธิชุมชนทั้งนั้น

เรามาเริ่มกันที่ภัยพิบัติที่เรามองเห็นก่อนครับ แม้ว่ามันจะถูกจัดให้เป็นประเภท “ภัยพิบัติธรรมชาติ (natural disaster)” แต่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกจำนวนมาก (รวมทั้งประชาชนทั่วไป) เห็นว่ามันเกิดจากการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุหลัก แผนผังข้างล่างนี้เป็นจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติในทวีปต่างๆ ในช่วง พ.ศ. 2443-2553 ซึ่งบางท่านที่ไม่คุ้นเคยจะรู้สึกแปลกๆ (ที่มา EM-DAT: The OFDA/CRED International Disaster Database)



สาระสำคัญที่แผนผังนี้บอกเราก็คือ (1) ในช่วง 50 ปีแรก (จาก 2443 ถึง 2493) จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติต่อปีมีน้อยมาก (สังเกตจากความกว้าง) และเกือบคงที่มาตลอดในทุกทวีปของโลก (2) แต่ในช่วงประมาณ 20-30 ปีมานี้ จำนวนครั้งดังกล่าวได้เพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลการเพิ่มของระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก และสอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และ (3) ภัยพิบัติในทวีปเอเชียเกิดมากที่สุดอย่างชัดเจน รองลงมาเป็นทวีปแอฟริกา อเมริกา และยุโรป ข้อมูลนี้สอดคล้องกับมูลนิธิเพื่อเศรษฐกิจใหม่ (New Economy Foundation) ที่เสริมว่า “ร้อยละ 96 ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ในประเทศยากจน”

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะกรรมหรือเป็นเพราะประเทศยากจนไม่มีระบบการเตือนภัยและระบบป้องกันยังมีประสิทธิภาพที่ดีพอเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวย

สำหรับภัยพิบัติที่เรามองไม่เห็น ผมหมายถึงระบบความคิด ระบบคุณค่าของคนที่ถูกหลอมด้วยระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจและการสื่อสารที่เรียกรวมๆ ว่า “โลกาภิวัตน์” ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับเงินตราและวัตถุมากกว่าความสุขหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว

Wendell Berry นักวิชาการ นักเขียนชาวอเมริกันได้สรุปว่า “โลกาภิวัตน์ได้หลอมรวมให้คนทั้งโลกมีลักษณะเดียวกัน 4 อย่าง คือ (1) ไม่รู้เรื่องรู้ราว (2) ไม่สนใจซึ่งกันและกัน (3) โง่เขลา และ (4) ไม่สนใจการค้นหาความจริง”

คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้เคยสะท้อนลักษณะที่น่าเป็นห่วงของคนไทย (ผ่านรายการเปลี่ยนประเทศไทย) ไว้อย่างน่าสนใจ 3 ข้อ คือ (1) มีความขวนขวายค้นหาความจริงน้อยไป เชื่อข่าวลือมากไป (2) เคารพความเห็นของกันและกันน้อยไป และ (3) นับถือปริญญาบัตรมากกว่าความรู้

ผมคิดว่าผลการวิเคราะห์ของท่านทั้งสอง 6-7 ข้อนี้ ได้ทำให้สังคมไทยที่เคยโอบอ้อมอารี กลายเป็นไม่สนใจซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างอยู่ ให้ความสนใจกับละครทีวีอย่าง “ดอกส้มสีทอง” มากกว่าการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่ถูกต้องชอบธรรมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นกรณี ปากมูล แม่เมาะ มาบตาพุด บ่อนอก บ้านกรูด และ จะนะ เป็นต้น

ย้อนหลัง “การพัฒนา” ไปเพียง 50 ปี ค่าความเหลื่อมล้ำ ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ (แต่สูงกว่าของประเทศอินโดนีเซีย- ยิ่งต่ำยิ่งเป็นสังคมที่น่าอยู่) แต่ในวันนี้ประเทศไทยกลับสูงกว่าทุกประเทศที่กล่าวมาแล้ว นักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลกถึงกับกล่าวว่า

“ความเหลื่อมล้ำคือบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง” รวมทั้งความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาอื่นๆ อีกเยอะที่ผมเองก็ตกตะลึง เช่น ยิ่งเหลื่อมล้ำมากยิ่งทำให้คนเป็นโรคอ้วนมาก คนติดคุกมากขึ้น เป็นต้น

เคยมีการสำรวจว่า แหล่งน้ำจืดในประเทศไทยมีค่าออกซิเจนต่ำที่สุดในโลก (จากการสำรวจ 141 ประเทศ) ทำให้ทั้งแหล่งอาหารโปรตีนและแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคมีปัญหา ผมจึงจัดให้สิ่งเหล่านี้ให้เป็น “ภัยพิบัติ (ที่มองไม่เห็น) จากการพัฒนา” ที่เกิดจากทิศทางการพัฒนาที่ผิดพลาดมาตลอด

ประเด็นรองสุดท้ายที่จะกล่าวถึงอย่างกระชับก็คือ การคุกคามสิทธิชุมชน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอในเวทีแห่งหนึ่งไว้อย่างง่ายๆ ว่า “รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เท่ากับการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ บวกกับด้วยสิทธิมนุษยชน (ซึ่งหมายถึงประโยชน์และความถูกต้องของประชาชน)” ดังนั้นโดยตรรกศาสตร์แล้ว หากไม่มีสิทธิมนุษยชนจะเป็นประชาธิปไตยไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังถือว่า“อะไรที่เป็นสิทธิของชุมชน ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ” (รัฐหมายถึง รัฐบาล รัฐสภาและศาล)

ตัวอย่างเช่น ประชาชนมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากพระอาทิตย์ในรูปของพลังงานหมุนเวียนที่เป็นสิทธิของทุกคน แต่ก็ถูกรัฐบาลกีดกัน ไม่ยอมให้ใช้ แต่ให้หันไปใช้พลังงานฟอสซิลที่พ่อค้าผูกขาดได้ จนเกิดมลพิษ เกิดภาวะโลกร้อน แล้วจึงนำไปสู่ภัยพิบัติที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นภัยพิบัติจากการพัฒนาจึงเป็นการคุกคามสิทธิชุมชน

ประเด็นสุดท้าย เครือข่ายพลเมืองที่ได้รับผลกระทบ ต้องเข้าใจตนเอง (ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง) ต้องรู้ทันโลกาภิวัตน์ ต้องรวมตัวกันเป็นชุมชน ต้องเป็นชุมชนที่กำหนดอนาคตร่วมกัน สร้างระบบคุณค่า วัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นใหม่เพื่อความสุขร่วมกันของมนุษย์และโลกใบนี้ (ไม่ใช่เพื่อมนุษย์อย่างเดียว) นี่คือทิศทางใหม่ที่ชุมชนเราต้องเดินร่วมไปด้วยกันให้ถึงเป้าหมาย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น