...+

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 โดย บรรจง นะแส

หลังจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ โดนเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan) รวมทั้งการระบุไว้ในนโยบายให้มีการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมและสร้างระบบการขนส่งจากท่าเรือน้ำลึกตรงปากบารา อ.ระงู ในจังหวัดสตูล เชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกที่จะถูกสร้างขึ้นอีกจุดในฝั่งอ่าวไทย ในบริเวณชายหาดบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา รวมไปถึงการผลักดันใช้พื้นที่ของ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่าเรือน้ำลึก มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โรงถลุงเหล็กต้นน้ำในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา การขยับตัวของภาคประชาชนก็เริ่มขึ้น

“เพชรเกษม 41” ถูกหยิบยกขึ้นมาให้เป็นชื่อ เพื่อสื่อสารการเคลื่อนไหวต่อสาธารณะ เพราะถนนเพชรเกษมคือเส้นทางหลักสู่ประตูของภาคใต้ แผ่นผ้าพื้นเขียว ธงสีเขียว เสื้อสีเขียว ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว เพื่อจะบอกว่าพวกเขาจะยืนหยัดปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ต้องการพิทักษ์รักษาพื้นที่ทำมาหากินประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว ชุมชน และต้องการสื่อความหมายของการพัฒนาที่เขาต้องการ การพัฒนาภายใต้บริบทกว้างๆ ที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยังยืน” ( Sustainable Development)

23 สิงหาคม 54 วันแถลงนโยบายของรัฐบาล บนถนนเพชรเกษมใกล้แยกเพชรเกษม 41 (สี่แยกปฐมพร) ถูกกำหนดให้เป็นจุดนัดพบ ของผู้คนทุกหมู่เหล่าทุกพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ นัดหมายกันเพื่อมาปรึกษาหารือ ว่าหากรัฐบาลนี้ยืนยันที่จะเดินหน้าดำเนินโครงการต่างๆ ที่กล่าวมา อย่างรวบรัด รวบหัวรวบหาง ไม่ฟังเสียงความรู้สึก ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ฯลฯ จะทำอย่างไรกันดี...

บนเวที 2 วัน 1 คืนถูกจัดให้แต่ละพื้นที่ได้นำเสนอความทุกข์ร้อน ไม่ว่ากลุ่มคนที่มาจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และพื้นที่จะถูกกำหนดให้เป็นเขื่อนของพี่น้องบ้านนาปรังในพื้นที่อำเภอนาทวี พี่น้องอาชีพประมงในคลองนาทับที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ดึงน้ำจากลำคลองไปทำระบบหล่อเย็น จนส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว พี่น้องในพื้นที่ อ.ท่าศาลา ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอน ฯลฯ

ความไม่พอใจต่อปฏิบัติการของฝ่ายรุกเดินหน้าดำเนินโครงการในพื้นที่ต่างๆ ที่ส่งคนไปสำรวจในพื้นที่ การทำประชาสัมพันธ์ เวทีให้ข้อมูลจากนักวิชาการที่รับจ้างโครงการ กลุ่มผู้รับเหมา ผู้สนับสนุนโครงการที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามก็ลุกขึ้นมาปฏิบัติการ ในบางพื้นที่มีความขัดแย้งที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จากกลไกรัฐที่ไม่เป็นกลาง ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในวงล้อม ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกล้อมกรอบให้ต้องยอมจำนน

ยุทธวิธีปฏิบัติการ “เพชรเกษม 41” จึงเป็นคำตอบ ซึ่งก็คือการผนึกกำลังกันของผู้ที่อยากมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนา ในฐานะของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย จากการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอน เป็นการส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลทั้งที่ผ่านมาและที่เพิ่งเข้ามามีอำนาจในปัจจุบัน ว่าพวกเขาต้องการการมีส่วนร่วมในขบวนการตัดสินใจ ที่มีเหตุมีผล มีข้อมูลที่รอบด้าน เอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้งและให้มองไปถึงอนาคตของลูกหลาน

ในการลุกขึ้นมาเอาใจใส่ต่อปัญหาของสังคมโดยรวม นับเป็นต้นทุนที่สำคัญของอารยประเทศ เพราะหมายถึงพลังที่จะขับเคลื่อนให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ เป็นพลังตรวจสอบและหนุนเสริมให้ขบวนการพัฒนาทั้งหลาย ไม่ทำร้ายทำลายซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการมองถึงผลอันเกิดขึ้นว่าได้รับการกระจายอย่างเป็นธรรม ชอบธรรม มากน้อยแค่ไหน หากรัฐบาลไม่มีอคติต่อการเติบโตและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ และพร้อมที่จะหงายข้อมูลในทุกมิติอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง เอาข้อมูลแต่ละฝ่ายออกมาในที่แจ้ง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้ใช้ช่องทางในการสื่อสารกับสาธารณะ ไม่ใช่พยายามล้อมกรอบ ใส่ร้ายบิดเบือนแล้วปิดประตูตีแมว

การกระทำเช่นนั้นรังแต่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมจากมิติทางการเมืองที่ดำรงอยู่ ซึ่งก็ยังมองไม่เห็นว่าจะยุติลงด้วยวิธีการใด หากมีพื้นที่ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นฐานปัจจัยในการผลิตของชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าสังคมไทยในอนาคตจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ถมทับทวีมากขึ้นเรื่อยๆ และก็คงจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงในหลายๆ รูปแบบที่จะตามมาได้ยาก

การเติบโตของภาคประชาชนไม่ได้หมายเพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่หมายถึงเหล่าประชาคมของนักวิชาการที่มีจริยธรรม มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย และยืนข้างความถูกต้องชอบธรรมของสังคม มีคนทำงานสื่อ มีองค์กรสื่อที่ยึดมั่นในการประกอบอาชีพอย่างตรงไปตรงมา มีผู้ที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่หลากหลาย และเกาะติดกับปัญหาของสังคมมายาวนาน มีเหล่าศิลปินที่ผลิตเนื้อหารับใช้ผู้คนและสังคม ฯลฯ ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เป็นตัวอย่างหนึ่งความพยายามของภาคประชาชนที่หลากหลายซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ต้องการให้ภาคใต้สงบสุขและร่มเย็น ต้องการใช้ถนนเพชรเกษมให้เป็นแค่สัญลักษณ์ไม่ใช่สนามรบ ....แต่ถ้าไม่ฟังกัน กดดันกันมากๆ ก็ไม่แน่เหมือนกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น