...+

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สติเจตสิก

สติเจตสิก

๒. สติเจตสิก คือความระลึกรู้อารมณ์และยับยั้งมิให้จิตตกไปในอกุสล ความระลึกอารมณ์ที่เป็นกุสล ความระลึกได้ที่รู้ทันอารมณ์

สติ เป็นธรรมที่มีอุปการะมากต้องใช้สติต่อเนื่องกันตลอดเวลา ในทางเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสมาธิ มุ่งทางปฏิบัติซึ่งเป็นทางสายเดียวที่จะหลุดพ้นจากกิเลสไปได้ โดยเจริญสติปัฏฐานทาง กาย เวทนา จิต ธรรม มีสติระลึกรู้อยู่เนื่อง ๆ ว่า กายมีปฏิกูล ฯลฯ

สติมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

อปิลาปนลกฺขณา มีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆคือมีความไม่ประมาทเป็นลักษณะ

อสมฺโมหรสา มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ

อารกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล

ถิรสญฺญาปทฏฺฐานา มีการจำได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้

สติเป็นเครื่องชักนำใจให้ยึดถือกุสลธรรมเป็นอุดมคติ ถ้าหากว่าขาดสติเป็นประธานเสียแล้ว สมาธิก็ไม่สามารถจะมีได้เลย และเมื่อไม่มีสมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้

เหตุให้เกิดสติ โดยปกติมี ๑๗ ประการ คือ

(๑) ความรู้ยิ่ง เช่น สติของบุคคลที่ระลึกชาติได้ พระพุทธองค์ระลึกชาติได้ไม่จำกัดชาติจะระลึกได้ทุกชาติที่พระองค์ปรารถนา สติของพระอานนท์จำพระสูตรที่พระพุทธจ้าตรัสไว้ได้หมด

(๒) ทรัพย์ เป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์มีสติ คือเมื่อมีทรัพย์มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดี และจะระมัดระวังจดจำไว้ว่าตนเก็บทรัพย์ไว้ที่ใด

(๓) สติเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เช่น พระโสดาบันจะจำได้โดยแม่นยำถึงเหตุการณ์ที่ท่านได้บันลุเป็นพระโสดาบัน หรือบุคคลที่ได้รับยศยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต

(๔) สติเกิดขึ้น โดยระลึกถึงเหตุการณ์ที่ตนได้รับความสุขที่ประทับใจ เมื่อนึกถึงก็จะจำเรื่องต่าง ๆ ได้

(๕) สติเกิดขึ้น เนื่องจากความทุกข์ที่ได้รับเมื่อระลึกถึงก็จะจดจำได้

(๖) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่ตนเคยประสบ

(๗) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับที่เคยประสบ

(๘) สติเกิดขึ้น เพราะคำพูดของคนอื่น เช่น มีคนเตือนให้เก็บทรัพย์ที่ลืมไว้

(๙) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเครื่องหมายที่ตนทำไว้ เช่น เห็นหนังสือที่เขียนชื่อไว้ถูกลืมไว้

(๑๐) สติเกิดขึ้น เพราะเห็นเรื่องราวต่าง ๆ หรือผลงาน เช่น เห็นพุทธประวัติก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

(๑๑) สติเกิดขึ้น เพราะความจำได้ เช่น มีการนัดหมายไว้ เมื่อมองไปที่กระดานก็จำได้ว่าต้องไปตามที่ได้นัดไว้

(๑๒) สติเกิดขึ้น เพราะการนับ เช่น การเจริญสติระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ใช้นับลูกประคำ เพื่อมิให้ลืม

(๑๓) สติเกิดขึ้น เพราะการทรงจำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้

(๑๔) สติเกิดขึ้นเพราะการระลึกชาติได้ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง (บุคคลที่มิใช่พระพุทธเจ้า)

(๑๕) สติเกิดขึ้น เพราะการบันทึกไว้ เมื่อดูบันทึกก็จำได้

(๑๖) สติเกิดขึ้น เพราะทรัพย์ที่เก็บได้เช่นเห็นทรัพย์ก็นึกขึ้นได้ว่าได้เก็บทรัพย์ไว้

(๑๗) สติเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เคยพบเคยเห็นมาแล้ว เมื่อเห็นอีกครั้งก็ระลึกได้


credit : http://www.abhidhamonline.org/aphi/p2/038.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น