...+

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"น้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง" สูตรรักษาน้ำกัดเท้า สูตรจากเภสัชฯ มศว

เภสัชศาสตร์ มศว ร่วมแรงร่วมใจ โชว์สูตรยาทากันยุง มีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้อีกทาง ทั้งผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า และน้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม



คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมแรงร่วมใจผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า และน้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการนำของ ดร.ลลนา คงคา เนรมิตร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มศว และผู้ดูแลรับผิดชอบการผลิตผลิตภัณฑ์เวชกรรม ขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า

ดร.ลลนา คงคา เนรมิตร เล่าว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังส่งผลกระทบ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆอยู่ในขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาโดยเฉพาะปัญหาโรคที่มากับน้ำ อาทิ โรคน้ำกัดเท้า ทั้งแก่ผู้ประสบภัย ประชาชนทั่วไป และทหารที่ต้องลุยน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเหน็ดเหนื่อยในแต่ละวัน

"ทางกลุ่มคณาจารย์ของทางคณะเภสัชศาสตร์จึงได้ริเริ่มรับบริจาคเงิน รวมทั้งเงินบริจาคที่ได้รับจากบุคลากรเจ้าหน้าที่ที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วในต่างจังหวัด อีกทั้งทางคณะเภสัชศาสตร์ซึ่งมีองค์ความรู้ทางด้านเภสัชกรรมอยู่แล้ว มีสูตรยาที่สามารถผลิตตัวขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้าได้ เพราะเห็นว่าในช่วงนั้นกำลังขาดแคลน ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มศว จึงร่วมแรงร่วมใจผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้าเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้น"



อาจารย์ประจำคณะเภสัชฯ เล่าต่อว่า ตอนแรกได้ผลิตแล้วแจกจ่ายให้แก่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของ มศว ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือผลิตแล้วแจกจ่ายให้แก่สาธารณสุข องครักษ์ จ.นครนายก ตลอดจนบริจาคให้กับชมรมศูนย์อาสาจันทร์เสี้ยวการแพทย์ภาคกลาง ซึ่งนิสิตจิตอาสาเป็นสมาชิกชมรมนั้น และเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้กับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมีความต้องการมาอยู่เรื่อยๆ จากการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก

"เราแจกจ่ายฟรี เพราะผลิตขี้ผึ้งจากเงินบริจาคที่ได้รับมาจากคนทั่วไป ทั้งจากภายในและคนภายนอก ประกอบกับว่าหากจะจำหน่ายขี้ผึ้งชนิดนี้หรือยาอะไรก็แล้วแต่ ต้องได้รับการจดทะเบียนยา ต้องขึ้นทะเบียนยา ซึ่งก็ค่อนข้างยุ่งยาก และไม่ทันต่อสถานการณ์ขณะนี้ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ผลิตยาน้ำกัดเท้าเพื่อช่วยบรรเทารักษาโรคที่มากับน้ำ ซึ่งสามารถทำได้ เพราะการผลิตขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้านี้ก็เป็นการผลิตเฉพาะกรณี จะไม่มีการจำหน่าย"

ขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ มศว ได้ผลิตยาทากันยุง และน้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ด้วย ซึ่งในส่วนผสมของยาทากันยุงนั้นได้ใส่น้ำมันสนลงไปด้วย มีฤทธิ์ช่วยเรื่องการรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้อีกทางหนึ่ง นอกจากใช้ทากันยุงแล้วยังใช้ทารักษาอาการน้ำกัดเท้าได้ด้วย


**สำหรับผู้ที่สนใจต้องการบริจาคหรือ ขอรับผลิตยาทากันยุง และน้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง จากคณะเภสัชศาสตร์ มศว สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 085-089-9168

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น