...+

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประเทศไทยกับความมั่นคงพลังงานไทยในอนาคต โดย ดร.รักไทย บูรพ์ภาค

สวัสดีทุกๆ ท่านผมในฐานะที่พอมีความรู้และผ่านงานด้านพลังงานมาบ้าง ผมขอฝากข้อคิดต่อรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับด้านพลังงานด้วย อะไรที่รัฐบาลชุดใหม่ทำถูกผมก็สนับสนุน แต่อะไรที่ผิดและอาจจะทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเสียผลประโยชน์นี้ ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน

เอาเรื่องที่เห็นด้วยก่อน ผมเห็นด้วยที่มีการลดภาษีน้ำมันหรือลอยตัวราคาน้ำมันในอนาคตจากความเห็นส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อยากเห็นนโยบายแบบนี้ในระยะยาวมากกว่านะซึ่งผลกระทบจากนโยบายนี้หลักๆ ก็จะมีสองประเด็นก็คือ

1. จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและอาจทำให้มีมลพิษเพิ่มขึ้น

2. เงินสำรองในกองทุนน้ำมันลดลง

คิดว่าทั้งสองประเด็นนั้นเราน่าจะมีการแก้ปัญหาดังนี้

มีการชดเชยเงินส่วนนี้ด้วยการวางแผนเก็บภาษีรถยนต์ตามประสิทธิภาพของรถยนต์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถยนต์แบบไฮบริดรถกระบะรุ่นไหนที่ประหยัดพลังงานหรือมอเตอร์ไซค์ก็ควรจะเก็บภาษีน้อย แต่ถ้ารถยนต์ประเภทไหนใช้พลังงานเยอะไม่ได้ประหยัดพลังงานอย่างเช่น รถยนต์สองประตูก็อาจจะต้องเก็บภาษีมากหน่อย คิดว่าถ้าวางโครงสร้างดีๆ ถ้าหลายๆ ฝ่ายร่วมมือกันคงจะนำเงินส่วนต่างตรงนี้ไปชดเชยกองทุนน้ำมันได้ แล้วยังรณรงค์ให้ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่เลือกรถยนต์แบบประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ก็ขอย้ำว่าเห็นด้วยกับการลดการเก็บภาษีและขอเสนอให้มีการชดเชยกองทุนน้ำมันด้วยการจัดโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ จะได้เห็นนโยบายแบบนี้ระยะยาวซึ่งก็มีหลายประเทศที่ทำแบบนี้อย่างเช่นประเทศแถบยุโรปอเมริกา หรือแม้กระทั่งจีนเองก็พยายามทำอยู่

แต่เรื่องที่ผมไม่เห็นด้วยคือการที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลของเราพยายามเจรจาตกลงกับทางกัมพูชา (ตามที่ผู้บริหารบางกระทรวงให้สัมภาษณ์) เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่สุดนี้จริงหรือ?

มีการยกกรณีที่ประเทศไทยเราตกลงกับทางมาเลเซียมาเป็นโมเดล (จากการที่ผู้บริหารบางกระทรวงให้สัมภาษณ์) อันนี้ผมคิดว่าคนละกรณีกัน

เพราะเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับทางมาเลเซีย และเรามีความจำเป็นอะไร

ต้องรีบขนาดนั้น?? ถ้าบอกว่าอยากให้เรานำพลังงานตรงนั้นมาใช้อันนี้ผมเข้าใจ และเห็นด้วยแต่มันมีความจำเป็นต้องรีบทำขนาดนั้นเลยหรือ และก่อนที่เราจะตกลงกันนี้ผมไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลเราจะทำในฐานะอะไร ถ้าในฐานะนักธุรกิจหรือเอื้อนักธุรกิจบางท่านการที่ตกลงและทำสัญญาได้เร็วกับทางกัมพูชาแน่นอนว่าอาจจะหมายถึงว่าท่านทำผลงานสำเร็จ แต่ถ้าทำในนามรัฐบาลไทยท่านต้องทำให้ประเทศเราได้ประโยชน์มากที่สุดไม่ใช่หรือ ท่านจะตกลงกันเองโดยที่ไม่ประเมินข้อมูลที่แน่นอนบริเวณนั้นก่อนรึ

เราอาจจะมีภาพถ่ายดาวเทียวคร่าวๆ แต่เรายังต้องทำการประเมินแหล่งน้ำมัน (seismic) และเจาะสำรวจก่อน (well testing) ของแหล่งน้ำมันบริเวณนั้นก่อนอย่าทำแบบอ่าวไทยเหมือนครั้งที่เราเคยตกลงกับบริษัทน้ำมันต่างชาติในอดีตเมื่อหลาย 40-50 ปีก่อนแล้วเราเสียผลประโยชน์บางส่วนอันนั้นผมเข้าใจว่าตอนนั้นเราไม่มีความรู้และความสามารถในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันนี้ประเทศเรามีทั้งบุคลากรและองค์กรต่างๆ ที่ช่วยกันดูแลเรื่องนี้

ขอบอกก่อนเลยว่าต้องใช้เวลานานอาจจะหลายปี แต่ถ้าทางเราจะเริ่มเก็บข้อมูลตอนของทางฝั่งเราก็ไม่เป็นไร แต่เรื่องจะตกลงกันนั้นต้องรอให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน ไหนจะเรื่องเขตแดนปริมาณน้ำมันที่คาดการณ์แน่นอนและบริษัทที่รับสัมปทานถ้าบริษัทที่รับสัมปทานของทางกัมพูชามีชื่อของบริษัทฝรั่งเศสอันนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทเขตแดนเราไปจนถึงกรณีศาลโลกเลย ซึ่งอาจจะเกี่ยวกันหมดก็ต้องจับตามองกัน ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเลย แม้กระทั่งตอนอเมริกาตกลงกับเม็กซิโกเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกยังใช้เวลานานเลยขนาดทางเขาไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดนบนดินนะครับ

อีกประเด็นหนึ่งคือมีการผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ทำไมต้องรีบทำเรื่องนี้มีอีกหลายเรื่องที่ท่านควรจะรีบทำก่อน เช่น คาร์บอนเครดิตซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเราไหนจะเรื่องการยกระดับพลังงานทดแทนโดยการผลักดันพลังงานลม ซึ่งอาจจะส่งผลให้เราเป็นแหล่งพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเลยก็ได้ อีกทั้งเราจะลดการนำเข้าพลังงานมหาศาลรวมไปถึงผลักดันให้เราเข้าร่วมทบวงพลังงานทดแทนโลก(International Renewable Energy Agency (IRENA)) ซึ่งประเทศเรายังไม่เข้าร่วมเลยขณะนี้มีประเทศลงนาม 149 ประเทศ และประเทศสมาชิก 81 ประเทศ เรื่องอย่างนี้ไม่จำเป็นกว่าหรือ มีความจำเป็นอะไรขนาดนั้นที่ต้องรีบทำเรื่องแหล่งน้ำมันในบริเวณที่ยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนนี้ตั้งแต่ต้น

ขอให้ทุกคนอย่าให้รัฐบาลปิดหูปิดตาทำสัมปทานกับต่างชาติโดยที่เราไม่รู้อย่างในอดีต เพราะเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์พลังงานในอนาคตเพื่อรุ่นลูกหลานด้วย ผมมีข้อมูลเชิงลึกที่พร้อมจะเปิดเผยโดยจะขอเสนอในบทความต่อๆ ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น