...+

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กินเจได้บุญจริงหรือ?

สวัสดีครับ…ญาติธรรมทั้งหลาย ช่วงนี้ผมไม่ค่อยได้ update เวบไซต์เท่าที่ควร เพราะมีภารกิจหลายอย่าง ประกอบกับเรื่องสำคัญที่อยากเขียนก็ได้เขียนไปเกือบหมดแล้ว ยังเหลืออีกเรื่องคือ มาร 5 ยังไม่ได้เรียบเรียงต่อเลย ช่วงนี้ว่างๆ ก็เลยหยิบเอาเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คือ เรื่องการกินอาหาร มาเล่าสู่กันฟัง…

จริง ๆ เรื่องการกิน ผมเคยคิดว่าจะเขียนนานแล้ว แต่เนื่องจากทุุกวันนี้ หลาย ๆ ท่าน ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก
และผมเคยอ่านกระทู้เรื่องนี้ในเวบต่าง ๆ ก็มีการถกเถียงที่รุนแรง ผมก็เลย…ไม่อยากมีปัญหา (เงียบๆ ไว้ดีกว่า)

แต่มาคิดดูอีกที เรื่องการกิน ก็ยังเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดอยู่ เลยขอนำบทสรุปของผม เกี่ยวกับการกินอาหารมาร่วมแชร์ประสบการณ์กับทุก ๆ ท่านครับ (ผิดถูกโปรดใช้วิจารณญาณเองนะครับ)

.. เริ่มแรกทีเดียว เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ผมรู้จักกับพี่คนหนึ่ง มาชวนกินเจ ตอนนั้นท่านบอกว่า กินเจแล้วดีมาก ได้บุญ แล้วก็
จิตใจดีมาก รู้สึกว่าร่างกาย และจิตใจสะอาด กลิ่นตัวลดลง และพี่แกจะเหม็นคาวพวกที่กินเนื้อสัตว์
เพราะจะมีกลิ่นตัวเหม็นคาวเลือด (ผมฟังแล้วสะดุ้ง เพราะกลัวแกเหม็นกลิ่นตัวผม เนื่องจากผมยังเป็นคนกินเนื้อสัตว์อยู่)

ตอนนั้น ผมได้หนังสือหลักธรรม จากพี่คนนี้มาอ่านหลายเล่ม (หนังสือแนวอนุตรธรรม)

เนื้อหาส่วนใหญ่พอจะสรุปได้คือ การกินสัตว์นั้นบาป สัตว์เหล่านี้จะโกรธแค้นเรา และจองเวร เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา
คอยตามทวงแค้น เพราะการกินเนื้อ เป็นการส่งเสริมให้มีการฆ่า ถ้าไม่มีคนกินหรือคนซื้อ ก็ไม่มีคนฆ่า….

ผมเองก็ลองไปกินเจมั่ง แต่ได้แค่ไม่กี่วัน เนื่องจากโดยกมลสันดานแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเท่าไร
สักแต่เพียงว่า มีอะไรก็กิน เพราะตอนเป็นเด็ก พ่อจะสอนผมเสมอว่า
กินอะไรก็ได้ กินพอไม่ให้ตาย กินพอบำรุงธาตุขันธ์ (ซึ่งหลักการนี้มันฝังลึกในหัวผมแก้ไม่หาย)

ผมก็เลยล้มเหลวกับการกินเจ เพราะหากินยาก ต้องใช้ความพยายามในการกิน
(หมายถึงว่า มันเพิ่มความยุ่งยากให้ักับชีวิตผมมากขึ้น เพราะเวลาไปงานสังคม หรือ ไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ
ก็ลำบากต้องสั่งอาหารพิเศษ ยุ่งยากคนอื่นอีก เพื่อนที่ไปด้วยก็ลำบากใจ และโดยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่ชอบทำอาหารอยู่แล้ว
ถ้าผมจะกินเจ ผมก็ต้องทำอาหารกินเอง และอาหารที่ผมทำกินประจำ คือ
ต้มมาม่า และรสที่ผมกินประจำคือ ยำยำหมูสับ ผมเคยซื้อมาม่าเจมากิน ปรากฏว่า ไม่ไหวจริงๆ)

สุดท้าย ผมก็กลับมากินมั่วเหมือนเดิม… แต่สิ่งที่ค้างคาใจผมก็คือ

การกินเจได้บุญจริงหรือ ? ได้บุญยังไง ?

แล้วการที่เรากินเนื้อสัตว์ โดยที่เราไม่ได้ฆ่าเอง หรือไม่ได้สั่งฆ่า นี่มันบาปจริงหรือ ?
วิญญาณสัตว์ที่เรากินเขาอาฆาตเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราจริงหรือ ?

งั้นผมว่า เราลองมาศึกษาและวิเคราะห์ร่วมกันดีกว่าครับว่า จริง ๆ แล้วคำตอบคืออะไร ?

- ก่อนอื่นเราต้องมาดูก่อนว่า ตำนานการกินเจ มันเกิดขึ้นได้ยังไง
ลองอ่านจาก link นี้ครับ… ตำนานการกินเจ - เอาล่ะครับ คงรู้ว่า การกินเจมีที่มาอย่างไร

แล้วต่อมา ก็มาดูอานิสงส์ของการกินเจ ดูนะครับ จาก link ด้านล่างนี้ครับ…
อานิสงส์การไม่กินเนื้อสัตว์ (อานิสงส์นี้นำมาจากพระไตรปิฎกของนิกายมหายานนะครับ ไม่ใช่ของนิกายเถรวาทของไทยเรา)

- ต่อมา ในฐานะชาวพุทธ เราควรดูว่า พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องอาหารว่าอย่างไรบ้าง อ่านได้ที่ link ด้านล่างครับ
พระสูตร “ปุตตมังสสูตร” ว่าด้วยเรื่องอาหาร 4 อย่าง - พุทธพจน์ เรื่องการกิน

“….. ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ

ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ

เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ

ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล…..”


ชีวกสูตร ม. ม. (๕๗)

1. เนื้อที่ตนเห็น หมายถึง เห็นว่า สัตว์นี้เขาฆ่ามาให้เรา เช่น
เดินผ่านเห็นเขากำลังฆ่าไก่อยู่ สักครู่ปรากฎว่า
เขาคนนั้นเอาแกงไก่มาให้
2. เนื้อที่ตนได้ยิน หมายถึง ได้ยินว่า เขาฆ่ามาให้เรา เช่น
ตอนเย็นเจอกัน เขาบอกว่า พรุ่งนี้จะฆ่าไก่มาให้กิน วันต่อมา เขาคนนั้น ก็มีแกงไก่นำมาให้
3. เนื้อที่ตนรังเกียจ หมายถึงว่า ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินมาก่อนว่า เขาจะฆ่ามาเพื่อเรา แต่พอเห็นอาหารที่เขานำมาให้
ก็นึกระแวงสงสัยว่า เขาฆ่ามาเพื่อเราโดยเฉพาะเจาะจง..

- เนื้อ 10 อย่างที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระฉันและที่มา
พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้
พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อช้าง
ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก สมัยอัตคัตอาหาร ประชาชน
พากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง
ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉัน
เนื้อช้างเล่า เพราะช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะ
เหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
ห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และ
ถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้ฉันเนื้อม้าเล่า เพราะม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัว
ทรงทราบ คงไม่เลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน
เนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวก
ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง
ภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้องู
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุ
ผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า เพราะงูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง แม้พระยานาค
ชื่อสุปัสสะก็เข้าไปในพุทธสำนักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บรรดาที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่
มันคงเบียดเบียนพวกภิกษุจำนวนน้อยบ้าง ของประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระ-
*คุณเจ้าทั้งหลายโปรดกรุณาอย่าฉันเนื้องู ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระยานาคสุปัสสะ
เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นพระยานาคสุปัสสะอันพระผู้มีพระภาค
ทรงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำ
ประทักษิณกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์แล้วบริโภคเนื้อราชสีห์ และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ฝูงราชสีห์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อ
ราชสีห์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัย ต่อมา พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่งและถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้าม
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัย ต่อมา พวกพรานฆ่าเสือเหลือง แล้วบริโภคเนื้อเสือเหลืองและถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือเหลืองฆ่าพวกภิกษุเสีย
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
พวกภิกษุฉันหมีแล้วอยู่ในป่าเหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่น
เนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ
ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

- ในสมัยพระพุทธกาล พระเทวทัตเคยทูล ขอกับพระพุทธองค์ให้พระสงฆ์งดฉันเนื้อ
แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต


คำสอนหลวงพ่อฤาษีฯ เรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้ถาม : ” เรื่องการถวายอาหารพระนะครับหลวงพ่อ เวลาอุบาสิกานำอาหารไปถวายพระ แล้วก็เอาอาหารพวกเนื้อสัตว์ไปถวาย จะบาปไหมครับ…? ”
หลวงพ่อ : ” ถามไม่ละเอียดนี่ อาตมาตอบไม่บาปเลยก็ได้ คือ เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าแล้วและไปซื้อมา เราไปบังคับให้เขาฆ่าเมื่อไรละ ใช่ไหม…? ”
ผู้ถาม : ” ถ้าเราไม่กินเขาก็ไม่ฆ่า ”
หลวงพ่อ : ” ถ้าเขาไม่ฆ่าเราก็ไม่ซื้อ เราไม่ซื้อเขาก็ฆ่า เราไม่ซื้อคนอื่นซื้อ เขาก็ฆ่า ถ้าเราสั่งให้เขาฆ่าซิ “วันนี้ไก่ ๓ ตัวนะ” “วันนี้ขอหมูให้ฉัน ๑ ขานะ” “พรุ่งนี้จะแต่งลูกสาว เอาวัว ๓ ตัว หมู๓ ตัวนะ” อย่างนี้บาป ตั้งแต่เริ่มสั่ง พระยายมบันทึกแล้ว บันทึกตั้งแต่สั่งแล้ว ถ้าตายไปก่อน รับวัวรับหมูนะ ลงเลย ”
ผู้ถาม : ” ก็หมายความว่าบาปเฉพาะ คนสั่งฆ่า กับ คนฆ่า…! ”
หลวงพ่อ : ” คนไหนฆ่าสัตว์คนนั้นก็บาป คนไหนสั่งคนนั้นก็บาป เราซื้อที่เขาฆ่ามาขาย กินเท่าไรเราก็ไม่บาป เพราะไม่เป็นบาปพระพุทธเจ้าจึงไม่ห้าม ที่ไม่ห้ามเพราะว่าเขาฆ่าเป็นปกติอยู่แล้ว
คำว่า บาป นี้แปลว่า ชั่ว บุญ แปลว่า ดี ทำชั่วแปลว่าบาป ทำดีเรียกว่าบุญ ทีนี้ชีวิตเขามีอยู่เราไปฆ่าเขา ชีวิตของเรา เราก็ไม่ต้องการให้คนอื่นเขาฆ่า ถ้าเราไปฆ่าเขาเราก็เป็นคนชั่ว ฉะนั้นถ้าเขาไปฆ่ามาแล้ว เราไปซื้อกิน อันนี้ไม่ชั่วเพราะไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า แต่ว่าถ้าเอาเนื้อมาแล้วบอก “เฮ้ย พรุ่งนี้เพิ่มหน่อยซีเว้ย” ทีนี้เอาแน่ ต้องว่ากันอย่างนี้นะ ”
ผู้ถาม : ” มีคนเขาบอกว่า การฆ่าสัตว์ คนฆ่าไม่บาปเท่าไรแต่คนกินบาป และเขายังบอกอีกว่า ถ้าไม่กินแล้วใครจะฆ่า ”
หลวงพ่อ : ” คิดเอาเองมากกว่า คนกินเขาไม่ได้สั่งให้ฆ่า นี่เขาฆ่าขาย ถ้ามีขายเขาก็ซื้อกิน จะไปโทษคนกินเขาไม่ได้หรอก ถ้าคนกินสั่งให้เขาฆ่าอันนี้จึงบาป ไม่งั้นพระพุทธเจ้าคงจะห้ามพระฉันเนึ้อสัตว์ นี่เขาว่ากันเอาเอง ไม่ถูกหลักเกณฑ์อะไรหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราถือเจตนาเป็นตัวกรรม”
เจตนา แปลว่า ตั้งใจ ถ้าตั้งใจคิดจะฆ่าแล้วลงมือฆ่าอันนี้บาปแน่ ”
ผู้ถาม : ” ถ้ารับประทาน อาหารมังสวิรัติ จะตัดกิเลสได้ หรือเปล่าคะ…? ”
หลวงพ่อ : ” ถ้าตัดได้จริง พระพุทธเจ้าคงยอมตามที่พระเทวทัตขอพรแล้ว ฉันลองมา ๓ ปี เมื่อบวชใหม่ ๆ ฉันไม่กินเนื้อ
สัตว์ด้วย แล้วฉันหนเดียวด้วย และฉันไม่บอกชาวบ้านด้วย ถ้าบอก ชาวบ้านก็ต้องทำอาหารลำบาก ก็ไปบิณฑบาตธรรมดา แต่เนื้อสัตว์เราไม่กิน บางวันไม่มีอะไรมาให้เลย ก็กินเกลือกับหัวหอมกินผักเป็นอาหาร ลองมา ๓ ปี ไม่เห็นกิเลสมันลดเลย แต่ว่าถ้าไม่กินได้นี่ดีนะ ฉันสรรเสริญ ถ้าเป็นฆราวาสนะ เพราะว่าจะได้ไม่กังวลเรื่องเนื้อสัตว์ จิตของเราก็ตัดบาปไปจุดหนึ่ง ใช่ไหม …
ใน ปฐมบัญญัติของสิกขาบท สังฆาทิเสส ข้อที่ ๑๐ มีเรื่องเล่าว่า พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ โอ้โฮ … นี่อยู่อเวจีทั้งคู่ ใครไปอเวจี ไปมอง ๆ ดูนะ พระเทวทัตยีนกางแขนกางขา โกกาลิกะนั่งชันเข่า หอกเสียบสบาย ๆ แล้วก็พระกฏโมรกติสสกสะ พระที่เป็นบุตรของนางขัณฑเทวี และ พระสมุทททัต ชักชวนให้พระสงฆ์แตกกัน ใครบ้างล่ะ … พระเทวทัต เป็นหัวหน้าโจก โกกาลิกะ รองประธาน พระกฏโมรกติสสกสะ และ พระสมุทททัตชักชวนให้สงฆ์แตกกัน พร้อมทั้งบอกแผนการที่จะเสนอแผนการให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น มี ๕ ข้อ ซึ่งเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไม่อนุญาต และตนจะนำข้อเสนอขึ้นประกาศแก่มหาชน
ข้อเสนอ ๕ ข้อนั้น คือ อันนี้ฟังให้ดีนะ ข้อนี้ดีมาก เวลานี้คนที่ปฎิบัติผิดมีเยอะ ไปหลงผิดว่าไอ้ที่เราทำนี่ดีนี่หว่า ข้อเสนอของพระเทวทัต ๕ ข้อ เวลานี้พระสาวกของพระเทวทัตก็มีเยอะเหมือนกัน ถือว่า ๕ ข้อ ที่พระเทวทัตขออนุญาตนี้ นึกว่าเป็นของดีกันนัก สงสารชาวบ้าน ข้อเสนอของเทวทัต ๕ ข้อ คือ
๑. ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้าน ต้องมีโทษ หมายความว่า พระทุกองค์ที่บวชแล้ว ห้ามเข้าหมู่บ้านโดยเด็ดขาด ต้องอยู่เฉพาะในป่า ห้ามโผล่หน้าเข้ามาในบ้าน
๒. ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต เป็นวัตร หมายถึง ปฎิบัติ ต้องบิณฑบาตตลอดชีวิต ผู้ใดรับนิมนต์ไปฉันตามบ้านต้องมีโทษ นี้เป็นความต้องการของพระเทวทัต รู้แล้วว่าทำไม่ได้ แต่แกล้งขอ
๓. ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล หมายความว่าผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามที่ต่าง ๆ บ้าง ตามที่เขาพันผีไว้บ้าง นำมาซัก นำมาย้อม มาปะติดปะต่อเป็นจีวรจนตลอดชีวิต ผู้ใดรับจีวรที่ชาวบ้านถวายต้องมีโทษ
๔. ภิกษุพึงอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ผู้ใดเข้าที่มุงที่บังที่มีหลังคาต้องมีโทษ
๕. ภิกษุไม่พึงฉันเนึ้อสัตว์ ผู้ใดฉันต้องมีโทษ
เห็นไหม … การขอนี่เขาขอเพื่อเป็นการลบล้างไม่ใช่ทำได้ ภิกษุเหล่านั้นเห็นมีทางชนะร่วมด้วยว่า พระพุทธเจ้าแพ้แหง ๆ พระเทวทัตต้องชนะการเสนอญัตติแบบนี้ พระเทวทัตจึงได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลข้อเสนอ ๕ ประการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อน เทวทัต ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ป่า ก็จงอยู่ป่า
ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ในละแวกบ้าน ก็จงอยู่ในละแวกบ้าน
ผู้ใดปรารถนาจะเที่ยวบิณฑบาต ก็จงเที่ยวบิณฑบาต
ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกุล ก็จงใช้ผ้าบังสุกุล
ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าไตวจีวรจากฆราวาสถวาย ก็จงรับได้
เราอนุญูาตที่นอนที่นั่ง ณ โคนไม้ตลอด ๘ เดือน หมายความว่าที่ไม่ใช่ฤดูฝน เป็นฤดูหนาว หรือฤดูแล้ง ถ้าจะไปยังงั้นก็ได้
เราอนุญาตเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดย ๓ ส่วน คือ
๑. ไม่ได้เห็นเขาฆ่า
๒. ไม่ได้ยินเขาฆ่าเพื่อถวายพระ
๓. ไม่ได้รังเกียจคิดว่า เนื้อสัตว์นึ้น่ากลัวเขาฆ่าเพื่อเรา เช่น เขาฆ่าเจาะจงเพื่อจะให้ภิกษุบริโภค
พระเทวทัตดีใจที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ยอมรับสมเจตนาจึงได้เที่ยวประกาศให้ เห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ยอมอนุญาตข้อเสนอที่ดีของตน ทำให้คนที่มีปัญญาทราม คนไร้ปัญญูาบางคนเห็นว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก
โอ้โฮ … ดีจริง ๆ นะ พระผู้มีพระภาคเจ้ามักมากแล้วใครจะมักน้อยอีก แต่คนที่เข้าใจเรื่องดี กลับติเตียนพระเทวทัตเอาแล้วซิ … นี่พระไม่ดีทำให้ชาวบ้านแตกกัน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้เรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนพระเทวทัตเป็นสัตย์แล้ว จึงได้ทรงติเตียนและทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
“ห้ามภิกษุพากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศเป็นการสงฆ์เพื่อเลิกข้อประพฤตินั้นเสีย ถ้าสวดถึง ๓ วาระยังไม่เลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส”
จำไว้ให้ดีนะ นี่บท ๕ ข้อนี้ ทวนเสียอีกทีนะ
๑. ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้านต้องมีโทษใครเขาจะทำ
๒. ภิกษุพึงถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต ถูกรับนิมนต์ฉันตามบ้านต้องมีโทษ
๓. ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเศษผ้าที่เขากองทิ้งไว้ หรือผ้าห่อผีห่อคนตายตลอดชีวิต ถ้ารับผ้าที่เขาถวายต้องมีโทษ
๔. ภิกษุต้องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ตลอดฤดูน้ำฤดูฝนไม่รู้ ถ้าเข้าบ้านที่มีหลังคาต้องมีโทษ
๕. ภิกษุไม่ฉันเนื้อสัตว์ ผู้ใดฉันมีโทษ
ทั้ง ๕ ข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตนะ
เมื่อ เห็นคนด้วยเมื่อเจอะพระเขาทำอย่างนี้นะละก็ญาติโยม อย่าถือว่าเขาเป็นคนเคร่งครัดนะ ต้องถือว่าเขาเป็นคนละเมิดพระดำรัสสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แล้วกัน … ”
ผู้ถาม : ” กระผมเป็นฆราวาสกินอาหารมื้อเดียว ทำอย่างนี้โดยตลอด ไม่ทราบว่าจะมีอานิสงส์เป็นไปข้างหน้าอย่างไรครับ … ? ”
หลวงพ่อ : ” อานิสงส์ปัจจุบัน คือ
๑. เปลืองอาหารน้อย เพราะกินเวลาเดียว
๒. มีเวลาทำงานมากขึ้น ข้างหน้าต่อไปอานิสงส์ใหญ่ คือตาย
… ก็แค่กินเวลาเดียวยังวัดฐานะอะไรไม่ได้เลย อย่าไปนึกว่ามันดีเด่นกับใครเขานะ กินเวลาเดียว กิน ๒ เวลา กิน ๓ เวลา มีความหมายเสมอกัน สำคัญว่า “ใจตัดกิเลสได้หรือเปล่า” เขาเอากันตรงนั้น ถ้าถือแค่กินนี่มันเป็นมานะทิฏฐิ เป็นกิเลสหยาบมาก
อีกอย่างหนึ่งตายเร็วมาก อย่าไปนึกว่าดีนะ และถ้านั่งคุยว่านี่ฉันกินเวลาเดียว เสร็จเลย โอ้อวด นี่เป็นมานะกิเลสพังเลย ”
ผู้ถาม : ” อย่างนี้แทนที่จะไปดี ก็เลยไป… ”
หลวงพ่อ : ” ก็ไปดี หมายความว่าก่อนจะไปก็เปลืองน้อย เพราะฉะนั้นอย่าถือเป็นเรื่องสำคัญนะ ไอ้กินเวลาเดียว ๒ เวลา กินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ นี่ อย่านะ อย่าถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ต้องตอบอย่าง หลวงปู่แหวน เคยมีคนมาเล่าให้ฟัง มีคนหนึ่งแกบอกหลวงปู่แหวนว่า
“เวลานี้ผมถือมังสวิรัติครับ ไม่กินเนื้อสัตว์”
หลวงปู่แหวนท่านบอก
“ไอ้วัวควายกินหญู้าตั้งนาน ไม่เห็นเป็นพระอรหันต์ซักตัว”
ตอบนำสมัย ไม่ไช่ทันสมัย ถ้าเรื่องเป็นความจริงตามนั้น แต่ การกินไม่มีความหมายในการปฎิบัติ แต่ปฎิบัติจริง ๆ มันขึ้นอยู่กับ
๑. เข้าถึงสะเก็ดพระศาสนาแล้วหรือยัง
๒. เข้าถึงเปลือก เข้าถึงกระพี้ เข้าถึงแก่นแล้วหรือยัง
เข้าถึงแก่นนี่ยังใช้ไม่ได้นะ ยังเป็นเหยื่อของอบายภูมิ จะต้องเข้าถึงพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ เขาวัดกันตรงนี้ อย่าไปวัตกันแค่กิน ”
ผู้ถาม : ” คนทำบุญให้ทานที่กินเนื้อสัตว์ กับคนทำบุญให้ทานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ อันไหนจะได้อานิสงส์มากกว่ากันคะ … ? ”
หลวงพ่อ : ” อานิสงส์แบบไหนล่ะ อานิสงส์ไปนรก หรืออานิสงส์ไปสวรรค์ อานิสงส์มันมี ๒ อย่าง ทำบาปก็มีอานิสงส์จะลงขุมไหนแน่ ถ้าทำบุญก็มีอานิสงส์ อย่างเลวก็ไปสวรรค์ อย่างกลางไปพรหม อย่างดีที่สุดไปนิพพาน คนที่ไม่ทำบุญเลยแม้ไม่กินเนื้อสัตว์ก็มีสิทธิ์ไปอยู่กับเทวทัตได้ มีไหมคนไม่ทำบุญเลย คนที่ทำบุญไม่กินเนื้อสัตว์ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์นะ พระที่ฉันเนื้อสัตว์ไปนิพพานนับไม่ถ้วน เขาไม่ได้กินสัตว์เป็น เขาซื้อมากินไม่มีบาป ”
ผู้ถาม : ” ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เพราะว่าไปมองเห็นเนื้อสัตว์แล้วมีเลือดมีคาว เลยกินไม่ได้เจ้าค่ะ ”
หลวงพ่อ : ” อย่างนี้ไม่เป็นไร ถ้า เห็นว่าสกปรกเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันนี้เป็นปัจจัยให้บรรลุพระอนาคามีหรือพระ อรหันต์ นี่เป็นพื้นฐานใหญู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นเกิดนิพพิทาญาณแล้ว นิพพิทาญาณเป็นปัจจัยให้ได้พระอนาคามี ต่อไปถ้าเว้นจริงเป็นสังขารุเปกขาญูาณ เป็นอรหันต์ คนที่จะเป็นอรหันต์ได้ ถ้าไม่คล่องในบทนี้เป็นไม่ได้ มี กายคตานุสสติ กับ อสุภกรรมฐานเป็นพื้นฐาน
พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ไม่เสวยและฉันเนื้อสัตว์ เป็นต้น
๑. ต้องไม่ฉันเนื้อสัตว์ ๑๐ ประการ มีเนื้อมนุษย์ เป็นต้น
๒. เนื้อนั้นจะต้องเป็นปวัตตมังสะ คือ ที่เขาขายแกงกินกันตามปกติของเขา โดยพระไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจสงสัยว่าเขาฆ่าเนื้อเจาะจงถวายตน
๓. ก่อนการฉันอาหารเนื้อทุกคราว จะต้องพิจารณาเสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ไห้ฉันเนื้อต้องห้ามข้างต้น ”


- หลวงตา มหาบัว สอนเรื่องการกินเนื้อสัตว์
- หลวงปู่มั่น สอนศิษย์เรื่องการกินมังสวิรัติ

เห็นไหมละครับ ว่าเรื่องการกิน ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาอย่างที่คิดเลย
ทุกท่านอ่านเนื้อหาจาก แหล่งข้อมูลต่าง ๆ แล้วได้ข้อสรุปอย่างไรครับ…

เหมือนที่ผมสรุปได้หรือเปล่า ด้วยปัญญาอันน้อยนิดของผมสรุปได้ว่า…

1. การกินมังสวิรัติ (งดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิดและไข่ที่เป็นตัว) ไม่ได้ทำให้ได้บุญเพิ่ม และการกินเนื้อสัตว์ไม่บาป
(ถ้าเราไม่ได้เป็นคนฆ่า และไม่ได้เป็นคนสั่งฆ่า)

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงอาหารเจ เพราะอาหารเจ ต่างจากมังสวิรัติตรงที่งดเว้นของฉุน 5 ประเภท มีกระเทียมเป็นต้น
และสามารถกินหอยนางรมได้ เพราะกรรมเกิดจากเจตนา เมื่อไม่มีเจตนาในการฆ่าหรือเบียดเบียน ย่อมไม่ถือว่า เป็นกรรม

2. การกินอาหารเจนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้สุขภาพแข็งแรง
(คนจีนเป็นคนรึเริ่มการกินเจเพื่อสุขภาพ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วการแพทย์แผนจีนนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง)

3. การกินเจอย่างถูกวิธีทำให้ได้บุญจริง
แต่คนในปัจจุับันยังไม่เข้าใจการกินเจที่ถูกต้อง เพราะคำว่า เจ หมายถึง อุโบสถ

นั่นก็คือ ถ้าจะให้ถูกต้องคือ ถือศีลกินเจ คือต้องรักษาศีลอุโบสถ หรืออย่างน้อยศีลห้า ก็ยังดี
อย่างนี้ บุญย่อมได้จากการรักษาศีล บุญจากการรักษาศีลนั้น ยิ่งกว่าสร้างวิหารทานเสียอีก

แต่คนปัจจุบัน มักเข้าใจว่า ประเพณีกินเจ คือ กินอาหารเจเท่านั้น
แล้วเข้าใจว่า ตัวเองได้บุญใหญ่ แต่ยังทำผิดศีลเหมือนเดิม

อย่างนี้ กินเจอีกร้อยชาติ ก็ลงนรกร้อยชาติ….

สรุปคือ การถือศีลกินเจ มีประโยชน์มากคือ ได้บุญจากการรักษาศีล และยังมีสุขภาพแข็งแรงจากการกินอาหารเจอีกด้วย

ผมรู้จักพี่อีกคนหนึ่ง กินมังสวิรัติมาได้ 8 – 9 ปีแล้ว เพราะพี่แกตั้งสัจจะว่า จะงดเนื้อสัตว์ให้ได้ และจนทุกวันนี้ก็ยังทำได้
อย่างนี้ ก็เป็นบุญเหมือนกัน เพราะเป็นการรักษาสัจจบารมี (หนึ่งในบารมี 10 ประการ)

4. คนกินเจ กับคนกินเนื้อสัตว์ กิเลสหนาไม่แตกต่างกัน
ดูง่าย ๆ อย่างทุกวันนี้ เวลาไปซื้ออาหารเจ จะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่พยายามทำสี กลิ่น รส ให้เหมือนเนื้อสัตว์
เพื่อปรุงให้อร่อยถูกลิ้น สนองตัณหา คือรสอร่อยของตัวเอง

ในขณะที่พระวัดป่า เวลาท่านจะฉันอาหาร ท่านจะเทอาหารทุก ๆ อย่างรวมกัน เพื่อไม่ให้ยึดติดในรสอาหาร
และให้พิจารณาอาหารก่อนฉันทุกครั้ง จากตัวอย่าง จะเห็นว่า

ฝ่ายที่มีกิเลสน้อยกว่า น่าจะเป็นฝ่ายพระ ที่ท่านฉันเนื้อมากกว่า ใช่มั้ยครับ

ดังนั้น การจะกินอะไร จึงไม่ได้สำคัญเท่าการทำจิตทำใจให้กิเลสเบาบางมากกว่า

อีกอย่างที่ต้องระวังสำหรับผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ กิเลสร้ายที่จะครอบงำจิตใจ คือ

มานะ ความถือตัวถือตนว่า ดีกว่าผู้อื่น ถ้าเกิดคุณกำลังมีความคิดอย่างนี้ว่า

“ฉันนี่แหละ ดีกว่าคนอื่น อย่างน้อยฉันก็มีเมตตา ไม่เหมือนไอ้พวกที่มันยังกินเนื้ออยู่”

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จงดูจิตตัวเองเถิดว่า มานะ มันเป็นอย่างนี้ นี่เอง

5. บางคนแย้งว่า คนที่กินเนื้อ ก็เหมือนฆ่าสัตว์โดยอ้อม
เพราะถ้าไม่มีคนกินหรือคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่ามาขายให้ใคร ข้อนี้ ถ้าทุกคนทั้งโลกทำได้ ก็เห็นจะจริง และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง กระผมคนหนึ่งละที่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะถ้าไม่มีคนฆ่า ผมก็ไม่กินอยู่แล้ว

เมื่อไม่มีเนื้อขาย ไอ้เรื่องจะให้ฆ่าเองไม่มีทางซะล่ะ….. แต่ความจริง ก็คือความจริง
ถึงเราจะไม่กินไม่ซื้อ เขาก็ฆ่าอยู่ดี และตามธรรมชาติแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ มนุษย์ทุกคนจะคิดเช่นนี้

คนเราเกิดมาสร้างบารมีมาไม่เหมือนกัน บางคนฟังธรรมะอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่ได้นำมาสู่ใจ
เวลาพูดเรื่องบาปบุญคุณโทษ เขาก็ไม่เชื่อ ไปบอกว่า ฆ่าสัตว์มันบาปนะ เขาก็สวนกลับมาว่า
ฆ่ามากินไม่บาป ไม่ได้ฆ่าเล่น ๆ หรืออาจจะโดนสวนกลับว่า บาปเป็นตัวยังไง ไม่เคยเห็น

ทั้งนี้ เพราะเขาไม่ได้บำเพ็ญบารมีมามากพอที่จะได้เห็นสัจจธรรม เปรียบเสมือนบัวทั้งสี่เหล่า พวกปทปรมะ
แม้พระพุทธองค์ ก็ทรงสอนไม่ได้ ต้องปล่อยตามบุญตามกรรมเท่านั้น

… ผมเคยได้ฟัง เรื่องเล่าเรื่องอายุขัยของมนุษย์จากอาจารย์ท่านหนึ่ง
ซึ่งท่านอ้างอิงพระไตรปิฎก (ลองไปอ่านเพื่อตรวจสอบอีกทีนะครับ) ท่านเล่าว่า

ทุก ๆ 100 ปี อายุขัยของมนุษย์จะลดลง 1 ปี

ท่านบอกว่า ในยุคพุทธกาล อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ประมาณ 100 ปี

ดังนั้น ผ่านมา 2,500 ปี ดังนั้น อายุขัยในยุคเราจึงเป็น 75 ปี

ทั้งนี้เนื่องจาก มนุษย์มีอกุศลธรรมที่มากขึ้น อายุมนุษย์จะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลืออายุขัย 10 ปี (เมื่อคนมีอายุ 5 ปี จะแต่งงาน)
ในยุคนั้น จะเต็มไปด้วยคนที่ขาดศีลธรรมมาเกิด ผู้คนจะเข่นฆ่ากัน จนตายกันไปมากมาย

พวกที่เหลือรอด ก็จะเห็นโทษของการปาณาติปาต เมื่อทุกคนเว้นจากการฆ่าฟัน การเบียดเบียน
ลูกหลานของพวกเขา ก็มีอายุยืนขึ้นอีกเรื่อย ๆ เป็น 20 ปี, 40 ปี, 60 ปี

ต่อจากนั้น คนรุ่นต่อ ๆ มา ก็ทำความดีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยมา ทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น จนถึงอสงไขยปี
แล้วเกิดความประมาท ทำชั่วใหม่ อายุก็ลดลงเป็นลำดับจนเหลือ 10 ปีอีก เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นภัทรกัป
แล้วเกิดไฟล้างโลก แล้วเกิดมหากัปใหม่ หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด….

จากเรื่องเล่าดังกล่าว ถ้าเป็นความจริง สรุปได้ว่า

ในยุคเรา ศีลธรรมกำลังเสื่อมลงเรื่อย ๆ ดูได้จากอายุขัยที่ลดลงเรื่อย ๆ
และคงไม่มีโอกาสได้เห็น โลกที่ไม่มีการฆ่าฟันในยุคเราแน่ ยกเว้นจะได้ไปเกิดในยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ถึงอสงไขยปี

ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์มีศีลธรรมมาก ไม่มีการเบียดเบียนกันทั้งคนและสัตว์ ก็อาจจะได้เห็นก็ได้นะครับ…ต้องลองไปเกิดดู 555+

6. หลวงตา มหาบัว ได้เล่าถึงวิญญาณหมูที่ถูกยิงตาย มาขอให้แม่แก้ว ลูกศิษย์ของท่าน รับอาหารที่ทำจากเนื้อของตน
เพราะคนที่ยิงเขา จะเอามาถวายสำนักชีที่ท่านอยู่ เพื่อที่วิญญาณหมู จะได้มีส่วนร่วมในบุญนั้นด้วย

นี่ก็เป็น เพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง การบำเพ็ญบุญของเหล่าเดรัจฉาน

เรื่องนี้ หลวงตา มหาบัว ท่านกลับมองในอีกมุมตรงข้าม คือ สัตว์ที่ยอมพลีชีพให้คนอื่นกิน ก็ได้บุญได้กุศลด้วย

ดังนั้น เวลากินอาหาร ก็อุทิศบุญให้กับ เจ้าของเนื้อที่เรากินด้วยนะครับ…

7. สรุปเรื่อง การกินอาหาร จะกินเจ ไม่กินเจ ไม่สำคัญ แต่เราต้องกินอย่างมีสัมมาทิฐิ
ผมชอบที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเรื่อง อาหาร 4 อย่าง พระพุทธองค์สอนว่า การกินอาหารนั้น อย่ากินอย่างมัวเมา

ให้นึกว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นเหมือนลูกหลานของเรา
เวลากินอาหาร ก็เหมือนกับกำลังกินบุตรของตัวเอง
ที่เราพากันกิน เนื้อบุตรเป็นอาหาร เพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดาร หรือวัฏสงสารนี้เท่านั้น

และเวลากิน เราควรทำตัวให้เหมือนพระ คือพิจารณาอาหารเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ

อาหารนี้ ประกอบด้วยธาตุ 4 เป็นของสกปรก ร่างกายเรา ก็เป็นของสกปรก เพราะกินแต่สิ่งสกปรก
และเวลากิน ก็อุทิศบุญให้กับสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของเรา ด้วยนะครับ….

ป.ล. ผมเอง ก็ยังเลวอยู่มาก ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็กิน อย่างมีกิเลส
ยังชอบกิน เพราะรสอร่อย และไม่ค่อยได้พิจารณาอาหารเลย…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น