...+

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

เห็นน้ำไม่เห็นป่า : การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สร้างวิกฤตซ้ำซาก โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘ความเลวร้ายรุนแรง’ จะเป็นผลลัพธ์ของสถานการณ์จำลองอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ (scenario of plausible futures) ของวิกฤตการณ์น้ำในประเทศไทยไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศเดินหน้าบูรณาการปัญหาน้ำหนักแน่นเพียงใด เพราะตราบใดที่รัฐซึ่งกุมกลไกในการบริหารจัดการน้ำเชิงโครงสร้างทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศไม่ ‘ปฏิรูป’ กระบวนทัศน์การบริหารจัดการเสียใหม่ให้เลิกรวมศูนย์อำนาจ ตราบนั้นอุทกภัยและภัยแล้งก็จะยังคงก่อความเสียหายรุนแรงต่อประชาชน ตลอดจนสร้างความขัดแย้งเลวร้ายสู่สังคมไทย

ในการแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำ ลำพังแค่คำประกาศนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ขาดการแปรเป็นปฏิบัติการที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนบนความสมดุลของระบบนิเวศจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ ด้วยถึงที่สุดแล้วมาตรการหรือแนวนโยบายต่างๆ ที่ออกมาไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ทั้งผูกขาดและเหลื่อมล้ำ รวมทั้งยังผลิตซ้ำการเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมรวมถึงภัยแล้งแบบปลายเหตุทุกๆ ปี

ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการจึงต้องมอง ‘ป่าทั้งป่า’ เหมือนดังข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่ให้รัฐกำหนดนโยบายทรัพยากรน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับการจัดการทรัพยากรส่วนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าต้นน้ำ ที่ดิน ระบบนิเวศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง และวิถีชีวิตประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ อย่างสมดุลทั้งทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะการรวมศูนย์อำนาจและการตัดสินใจไว้ส่วนกลาง (centralization) ดังที่แล้วมาได้ทำให้โครงสร้างระบบราชการที่แยกการบริหารออกเป็นส่วนๆ ตามหน้าที่ไม่สามารถจัดการวิกฤตน้ำโดยเชื่อมโยงองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ ไม่เท่านั้นยังไปลดทอนพลังของท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าส่วนกลางในการจัดการน้ำที่สอดรับกับความเร่งด่วนของสถานการณ์และความจำเป็นของคนในพื้นที่

ที่สำคัญการจัดการน้ำแบบแยกส่วนของภาครัฐยังเป็นฐานที่มั่นหลักในการอ้างอิงความชอบธรรมของการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนหรือการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำของหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่มักไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านนิเวศหรือความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของคนท้องถิ่น รวมถึงการกำหนดแผนการใช้น้ำที่มากเกินความเป็นไปได้ทั้งในด้านความคุ้มทุนและระบบนิเวศ

วิกฤตน้ำทั่วประเทศที่ทวีจำนวนขึ้นทั้งด้านความรุนแรงและระยะเวลาที่ทอดยาวนานในแต่ละครั้งจึงเป็นดั่งรูปธรรมความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำของรัฐ เพราะไม่เพียงบรรเทาวิกฤตชีวิตผู้คนที่ทุกข์ทรมานกับน้ำท่วมรวมถึงภัยแล้งไม่ได้เท่านั้น ทว่ายังสะท้อนแนวทางการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาด้วยว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ 45 เขื่อน เขื่อนขนาดกลางและเล็กราว 14,000 เขื่อน และโครงการสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า 2,500 แห่ง นอกจากจะคลี่คลายความรุนแรงของพิบัติภัยไม่ได้ ยังไปปิดกั้นทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำที่สอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นๆ อีกด้วย

สถานการณ์นํ้าท่วมใหญ่ในลุ่มนํ้าชี มูล เจ้าพระยา ปลายปีที่แล้วจึงสะท้อนการบริหารจัดการน้ำของรัฐว่ามีความผิดพลาดแม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือ อีกทั้งยังใช้กลไกป้องกันแก้ไขและเยียวยาผลกระทบที่ไม่ทันการ ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายเช่นนั้นอาจหวนคืนมาอีกปลายปีนี้ถ้ายังไม่ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับโครงสร้างควบคู่กับแก้ไขวิกฤตเฉพาะหน้าที่มากกว่าการให้เงินช่วยเหลือ

ด้วยแนวทางการบริหารจัดการน้ำดังนี้ การมองสาเหตุปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของรัฐจึงมักไม่รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ หรือการวางผังเมืองที่ไปกีดขวางทางเดินน้ำ ดังปรากฏการณ์แผ้วถางป่าต้นน้ำสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศ และการรุกป่าปลูกสวนยางหลายร้อยไร่ในภูเขาที่เป็นป่าต้นน้ำที่ไม่เคยถูกอธิบายอย่างเชื่อมโยงกับการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีน้ำหนักมากเท่ากับการเสนอมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ ที่ถึงที่สุดก็ไปไม่ไกลกว่า ‘จำนวนเงิน’

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ‘การเห็นน้ำแต่ไม่เห็นป่า’ ทำให้การกำหนดนโยบายทั้งภายในสถานการณ์ปกติและฉุกเฉินจากอุทกภัยและภัยแล้งใช้เงินเป็นตัวตั้งแก้ไขปัญหาที่จะออกมาในรูปของกองทุนเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งในที่สุดแล้วไม่สามารถตอบโจทย์ความเลวร้ายรุนแรงของวิกฤตการณ์น้ำในอนาคตได้

ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่นอกเหนือจำนวนเงินเยียวยาช่วยเหลือจึงเป็น ‘สิ่งที่คิดไม่ได้-นำเสนอไม่ได้’ ของรัฐในการที่จะนำมาบูรณาการเพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง แม้แท้จริงแล้วมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับวิกฤตการณ์น้ำที่นำความสูญเสียมหาศาลสู่สังคมไทยไม่ได้ต้องการสิ่งใดไปกว่าการกระจายอำนาจ (decentralization) และการเชื่อมร้อยการจัดการทรัพยากรน้ำเข้ากับทรัพยากรอื่นๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เนื่องจากปฏิบัติการด้านนี้เท่านั้นจะพังทลายโครงการพัฒนาแหล่งนํ้าเพื่อให้ประโยชน์คนกลุ่มหนึ่งแต่สร้างความสูญเสียสู่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังกรณีเขื่อนสิรินธร เขื่อนนํ้าอูน เขื่อนภูมิพล เขื่อนปากมูล และเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ที่ทำผู้คนสูญเสียที่ดินทำกินและแหล่งอาหารธรรมชาติ เช่นกันกับวิถีชีวิตสงบสุขก็มลายไปกับสายเหมือนยายไฮ ขันจันทา

รวมทั้งยังปลดเปลื้องเสื้อคลุม ‘ผู้เสียสละ’ ของเกษตรกรภาคกลางจากการที่รัฐเบนนํ้าให้ท่วมนาข้าวเพื่อป้องกันพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม ขณะที่เมื่อขาดแคลนน้ำเกษตรกรก็ต้องงดเพาะปลูกเพื่อนำนํ้าไปรักษาความอยู่รอดของเมืองและอุตสาหกรรม กระทั่งก่อตัวเป็นความแตกแยกขัดแย้งหลายพื้นที่ ที่ส่วนหนึ่งรู้ซึ้งถึงความรวดร้าวจากการถูกเลือกปฏิบัติ ขณะที่อีกส่วนก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับทุกข์ยากผู้อื่น คนเมืองไม่เห็นคนชนบท คนต้นน้ำไม่เห็นคนปลายน้ำ คนเหนือเขื่อนไม่เห็นคนใต้เขื่อน รัฐไม่เห็นประชาชน

กล่าวถึงที่สุดการ ‘เห็นน้ำแต่ไม่เห็นป่า’ เป็นมากกว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผิดพลาดล้มเหลวซ้ำซาก ด้วยนอกจากจะคลี่คลายวิกฤตพิบัติภัยน้ำท่วมและภัยแล้งไม่ได้ในระยะเฉพาะหน้าและยั่งยืนระยะยาวเพราะขาดกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว ยังพังทลายสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่มีเพียงเขื่อนกั้นกลางและมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะการ ‘เห็นน้ำแต่ไม่เห็นคน’ เท่ากับเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนจากการที่บ้าน โรงงาน หรือร้านไม่ถูกน้ำท่วมโดยละเลยผู้เสียสละที่แบกรับความสูญเสียจากน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาบ้านช่องจากการทำลายป่าต้นน้ำสร้างบ้านพักตากอากาศหรือรีสอร์ตหรูที่คนชั้นกลางวางแผนจะไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น