...+

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทรัพย์สินที่ดิน : ความมั่งคั่งที่ต้องปฏิวัติเพื่อความมั่นคงของประชาชน โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

นอกเหนือจากเงิน ความมั่งคั่งยังวัดจากทรัพย์สินที่ถือครองได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ที่ดิน’ ที่ทวีมูลค่าขึ้นทุกวัน ด้วยนอกจากจะเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและหายากมากขึ้นเพราะประชากรเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ค่าเช่าและมูลค่าเพิ่มจากราคาที่สูงขึ้นยังสร้างความมั่งคั่งแก่ผู้ครอบครองมหาศาล หากทว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็เข้าไม่ถึงโอกาสมั่งคั่งนั้น เพราะอย่าว่าแต่จะร่ำรวยเลย แค่มีที่ดินเพียงพอพักอาศัยและทำมาหากินก็กล้ำกลืนเต็มทีแล้ว ด้วยปัจจุบันประชาชนร้อยละ 90 มีที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ในขณะที่อีกร้อยละ 10 ที่เหลือกลับถือครองที่ดินคนละกว่า 100 ไร่ และราวร้อยละ 70 ของที่ดินที่ถูกจับจองก็เก็บเก็งกำไร ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่า

การกระจุกตัวของที่ดินด้านหนึ่งจึงสร้างความมั่งคั่งแก่เจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะกลุ่มกุมอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจที่ยิ่งนานวันยิ่งกลายเป็น ‘Landlord’ เพราะกำไรที่ได้จากทั้งค่าเช่าและมูลค่าเพิ่มจากราคาที่สูงขึ้นยามขายออกไปแม้ในช่วงที่ถือครองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือพัฒนาที่ดินแห่งนั้นเลยก็ตามก็สามารถนำมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่กว่าต่อไปได้ ในขณะอีกด้านก็ผลักไสให้คนจนข้นแค้นต้องหักร้างถางพงบุกรุกผืนป่าจนเกิดความขัดแย้งกับรัฐ เกษตรกรส่วนหนึ่งก็ขายที่ดินสำหรับการเกษตรที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐแก่นายทุนเพราะได้ราคาสูงหรือไม่ก็ทนแรงบีบบังคับข่มขู่ไม่ไหว ไม่นับรวมกรณีที่ว่าจ้างออกทุนให้คนปลายอ้อปลายแขมบุกรุกผืนป่าในนามความยากจนแล้วค่อยเข้ายึดครองภายหลังของคนร่ำรวย

ดังกรณีที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหลายแห่งที่เกิดวิกฤตจากการใช้ผิดวัตถุประสงค์จนพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองเพื่อเกษตรกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านพักตากอากาศ และรีสอร์ตหรูของคนร่ำรวยโดยการออกเอกสารสิทธิ์มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ก็ใช้แค่เอกสาร ส.ป.ก.4-01 หรือกระทั่ง ภบท.5 ที่ทั้งคู่ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นเพียงแต่หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในที่ของรัฐและหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามลำดับในการประกาศซื้อขายที่ดินนับสิบๆ ไร่ในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ดิน ส.ป.ก.ห้ามซื้อขาย ‘คนซื้อไม่ได้ คนขายเสียสิทธิ ผิดกฎหมายทั้งคู่’ หรือไม่ก็ร้ายแรงบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานกับชาวบ้าน จับกุมคุมขังดำเนินคดีกรณีที่เข้าทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ แต่กลับอ่อนข้อต่อกลุ่มทุน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวก่อนการประกาศเป็นเขตป่าด้วยซ้ำไป ไม่เหมือนกลุ่มทุนที่จะลอยนวล

ในความมั่งคั่งจากการครอบครองที่ดินของคนกลุ่มบนน้อยนิดจึงมีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดินไม่เป็นธรรมระหว่างประชาชนด้วยกัน และการบังคับใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเชื้อเพลิงลุกไหม้ให้ความเหลื่อมล้ำลุกลาม และรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ที่ดินจะหลุดมือจากคนจนไปสู่คนรวยซ้ำซากจากการกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมโดยกลุ่มทุนในประเทศที่นำโดยกลุ่มธุรกิจและการเมือง และกลุ่มทุนต่างประเทศที่กระทำในนามบรรษัทหรือรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) ภายใต้การขับเคลื่อนของนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศตนเองจนเป็นที่มาของ ‘Land Grab’ ไปทั่วโลก รวมถึงไทยในอนาคตด้วยก็ได้

ด้วยพื้นที่เกษตรกรรมจะมีราคาสูงขึ้นมากจนเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถซื้อหรือเช่าเพื่อทำเกษตรได้ จำต้องขายที่ดินที่มีเพราะได้ราคาดีหรือทานแรงบีบไม่ได้ กระทั่งเกษตรกรกลายเป็นคนจนที่เฝ้ารอความหวังจากนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการขยายวิกฤตบุกรุกพื้นที่ป่าอีกต่างหาก มากกว่านั้นการเคลื่อนไหวเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายครั้งยังเป็นไปเพื่อประโยชน์กลุ่มทุนหนุนหลัง

ดังนั้น เพื่อคลี่คลายวิกฤตการขาดโอกาสของประชาชนส่วนใหญ่ในการถือครองที่ดินและลดทอนขื่นคาวคับแค้นจากการถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีเข้าทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 จึงมุ่งปฏิรูปการบริหารจัดการที่ดินเสียใหม่ให้ที่ดินเป็นสมบัติของชาติที่พึงจัดการภายใต้หลักการการเป็นเจ้าของร่วมระหว่างรัฐ องค์กรชุมชนสาธารณะ และปัจเจกบุคคล ตลอดจนเคารพสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐกำหนดกลไกการเข้าถึง ใช้ประโยชน์ อนุรักษ์ บำรุงรักษา และรับประโยชน์ โดยการสร้างเสริมกระบวนการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรโดยประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น

นอกจากนั้นก็ต้องเร่งคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชนกรณีพิพาทกับรัฐเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ยุติที่ความเป็น ‘ธรรม’ และบังคับใช้กฎหมายเสมอภาคกันทั้งชาวบ้าน นักการเมือง และนายทุน รวมถึงแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยรัฐเร่งรัดออกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และกำหนดกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินรายละไม่เกิน 50 ไร่ ในส่วนที่เกินให้มีมาตรการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามประเภทของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมจนนำไปสู่การกักตุนเก็งกำไร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน

ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงฐานข้อมูลที่ดินและประเมินราคาที่ดินใหม่ให้ตรงกับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินทั่วประเทศแก่สาธารณะ เนื่องจากความโปร่งใสในระบบข้อมูลการครอบครองที่ดินจะเป็นกุญแจสำคัญของการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมและเป็นกลไกกำกับไม่ให้ที่ดินตกอยู่ในมือคนส่วนน้อยโดยสังคมส่วนใหญ่ไม่รับทราบหรือร่วมตรวจสอบไม่ได้

ไม่เท่านั้นรัฐยังต้องตรากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐและการปฏิรูปที่ดินโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนมีส่วนร่วม ร่วมจัดทำแผนการใช้ที่ดินของชาติที่ทุกหน่วยงานยอมรับ วางนโยบายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมโดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือจูงใจให้เจ้าของที่ดินรักษาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ และเร่งศึกษาเพื่อหามาตรการด้านที่ดินเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ปี 2558

ด้วยถึงที่สุดแล้วความมั่งคั่งจากการครอบครองที่ดินโดยกลุ่มคนน้อยนิดจะต้องถูกปฏิวัติทั้งในเชิงโครงสร้าง นโยบาย กฎหมาย และแนวทางการบริหารจัดการของภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะเกษตรกร แต่รวมถึงคนจนเมืองและชนบทจำนวนมหาศาลที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ไม่เช่นนั้นการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่ดินจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถ่างกว้างเกินกว่ารายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นจะถมให้แคบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น