...+

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

30 กันยายน : วันแห่งทุกข์ของผู้ยึดติด โดย สามารถ มังสัง

ในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการและลูกจ้างของรัฐผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะต้องพ้นไปจากความเป็นข้าราชการและลูกจ้าง หรือที่เรียกว่า เกษียณอายุราชการ

ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้ามาเป็นข้าราชการ และลูกจ้างของรัฐทุกคน จะรู้ว่าสักวันหนึ่งเมื่อพวกเขามีอายุครบ 60 ปี ก็จะต้องเกษียณ แต่ถึงกระนั้นในจำนวนผู้ที่เกษียณอายุในแต่ละปี ก็จะมีอยู่จำนวนหนึ่งทำใจให้ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่ยังยึดติดในตำแหน่ง และอำนาจอันเกิดจากตำแหน่งอันเป็นบ่อเกิดแห่งผลประโยชน์นานัปการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และคนกลุ่มนี้เองที่เป็นทุกข์เมื่อวันที่ 30 กันยายนมาถึง

แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ทำใจได้ ด้วยรู้เท่าทันความเป็นจริงซึ่งมาพร้อมกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎแห่งอนิจจตาในพุทธศาสนา จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีความทุกข์ ความเดือดร้อนใดๆ คงใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยความสุขตามอัตภาพของแต่ละคนตามที่พึงมีพึงเป็น

ยิ่งกว่านี้ คนที่ทำใจได้ และไม่เดือดร้อนในบางรายที่ยังมีร่างกายแข็งแรง และสมองยังคงใช้งานได้ดี ก็จะยังคงทำงานหลังเกษียณสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมโดยรวมก็มีอยู่ไม่น้อย และที่เป็นเช่นนี้ได้ก็ด้วยไม่ยึดติดในความมีความเป็น เมื่อครั้งที่ตนเองเป็นข้าราชการ และพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความรู้ มีความเข้าใจในหลักแห่งโลกธรรม 8 ประการ และสามารถปล่อยวางได้

โลกธรรมคืออะไร และช่วยให้คนที่เกษียณอายุพ้นทุกข์ได้อย่างไร?

โลกธรรม 8 ก็คือ หลักแห่งความเป็นไปตามคติธรรมดา ซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป ซึ่งมีอยู่ 8 ประการ และแบ่งเป็น 4 คู่ดังต่อไปนี้

1. มีลาภ หรือลาภะ 2. เสื่อมลาภ หรืออลาภะ 3. มียศ หรือยสะ 4. เสื่อมยศ หรืออยสะ 5. ติเตียน หรือนินทา 6. สรรเสริญ หรือปสังสะ 7. มีสุข หรือสุขะ 8. มีทุกข์ หรือทุกขะ

จาก 8 ประการข้างต้น จัดเป็นโดยมี 1 คู่กับ 2, 3 คู่กับ 4, 5 คู่กับ 6 และ 7 คู่กับ 8 หรือพูดง่ายๆ ก็คือแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยจัดเป็นฝ่ายที่คนปรารถนาจะมี หรือที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ และฝ่ายที่คนไม่พึงปรารถนาจะมี หรือที่เรียกว่า อนิฏฐารมณ์

โลกธรรม 8 ประการนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำโลก และครอบงำมนุษย์ทุกรูปทุกนามที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่บนโลกนี้ โดยไม่มีข้อยกเว้นให้ผู้ใดอาศัยเป็นช่องว่างหลุดรอดไปจากการถูกครอบงำได้ จะมีข้อแตกต่างก็เพียงว่า ประการไหนจะเกิดขึ้นกับใครก่อน และมากน้อยแค่ไหน ทั้งเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ผู้ที่ถูกครอบงำเปลี่ยนแปลงหรือหมุนตามมันมากน้อยเท่าใด เช่น เมื่อยศเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่มียศเปลี่ยนแปลงไปจากคนไม่มียศมากน้อยเพียงใด จะเห็นได้จากพฤติกรรมบ้าอำนาจ และมองคนไม่มียศเป็นคนที่ต่ำต้อยด้อยค่า เป็นต้น

และในทางกลับกัน เมื่อยศเสื่อมหรือเสื่อมจากยศ เช่นต้องโทษมีอันให้ถูกถอดยศ หรือลดตำแหน่งเป็นทุกข์เป็นร้อนมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

ใน 6 ประการที่เหลือก็ทำนองเดียวกัน กล่าวคือ โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์เกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจฟูขึ้นมากน้อยแค่ไหน และในทางกลับกัน เมื่อฝ่ายอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้นทำใจยอมรับได้แค่ไหน นี่คือความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ถูกโลกธรรม 8 ครอบงำ

ดังนั้น ข้าราชการ และลูกจ้างของรัฐเมื่อครั้งยังเป็นข้าราชการและลูกจ้างโดยได้รับสิ่งที่ตนเองปรารถนาตามนัยแห่งโลกธรรม 8 อันมีลาภเป็นต้นแล้ว ถ้าไม่รู้เท่าทัน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนว่าเป็นของตนหรือเกี่ยวเนื่องด้วยตนชนิดใครมาแตะต้องไม่ได้แล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายนมาถึง และตนเองมีอันต้องพ้นไปด้วยมีอายุครบ 60 ปี ก็คงเป็นทุกข์ด้วยยอมรับในความสูญเสียไม่ได้

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นโลกธรรมที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยไม่มีเหตุอื่นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อนเวลา

แต่ในความเป็นจริง โลกธรรมของข้าราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในตำแหน่งระดับสูงมิได้มีเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงจากกาลเวลาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุอื่นเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเหตุอื่นที่สำคัญ และข้าราชการในยุคนี้สมัยนี้กลัว เห็นจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการเข้ามาก้าวก่ายของข้าราชการการเมือง ดังที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. เป็นต้น ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงตามกระแสแห่งโลกธรรมของข้าราชการอันเนื่องมาจากการเมืองกรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี ถือได้ว่าน่าสนใจที่สุด ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกที่รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มุ่งเป้าเปลี่ยนแปลงในวัยที่ยังไม่ถึงเวลาเกษียณ และไม่มีความผิดอันเป็นเหตุให้ถูกโยกย้าย

2. การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ในครั้งนี้มิได้มีเหตุมาจากนายถวิลโดยตรง แต่มีผลกระทบมาถึงก็เนื่องจากรัฐบาลโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องการจะย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.เพื่อจะแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ และย้ายเจ้าของตำแหน่งเดิมไปลงที่เลขาธิการ สมช. จึงถือได้ว่าโลกธรรม 8 ฝ่ายอนิฏฐารมณ์ได้เกิดแก่นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยไม่เป็นธรรมและก่อนกาลเวลาอันควร และนี่เองน่าจะเป็นเหตุให้นายถวิลลุกขึ้นต่อสู้ด้วยการฟ้องร้องเพื่อขอความเป็นธรรม ดังที่เป็นข่าวไปแล้ว

ด้วยเหตุที่ข้าราชการประจำต้องทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง และถ้าฝ่ายการเมืองไม่ยึดระบบคุณธรรมเป็นหลักในการโยกย้าย เชื่อได้เลยว่านายถวิลคงไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะถูกโยกย้ายในลักษณะนี้ ตรงกันข้ามคงจะมีรายอื่นๆ ต่อไป และทุกครั้งที่ย้ายถ้าหาเหตุอ้างอื่นที่ชัดเจนไม่ได้ ก็คงหนีไม่พ้นเพื่อความเหมาะสม และนี่คือความทุกข์ของข้าราชการประจำที่ต้องได้รับผลจากการเมืองที่ขาดจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของโลกธรรม ไม่ว่าเป็นความเสื่อมยศเพราะปลดเกษียณ หรือเสื่อมยศเพราะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลใดๆ ล้วนแล้วแต่ถือได้ว่าเป็นไปตามกฎแห่งโลกธรรม 8 ประการทั้งสิ้น

ส่วนว่าจะเป็นโลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ เกิดขึ้นกับใครก่อนหลังอย่างไรนั้น ถือได้ว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรมเป็นตัวจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกันไป โดยที่ไม่มีใครต่อต้านหรือป้องกันกฎแห่งกรรมได้ หรือแม้กระทั่งอำนาจแห่งเงินตราที่ซื้อได้ทุกอย่าง สุดท้ายก็ซื้อให้กฎแห่งกรรมบิดเบือนไม่ให้ผลตามที่ผู้กระทำได้ทำไว้ไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อให้รอดูว่าคนทำกรรมใดไว้ จะได้รับผลกรรมนั้นตามพุทธพจน์ที่ว่า หว่านพืชชนิดใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งพืชนั้น

ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น