...+

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อั้นกรรม

ได้อ่านตามหาแก่นธรรมมานาน เห็นเขียนมาให้อ่านในเรื่องของกรรม แล้วได้ตามไปอ่านหัวข้อกระทู้เรื่องการแก้กรรม...แก้ได้จริงหรือในเว็บธรรมะสาธุ ก็ได้แง่คิดดีๆมาก อ่านแล้วรู้สึกเห็นภาพที่มาที่ไปของตัวเราตัวเขาและอื่นๆขึ้นอีกเยอะ
สิ่งที่เคยสงสัยมาในอดีตก็รู้สึกบางเบา นี่กระมังที่เรียกว่าอวิชชาที่แปลว่าความมืดบอด ความโง่หรือความไม่รู้ที่ปกคลุม
ขอขอบคุณนักเขียนทุกท่านที่ช่วยจุดเทียนให้แสงสว่างในจิตใจ อย่างน้อยก็สว่างเย็นนะคะ แล้วรู้ว่าตัวเองไม่ได้ล่องลอยเหมือนสัมภเวสีหรือจิตหรือวิญญาณที่หาที่เกิดยังไม่ได้ รู้ว่าเรายังมีความหวังในตัวของเราเองได้ รู้ว่าเราต้องพึ่งพาตนเองเท่านั้นในยามจำเป็น รู้ว่าเราต้องอาศัยกันอยู่ รู้ว่าเราต้องแบ่งปัน รู้ว่าเราต้องสงบจิต รู้วาเราต้องสงบกิเลส
หากเป็นไปได้ต้องละหนทางแห่งกิเลสทั้งหลาย จึงจะเห็นแสงสว่างที่แท้จริง จึงจะสงบร่มเย็นที่แท้จริง ที่เป็นความสงบและเกิดความสุขจากภายใน และที่สำคัญต้องรู้จักพออย่างเข้าถึง ไม่ใช่แค่เข้าใจ
หากรู้จักพอในระดับนั้นแล้ว เราจะเข้าถึงคำว่าสันโดษหรือพอใจในสิ่งที่เรามี และพอใจในสิ่งที่เราเป็น ไม่อยากได้หรืออิจฉาใครที่เขามีเขาเป็นอะไรที่ดีกว่า หากใจเราดีพอแล้ว สื่งที่ตามมาอย่างน้อยเราก็ทุกข์ลดลง
มาวันนี้มีปัญากับน้ำท่วมกับเขาเหมือนกัน แต่ไม่ได้อยากทันสมัยเหมือนใครๆนะคะ แต่มันมาเองมากับแรงน้ำที่เราเห็นกันมาหลายเดือน เพื่อนๆหลายเคยบอกว่าเห็นน้ำเห็นข่าวแล้วจะ อ๊วกเพราะเครียด
ตอนแรกผู้เขียนก็มีอาการเหมือนเพื่อนๆคือเครียด แต่พอได้อ่านตามหาแก่นธรรมมาหลายตอนก็เลยเข้าใจตามคำสอนของท่านว.วชิรเมธีที่ว่าปล่อยไม่ลง ปลงไม่ได้ เย็นไม่เป็น เท่ากับตายผ่อนส่ง
นอกจากนี้ยังมีคำสอนดีๆอีกมากมายที่ท่านผู้เขียนยกคำสอนของครูบาอาจารย์มาให้อ่านกัน พออ่านมานานก็เลยอยากเขียนมาบ้างค่ะตามที่ท่านสะมะชัยโยชวน
จากที่อ่านตามหาแก่นธรรมก็เชื่อว่ากรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายเป็นจริงทุกประการว่า กรรมเป็นของตัวเอง กรรมที่ทำดีก็ได้ดี กรรมที่ทำชั่วก็ได้ชั่ว(กุศลและอกุศลกรรม) กรรมแสดงผลเป็นวิบากกรรมตามมาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
นอกจากนี้ยังมีกรรมหนัก กรรมเบา กรรมก่อนตายหรืออสัณกรรมที่จะส่งผลมากมายที่ครูบาอาจารย์กำชับกันนักหนาว่าสำคัญเพราะจะส่งผลไปถึงชาติหน้าให้ไปเกิดเป็นอะไร หลุดพ้นได้หรือไม่
ครูบาอาจารย์บางท่านยังสอนต่อไปอีกว่าที่ท่านฝึกกันมาทั้งชีวิตก็เอามาใช้ก่อนตายในช่วงเวลาอันสั้นแค่ช้างสะบัดหูงูแลบลิ้นนี่แหละ แม้กระทั่งการบรรลุธรรม
ดังเช่นหลวงปู่พุทธทาส หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ท่านพร้อมแม้กระทั่งนาทีสุดท้ายเป็นตัวอย่างให้พุทธบริษัทได้ตระหนักรู้
อนันตริยกรรมคือกรรมหนักที่ทำแล้วไม่สามารถบรรลุธรรมไม่ได้เลย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ทำร้ายให้พระพุทธองค์ถึงขั้นห้อพระโลหิต ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ทำให้พระสงฆ์แตกแยก( รายละเอียดตามวิกิพีเดียด้านล่าง )
นอกจากนี้แล้วยังมีกรรมอื่นๆอีกหลายอย่างที่สามารถหาอ่านได้จากตามหาแก่นธรรมหรือจากเว็บธรรมสาธุที่กล่าวถึงในเรื่องนี้
กรรมนั้นเป็นคำกลางๆที่แปลว่าการกระทำ ถ้ากระทำกรรมชั่วก็มาจากเจตนาที่คิดชั่ว ผลของกรรมที่ตามติดไป ก็ส่งผลให้เป็นทุกข์ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติ ส่วนกรรมดีก็มาจากเจตนาที่คิดดี ผลของกรรมดีที่ตามติดไปก็ส่งผลดีให้เป็นสุขเช่นกัน
ส่วนกรรมที่ไม่มีพิษมีภัยกับผู้กระทำเพราะขาดบุพพเจตนาหรือไม่ได้ตั้งใจ แม้จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่นโยนหินใส่หัวคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้ว่ามีคนอยู่ ไม่ได้ติดตามผล แต่ทำให้เขาหัวแตกเป็นต้น แต่ควรต้องระมัดระวังและพิจารณาว่าในขณะโยนก้อนหินจิตเป็นกุศลหรืออกุศลด้วย
สำหรับการกระทำของพระอรหันต์ท่านไม่มีกุศลจิตหรืออกุศลจิต ท่านมีแต่กริยาจิตดวงเดียว การกระทำของท่านจึงไม่ได้เป็นกรรมหรือมีวิบากที่ส่งผลให้รับต่อไปในภายหลังซึ่งเรียกว่าอัพยากฤต
โดยสามัญบุคคลทั้งหลายย่อมทำกรรมด้วยจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือจะเรียกว่ากุศลเจตนาและอกุศลเจตานา เจตนานั้นย่อมเป็นเหตุให้กรรมทั้งหลายไม่ว่าดีหรือชั่วสมบูรณ์
ในสภาวะภัยพิบัติ ผู้ประสบภัยไม่ว่าใครก็ตามย่อมต้องเคยก่อกรรมโดยเจตนาร่วมกัน จึงส่งผลหรือวิบากกรรมนั้นมาให้หรือถึงพร้อมกันในขณะนี้
การเบียดเบียนกันในขณะนี้ก็เป็นกรรมใหม่ที่จะส่งผลให้ผู้ก่อกกรมในอนาคตไม่ว่าจะเบียดเบียนในรูปแบบใด อย่างเช่นในญี่ปุ่นหลังสึนามิ สินค้ารารถูกลง เพราะผู้ค้ามีกุศลเจตนา ผิดกับในเมืองไทย แม้อยู่ในภัยพิบัติ ราคาสินค้ายังแพงขึ้นมาหลายเท่าตัว แม้ผู้ค้าจะหาซื้อสินค้ามาในราคาต่ำกว่ามาก ที่เรียกว่าเป็นการค้ากำไรเกินควรอันเกิดจากกอกุศลมูลคือ ความโลภ โกรธ หลง หรือความอยากได้ในทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึง ความโกรธที่เกิดมาจากความกลัวที่ได้ราคาน้อยไป และความหลงในทรัพย์ที่เกิดจากการเบียดเบียน อบายหรือที่หาความเจริญไม่ได้จึงเป็นภพภูมิของเขาเหล่านั้น
การกักตุนสินค้าเพื่อเบียดเบียนก็เป็นอกุศลกรรม การกักน้ำและการปล่อยน้ำโดยอกุศลเจตนาก็ย่อมเป็นอกุศลกรรม เพื่อให้ตนได้ประโยชน์และเบียดเบียนผู้อื่น
อกุศลกรรมที่ทำไว้ต่อเนื่องโดยเจตนาอยู่เรื่อยๆหรือเป็นประจำ แม้กระทั่งกรรมที่ทำ แต่เพียงครั้งเดียว แต่การกระทำนั้นกินใจหรือประทับใจอย่างรุนแรง จึงทำให้นึกถึงอยู่บ่อยๆและเมื่อนึกถึงก็ประหนึ่งหรือเสมือนทำลงไปก็เรียกว่าเป็นอาจิณณกรรม
อาจิณณกรรมนี้ก็จะส่งผลให้บ่อยๆหากเป็นกุศลกรรมก็จะสงบร่มเย็น หากเป็นอกุศลกรรมย่อมร้อนรุ่มแผดเผาใจอยู่เป็นนิจหรือเป็นประจำ ในภาษาของผู้เขียนเรียกว่าอั้นกรรม ทำเรื่อยๆทำบ่อยๆ แล้วกรรมนั้นก็สะสมส่งผลให้ผู้ก่ออยู่บ่อยๆ เหมือนน้ำที่กักเอาไว้บ่อยๆนานๆ เมื่อหลุดออกมาย่อมผลรุนแรงและต่อเนื่องเพราะสะสมกำลังมานาน
ท่านทั้งหลายที่ประสบภัยพิบิหากคิดว่าเราได้ใช้กรรมเก่าไปแล้วไม่ก่ออกุศลกรรมใหม่อีก ทำจิตให้เป็นกุศลหรือมีแต่เจตนาดี จนใจสงบละความชั่วทั้งหลาย ประพฤติดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ้วได้ ท่านย่อมทุเลาแก่ทุกข์ทั้งหลายจนถึงหายไปหมด เพราะเราล้วนแต่เห็นทุกข์เป็นผล และเห็นเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งหลายดังเช่นอกุศลกรรมหรือกรรมชั่วทั้งหลาย ใจย่อมอยู่เป็นสุข
เพื่อเปิดประตูสู่หนทางสู่ความสะอาด สงบ สว่าง ตื่นรู้ที่เรียกว่าหนทางสู่พุทธธรรม ส่วนผู้ก่ออกุศลกรรมเป็นอาจิณย่อมส่งผลให้เกิดอสัณกรรม มีนรก เปตร อสูรกาย เดรัจฉานเป็นที่หมาย
มาถึงบรรทัดนี้แล้วรู้สึกสบายใจแม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอกลวง ถูกโกหก ถูกรังแก ถูกภัยพิบัติ เมื่อเข้าใจในกรรมแล้ว ก่อแล้วชดใช้แล้วไม่ทำอีกในกรรมชั่วนานาประการ
เห็นปัจจุบันเป็นโอกาสในการฝึกใจใ้แข็งแรง ให้สงบ ใ้ห้สะอาด และให้สว่าง
นี่แหละตรงกับคำพูดที่ชาวโลกชอบพูดกันว่าพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรม ไม่ต้องอั้นกรรมอีก อิทธิบาทสี่คือความพอใจในธรรม ความมุ่งมั่นในธรรม ความเพียรในธรรม และความใคร่ครวญธรรมทั้งหลายก็จะสามัคคีเกิดขึ้นเป็นหนทางสู่พระนิพพานโดยเริ่มต้นแห่งโสดามรรค โสดาผล ไหนเลยไม่น่ายินดีคะ เอวัง

ธรรมะสวัสดี

หนูเอง

หมายเหตุของผู้เขียน 1.ข้อความส่วนได้มาจากถามตอบสภาพของจิตกับกรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
2. จากวิกิพีเดีย
2.1 กฎแห่งกรรม


กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน เช่น ทำดี ย่อมได้รับผลดี ทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เป็นต้น
กรรมใดใครก่อ ตนเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของสิ่งที่กระทำ
กรรมในปัจจุบันเป็นผลมาจากการกระทำในอดีต และกรรมที่ก่อไว้ในปัจจุบันเป็นเหตุที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต
กรรมดี-กรรมชั่ว ลบล้างซึ่งกันและกันไม่ได้
ถึงแม้ว่าการทำกรรมดีจะลบล้างกรรมชั่วเก่าที่มีอยู่เดิมไม่ได้ แต่มีส่วนช่วยให้ผลจากกรรมชั่วที่มีอยู่เดิมผ่อนลง คือ การผ่อนหนักให้เป็นเบา (ข้อนี้ อุปมาได้กับ การที่เรามีน้ำขุ่นข้นอยู่แก้วหนึ่ง หากเติมน้ำบริสุทธิ์ลงไปแล้ว มิสามารถทำให้น้ำขุ่นกลับบริสุทธิ์ได้ แต่ทำให้น้ำขุ่นข้นนั้นกลับเจือจางลงและใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม)
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ [2]
2.2 อนันตริยกรรม
อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมหนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ
มาตุฆาต - ฆ่ามารดา
ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา
อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์
โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อ ขึ้นไป เช่น พระเทวทัตได้ทำร้ายพระพุทธองค์ ในสมัยพุทธกาล
สังฆเภท - ยังสงฆ์ให้แตกกัน ทำลายสงฆ์
อนันตริยกรรม 4 ประการแรก คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต และโลหิตตุปบาท จัดเป็นสาธารณอนันตริยกรรม คือ เป็นอนันตริยกรรมที่ทั่วไปแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งหลาย หมายความว่า บรรพชิตก็ทำได้ คฤหัสถ์ก็ทำได้
ส่วนสังฆเภท เป็นอสาธารณอนันตริยกรรม คือ เป็นอนันตริยกรรมที่ไม่ทั่วไป หมายความว่า ภิกษุคือบรรพชิตเท่านั้น จึงจักกระทำสังฆเภทอนันตริยกรรม นี้ได้
ในส่วนของโทษหนักเบา และลำดับการให้ผลก่อนหลัง ของอนันตริยกรรม เรียงลำดับจากแรงที่สุดลงไป ได้ดังนี้
สังฆเภทอนันตริยกรรม
โลหิตุปบาทอนันตริยกรรม
อรหันตฆาตอนันตริยกรรม
มาตุฆาตปิตุฆาตอนันตริยกรรม

ในสภาวเช่นนี้ คุณหนูเองยกข้อธรรมและข้อกรรมมาให้อ่านกัน รู้สึกดีเลยจึงผ่านให้ชาวชุมชนแก่นธรรม ชุมชนที่แบ่งปัน ชุมชนที่ไม่แก่งแย่ง ชุมชนที่ไม่มีอะไรจะต่อรองได้อ่านกัน เพราะเราเชื่อว่าไม่อั้นกรรม ขอบคุณคุณหนูเล็ก ว่างๆส่งมาอีกนะครับ

สะมะชัยโย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น