...+

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ภาวะของคนสองประเภท (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

ภาวะของคนสองประเภท
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แสดงเนื่องในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๕๐ ปี
พระอาจารย์คำ ยสกุลปุตฺโต
วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ทุฆราวาสํ ทุปพฺพชิตํ
อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์ เป็นบรรพชิตก็เป็นทุกข์
ใน พระภาษิตทั้งสองบทนี้ ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ของบุคคล ๒ ประเภทว่า เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้ามีจิตอันบริสุทธิ์และซื่อตรง ได้แสดงถึงสภาพความเป็นจริง ซึ่งผิดจากความเห็นของบุคคลบางคนในโลกผู้ยังตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความหลงว่า เป็นฆราวาสมีความสุขบ้าง บวชมีความสุขบ้าง จึงได้ทำความไม่สงบวุ่นวายให้เกิดขึ้นในวงสังคมทั้งสองดังที่ปรากฏเห็นกัน อยู่แล้ว เมื่อบุคคลมีความเข้าใจผิดเห็นผิดแล้วก็ย่อมกระทำผิดเป็นธรรมดาอยู่เอง สิ่งที่ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ บางคนเมื่อตนเข้าใจผิดแล้ว ยังแถมไปใส่โทษพระพุทธเจ้าเข้าไปอีกว่า
คำสอนของพระพุทธองค์ผู้เป็น ทุกขนิยม พระองค์ยอมสละเสียซึ่งความเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่และความสุขทั้งปวงแล้ว จะมาทรงปรารถนาประโยชน์อะไรจากชาวโลกอีก มีแต่ทรงยอมทรมานพระวรกายเสด็จไปประกาศสัจธรรมของจริงแก่พลโลก เนื่องจากทรงพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงแก่ปวงสัตว์ผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความ มืด ซึ่งต่างก็พากันดิ้นรนเพื่อให้พ้นเสียจากความมืด แล้วจะยังมาหาว่าคำสอนของพระพุทธองค์เป็นทุกขนิยมไปเสียอีก
สัตว์ โลกผู้ยังหนาแน่นด้วยความมืด คือ อวิชชา มีฝ้าปิดบังกล่าว คือ โมหะ ย่อมไม่เห็นด้วยกับสัจจวาทีของผู้หวังดีต่อตน นอกจากไม่เห็นดีด้วยแล้วยังเห็นคำสอนเป็นไม้เบื่อไม้เมาอีกด้วยจึงเป็นที่ น่าสงสารมาก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ผู้ซึ่งปราศจากพระโยธาหาญาติมิได้ ก็มิได้หวั่นเกรงต่ออำนาจอิทธิพลใดๆ และของใครๆ ทั้งนั้น
ทรงเปล่ง สีหนาทประกาศสัจจธรรมในท่ามกลางพระพุทธบริษัทตามความเป็นจริง โดยมิได้อคติอันใดทั้งสิ้น ดังพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้น อันมีความว่า “อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์ บวชก็เป็นทุกข์” ดังนี้ โดยมิได้เกรงใจใคร และมิได้เห็นแก่หน้าใครๆ ทั้งสิ้น ว่าเขาเหล่านั้นจะชอบใจหรือไม่ แต่ตรัสตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่อุบัติมาในโลกนี้ทั้งหมดจะเป็นรูปก็ตาม เป็นนามก็ตาม ที่เรียกว่า สังขาร ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
ความ จริงคนเราเกิดมาแล้ว มิใช่พึงเป็นทุกข์เมื่อเป็นฆราวาสและเมื่อบวชเท่านั้น มันเป็นทุกข์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิอยู่ในครรภ์ของมารดาโน้น ที่ พระพุทธเจ้าทรงยกเอาทุกข์ของฆราวาสและบรรพชิตมาตรัสนี้ เพียงแต่เพื่อชี้ให้เห็นทุกข์ส่วนหนึ่งในบรรดาทุกข์ทั้งหลายเท่านั้น และทรงมุ่งให้ผู้เข้าใจผิดเห็นตามเป็นจริงแล้วจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ได้กับ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ต้องดิ้นรนจนทำให้สิ่งแวดล้อมยุ่งเท่านั้น หาไม่แล้ว ผู้ที่เข้าใจผิดเห็นผิดดังว่ามาแล้วนั้นจะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมยุ่งไป หมด
ฆราวาสผู้ที่ไม่มีความสามารถในอาชีพ หรือเกียจคร้านในการงาน เป็นต้น ก็หาว่าฆราวาสเป็นทุกข์ บวชเป็นสุขสบายดีกว่าไม่ต้องทำงานอะไร ถึงเวลาก็มีคนหามาให้กินเอง ก็เลยอยากบวช ผู้บวชอยู่แล้วบางคนได้เคยเป็นฆราวาสมีลูกมีเมียมาก่อนเสียด้วยซ้ำ ก็ยังหาว่าบวชเป็นทุกข์เหมือนกับขังไว้ในคอกในกรง จะไปจะมาจะอยู่กินใช้สอยอย่างไร ก็ล้วนแต่มีข้อกฎ-กติกา-ระเบียบ-พระวินัย บังคับไปเสียหมดทุกอย่าง
ที่สุดแม้แต่ ตา หู จมูก กาย ลิ้น ของตน ซึ่งเป็นสมบัติเดิมพ่อแม่แบ่งปันให้มาโดยเฉพาะแท้ๆ ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังต้องให้ระวังควบคุมรักษาอีกด้วย ก็เลยอยากสึกเสีย บางคนสึกออกไปแล้วได้รับอุปสรรคขัดข้องบางประการ ซึ่งตัวเองปรับปรุงตัวของตัวให้เข้ากับสังคมเขาไม่ได้ก็ดี หรือไม่รู้เท่าเข้าใจต่อเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดจนไม่มีความสามารถในหน้าที่ของตนก็ดี ก็เลยคิดถึงความสุขเล็กน้อย ที่ตนได้รับเมื่อครั้งที่บวชอยู่ แล้วหาว่าฆราวาสมันยุ่ง สกปรกเป็นทุกข์มาก กลับมาบวชอีกสองครั้งสามทีก็มี

คนประเภทที่กล่าวนี้ มีจิตใจคลอนแคลนไม่หนักแน่น ไม่มีหลักธรรมประจำใจ มักกระทำตามความคิดที่เหลวไหลของตน แล้วก็ไม่เชื่อความคิดเห็นของคนอื่นอีกด้วย พูดง่ายๆ ว่า เป็นคนเจ้าอารมณ์ (เป็นทาสของอารมณ์) ยอมแพ้ทั้งทางโลกและทางธรรม คนโบราณจึงได้พูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์” ไม่ควรคบเอาเป็นมิตร (อย่าเอาเป็นตัวอย่าง)
แท้จริงสิ่ง ที่อุบัติ ขึ้นมาในโลกนี้ที่เรียกว่า สังขาร คือ พวกที่มีแต่ชีวิต เช่น ต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นก็ดี ที่มีวิญาณด้วยเช่น สัตว์ มนุษย์ เป็นต้นก็ดี ล้วนแล้วแต่พากันเกลียดทุกข์ต้องการสุขด้วยกันทั้งนั้น ต่างพากันดิ้นรนให้พ้นไปจากทุกข์ หมายจะเอาชนะทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนเราต้องการความสุขมากกว่าเขาทั้งหมด และเมื่อได้รับความสุขมาแล้วก็ไม่รู้จักพอเสียด้วย คนเราจึงได้ทำให้โลกเป็นทุกข์และเดือดร้อนมาก
อาจกล่าวได้ว่าโลกที่ เดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ทุกข์วันนี้เกิดมาจากมนุษย์เรา เป็นส่วนมาก แม้แต่สัตว์ที่หนีไปซุกซ่อนอยู่ในป่าดงพงลึก หรือในก้นทะเล ก็ไม่พ้นจากคนตามไปเบียดเบียน เป็นธรรมดาผู้ต้องการมากก็ต้องใช้ความคิดมาก พร้อมกันนั้นก็มีความฉลาดมากอีกด้วย แต่ถ้านำความฉลาดนั้นมาใช้ให้เกินขอบเขตไป มักจะเป็นเหตุทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและคนอื่น พุทธภาษิตที่ตรัสว่า อยู่ครองฆราวาสก็เป็นทุกข์นั้นอยู่ในข่ายนี้เหมือนกัน ทุกข์มากก็ดิ้นรนมากก็ยิ่งแต่จะเดือดร้อนมากเหมือนกับนกที่ติดข่าย ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดตัวเข้า ไม่ดิ้นเสียเลยก็มีหวังเข้าหม้อแกงแน่ พูดสั้นๆ ว่า ดิ้นรนก็เป็นทุกข์ ไม่ดิ้นรนก็เป็นทุกข์ ไม่พ้นคำที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ไปได้
เมื่อเหตุผลมีอยู่อย่างนี้แล้ว จะไม่ให้พระองค์ผู้ทรงมีจักษุดี ทรงมองดูมนุษย์และสัตว์ผู้มืดมัวอยู่ด้วยความเมตตาแล้วทรงเปล่งสีหนาทประกาศ ก้องว่า นั่นเป็นทุกข์ๆ อย่างไรเล่า และยังได้ทรงชี้ตัวทุกข์อย่างตรงๆ ตามที่มีอยู่เป็นอยู่จริงๆ อีกด้วยว่ามี ๑๑ ประการ คือ
๑. ความเกิด
๒. ความชรา (ความเจ็บไข้ก็รวมอยู่ในชรานี้)
๓. ความตาย
๔. ความโศก
๕. ความพิไรร้องไห้รำพัน
๖. ความทุกข์ใจ
๗. ความน้อยใจ
๘. ความเหือดแห้งใจ
๙. ความประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
๑๐. ความปรารถนาสิ่งใดๆ แล้วไม่สมประสงค์ และ
๑๑. ความวิปโยคพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักและชอบใจ
เหล่า นี้แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ ถ้าหากทุกข์ทั้ง ๑๑ อย่างนั้นโหมกลุ้มรุมเข้ามาพร้อมกันทั้งหมดใส่บุคคลใดแล้ว บุคคลผู้นั้นถ้าไม่ถึงดิ้นแด่วดับชีวิต ก็มีหวังเหลืองไปทั้งตัวทีเดียว ทุกข์ ทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วนี้ เมื่อสรุปแล้วก็อยู่ที่ความถือว่ากาย ใจ นี้ เป็นเรา เป็นของเรา (อัตตานุทิฎฐิ) ที่เรียกว่า อุปทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
อุปทานขันธ์เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อบุคคลมาพิจารณา อุปทานขันธ์ เห็นตามเป็นจริง และปล่อยวางได้ ทุกข์ทั้งหลายก็ไม่มี ถ้าปล่อยวางอุปทานขันธ์ นี้ยังไม่ได้ตราบใด กายและใจก็จะพร้อมกันสร้างกิเลสขึ้นเสวยร่วมกันอยู่ตราบนั้น เมื่อกายแตกดับทำลายไปตามสภาพของสังขาร ใจเป็นผู้หอบเอากิเลสอันเป็นเชื้อนำให้ไปเกิดในภพอื่น และร่วมกันทำกรรมเสวยทุกข์ต่อไปอีก แล้วก็ดิ้นรนเดือดร้อนประกอบกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดภพชาติต่อไปอีก วนไปวนมาไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที หากจะเขียนให้เข้าใจง่ายแล้ว ก็ต้องเขียนดังนี้
แผนผังของภพชาติ
เหตุ……………………………………….. ผล
วิปากวัฏฏ์ (เกิดมา)….. กัมมะวัฏฏ์ (ทำกรรม)….. กิเลสวัฏฏ์ (เศร้าหมองใจ)
ปากวัฏฏ์ (เกิดอีก)……. กัมมะวัฏฏ์ (ทำกรรม)…… กิเลสวัฏฏ์ (เศร้าหมองใจ)
จะ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเป็นเหตุเป็นผล ผลัดเป็นต้นผลัดเป็นปลายของกันและกันวนอย่างนี้อยู่เรื่อยไป ไม่รู้จักจบจักสิ้นตลอดภพตลอดชาติ ท่านจัดเรียกว่า วัฏฏสงสาร การหมุนของวัฏฏ์ทั้ง ๓ ดังแสดงมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องแสดงอาการของความทุกข์สลับกันไปมาทั้งนั้น
ฉะนั้น มนุษย์คนเราเกิดมาก็จะต้องดิ้นรนหมุนเวียนอยู่ในวัฏฏสามนี้ เด็กเกิดมาแล้วก็อยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเข้าใจว่า เราจะได้อิสระภาพใช้เฉพาะตนเอง ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจบังคับของบิดามารดา หนุ่มๆ สาวๆ ไม่เชื่อโอวาทของพ่อแม่และผู้ปกครอง ก็ด้วยเข้าใจว่าตนมีความสามารถพอตัวแล้ว การอยู่ใต้บังคับคนอื่นเป็นทุกข์ ผู้เป็นโสดอยากมีคู่ครอง ก็ด้วยความเข้าใจว่าเราจะได้อิสระภาพเต็มที่ ผู้ที่มีลูกมีหลานแล้วก็อยากที่ให้เขาแต่งงานเสีย เพื่อที่จะได้หมดห่วงหมดใย
เมื่อชีวิตเปรียบเหมือนกับความฝันแล้ว เรื่องทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้นมันจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นความฝันไปตามชีวิตเท่านั้น แต่กระนั้นบุคคลก็ยังดิ้นรนไปตามความฝันของตนๆ อยู่ร่ำไป เพื่อหวังผล คือ ความสุขอันตนวาดภาพไว้บนอากาศ อนิจจา สังขารเอ๋ย หาสาระอะไรมิได้ นอกจากจะมีไว้เป็นเครื่องประดับความคิดของผู้มีความหวังอยู่
แท้ จริงเด็กๆ และหนุ่มๆ สาวๆ ซึ่งเป็นกุลบุตรกุลธิดา ของผู้บังเกิดเกล้า ได้ชื่อว่าเป็นทรัพย์อันมีค่าของวงศ์สกุลตลอดถึงประเทศชาติด้วย ย่อมมีอิสระภาพควรแก่ฐานะของตนเพียงพออยู่แล้ว แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของอิสรภาพที่ตนได้ และนำออกมาใช้ไม่ถูกหน้าที่ของตน จึงได้ทำให้เสียคนเสียเกียรติ ทำทรัพย์อันมีค่าของบิดา มารดา ตลอดจนประเทศชาติให้เสื่อมสลายไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเกียจคร้าน หัวดื้อ ถือรั้น ไม่เชื่อคำบิดามารดา และผู้ปกครองเหล่านี้เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนแล้ว แต่จะทำทรัพย์อันมีค่าของบิดามารดา ให้ลดน้อยถอยลงไปทั้งนั้น
เมื่อ บิดามารดาหรือผู้ปกครองผู้ที่เมตตาปรารถนาดี หวังจะเทอดทูนคุณค่าของทรัพย์ ที่มีคุณค่าอยู่แล้วให้ดีเด่นขึ้น เมื่อเห็นบุตรธิดาทำสิ่งใดลงไปที่ไม่เหมาะสมก็ตักเตือนว่ากล่าวเขากลับโกรธ ชักไม่พอใจ เลยเห็นความดีที่บิดามารดามีต่อตนเป็นภัยไปทั้งหมดความเมตตาปราณีความหวังดีมีคุณค่าเท่ากับ ข้อบังคับ ให้โอวาทตักเตือนเปรียบเหมือนกับการสร้างเรือนจำให้อยู่
หาก เขาเหล่านั้นแหละได้แต่งงานไปแล้วด้วยความผิดพลาด หลงมัวเมาของเขา หรือด้วยความยินยอมของผู้ใหญ่ก็ตามที ซึ่งเขาคิดว่าจะมีอิสระภาพนั้น แท้จริงก่อนจะแต่งงาน ทุกๆ ฝ่ายจะต้องยอมสละสิทธิเพื่ออิสระภาพให้แก่กันและกันเสียก่อนจึงจะแต่งงานกัน ได้ ถ้าหากไม่มีแล้ว ไม่มีใครจะยอมรักและแต่งงานกันเลย นอกจากจะยอมสละเพื่อคู่รักของตนโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังยอมสละเพื่อบริวารชน มีพ่อตาแม่ยาย พ่อผัวแม่ผัว เป็นต้น
อิสระเหล่านี้ย่อมไม่เหมือนกับ อิสระเมื่อยังเป็นหนุ่มสาวคราวอยู่กับบิดา มารดาที่เหมือนเรือนจำของลูก เมื่อแต่งงานแล้วหน้าที่การงานตลอดถึงความประพฤติและด้านจิตใจเราจะทำ อย่างอยู่ด้วยบิดามารดาไม่ได้เด็ดขาด จำจะต้องเปลี่ยนแปลงไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง การงานในบ้านเราจะต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียว รายได้และใช้จ่ายจะต้องมีขอบเขตจำกัด เมื่อได้ลูกขึ้นมา ทุกๆ อย่างจะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นเงาตามตัว
อันรูปร่าง ผิวพรรณ กิริยามารยาทตลอดถึงความรู้สึกนึกคิด การงานทั้งปวงของหนุ่มๆสาวๆ นั้น จะคลี่คลายหายเข้ากลีบเมฆไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ผลที่สุดก็จะยังเหลือแต่ความยุ่งและความแก่ตลอดเวลา
สมาชิก ในครอบครัวมากขึ้นมิใช่อาชีพมันจะเจริญขึ้นตามตัวเสมอไปซ้ำอายุกำลัง เรี่ยวแรงก็มีแต่จะลดน้อยถอยลงไปทุกๆ วัน แม่เหล็กแม่แรงพ่อเหล็กพ่อแรงนั้นมันจะถ่วงน้ำหนักได้สักกี่คน เมื่อถึงเวลานั้นโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดา และครูอาจารย์ ซึ่งเคยเป็นยาเบื่อไม้เมามาแต่ก่อนโน้น จะกลับมาเป็นยาแก้ลมชโลมหัวใจของลูกรักด้วยความระลึกถึงบุณคุณของท่านอีก ครั้ง
คนแก่ๆ ก็ไม่ยอมแพ้หนุ่มๆ สาวๆ เหมือนกัน มีลูกมีหลานแล้วไม่เพียงแต่จะเอาไว้กอดรัก และโชว์เพื่อนบ้านเท่านั้น ยังครุ่นคิดอยากจะปลูกฝังเพื่อจะให้มีหน่อแหนงสืบเชื้อวงศ์ตระกูลเป็นห่วง ถึงอนาคตของเขา กลัวจะพ้นผ่านขัยวัยอันควรแก่กาลของเขา ยิ่งบางคนลูกมากเลี้ยงไม่ไว้หาให้ไม่พอ นึกว่าแต่งงานให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเสียที จะได้ไม่เป็นทุกข์ด้วยเขา ที่ไหนได้กว่าจะเสร็จเรื่องแต่ละคน เข้าทำนองที่ว่า ที่ดีไม่ได้ ที่ได้ไม่ดี ก็เป็นทุกข์ตอนหนึ่งแล้ว
ต่อจากนั้นไปก็จะต้องเฝ้าจับ ตาดูความเคลื่อนไหวของเขาทุกวิถีทาง หากอาชีพและความรักใคร่ของเขายังกลมกลืนพอไปกันได้ ก็ค่อยสบายใจไปตอนหนึ่ง ถ้าเขาเกิดมีเรื่องจุกจิกอะไรขึ้นในระหว่างนี้แล้ว ก็จะทำให้คนแก่ใช้สมองมากเหมือนกัน ขั้นต่อไปเมื่อเขาได้หลานขึ้นมาแล้ว สองตายายก็จะตาลุกตาล่อจนลืมตัว ทิ้งแบก กลับมาได้หาม ไม่ ทราบว่าความทุกข์ของฆราวาสนี้มันจะไปสิ้นสุดลงไหน ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแต่พันเข้าเหมือนกับปลาติดอวน พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในทุกข์ของฆราวาสได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นของสุดวิสัยของผู้ครองฆราวาสที่จะปลดเปลื้องทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้
คำ พิพากษาของศาลว่า ผู้นี้กระทำผิดต่อกฏหมายมาตรานี้แล้วจะต้องได้รับโทษจำคุกเท่านี้เท่านี้ๆ ปีแล้วจึงจะพ้นได้ เรียกว่า โทษมีกฎหมายปรับตามโทษานุโทษนั้นๆ แต่ส่วนโทษของฆราวาสนี้ซิ เมื่อไรมันจะพ้นได้ เพราะทำผิดเองตัดสินตนเอง โดยไม่มีแม่บทกฎหมาย นี่ว่าเฉพาะทุกข์เดียว คือ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งแก่ถึงขนาดนี้ หากจะพูดถึงเรื่องทุกข์สายใหญ่ๆ แล้วก็ยังมีอีกมากเป็นต้นว่าทุกข์เรื่องอาชีพ เจ็บป่วย และทะเลาะวิวาททุบตีซึ่งกันและกัน ตลอดถึงทุกข์ใจเศร้าโศกอาลัย มันเหลือที่จะคณานับให้ถ้วนได้ พระพุทธเจ้าทรงประมวลความทุกข์ของมนุษย์ สัตว์ไว้มีอยู่ ๑๑ ประการแล้ว ดังที่ยกมากล่าวแล้วไว้ในข้างต้นนั้น
สรุป แล้วทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เกิดแต่อุป ทานขันธ์ คือ ถือว่านามและรูปอันนี้มันเป็นของๆ เรา แต่ถึงอย่างไรก็ดี หากผู้ได้รับทุกข์แล้วไม่หลงมัวเมาประมาทจนเกินควร มาสำนึกถึงความผิดโดยการยกเอาทุกข์ขึ้นมาพิจารณาให้ถ่องแท้ แล้วตั้งใจจะบำเพ็ญตนให้สมภาวะที่ตนเป็นฆราวาสดำเนินชีวิตตามวิธีที่พระ พุทธเจ้าได้ทรงวางไว้เพื่อผู้ครองฆราวาส ถึงแม้ทุกข์จะไม่หมดสิ้นไปทีเดียวแต่ก็พอจะได้รับความสุขตามอัตภาพวิสัย เท่าที่การปฏิบัติของตนจะพึงอำนวยผลให้
เราเกิดมามิใช่ เทวดาบนชั้นฟ้าสวรรค์จะมีความสุขได้ มิใช่แต่เฉพาะมีทรัพย์มากมีเกียรติยศชื่อเสียงโด่งดังและบริวารชนมากเท่า นั้นก็หาไม่ ถึงจะมีสิ่งเหล่านั้นแล้วก็ตามที ถ้าไม่มีคุณธรรมประจำตนเป็นลักษณะแล้ว อาจเป็นทุกข์มากกว่าคนที่เขามีคุณธรรมเป็นเครื่องดำเนินชีวิตของเขาถูกต้อง ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ ดังนั้น จึงนำฆราวาสธรรม มาแสดงให้เห็นพอเป็นเอกเทศ เพื่อเป็นการศึกษาของผู้สนใจ เมื่อน้อมนำไปปฏิบัติตามแล้วจะได้รับผลดังที่ท่านแสดงไว้หรือไม่เชิญทดลองดู

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น