...+

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"คนเผาพระ" ภูมิปัญญาอันน่าทึ่ง แห่งเมืองกำแพงเพชร

“นครชุม” เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เกิดขึ้นในยุคกรุงสุโขทัย ช่วงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ทำหน้าที่เมืองหน้าด่านทางทิศตะวันตกของสุโขทัย

และในช่วงนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ศิลปะ และสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม อันเป็นตำนานของประเพณีนบพระเล่นเพลง ที่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ในภายหลัง เมื่อมีผู้รื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ก็ได้พบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุ ซึ่งจารึกถึงตำนานการสร้าง “พระพิมพ์” หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “พระเครื่อง” นอกจากนี้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง เรื่องการเสด็จประพาสกำแพงเพชร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเขียนในปี พ.ศ. 2449 ก็ได้กล่าวถึงจารึกบนแผ่นลานทอง อันมีข้อความเกี่ยวกับการขุดพบพระต่างๆ ตามกรุต่างๆ เช่นกัน

แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม
นับว่าการสร้างพระพิมพ์ หรือพระเครื่องนั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 700 - 800 ปี แล้ว และเชื่อกันว่าคงมิได้สร้างเฉพาะพระพิมพ์เท่านั้น น่าจะมีการสร้างพระพุทธรูป และถาวรวัตถุอื่นๆ ในพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย

ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่องเป็นของที่ระลึก สำหรับผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหาย

สมหมาย พยอม ผู้ริเริ่มแหล่งเรียนรู้
พระกำแพงซุ้มกอ พุทธศิลป์สกุลช่างกำแพงเพชร

ข้อความตามศิลาจารึกหลักที่ 8 (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) มีการเรียกเมืองนครชุมว่า “นครพระชุม” ซึ่งอาจจะมีความหมายถึงเป็นเมืองที่รวมของพระ หรืออาจหมายถึงมีพระมาก ซึ่งในครั้งที่มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร

พระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชรมีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะที่เกิดจากประติมากรรมของช่างสกุลกำแพงเพชร นักโบราณคดีบางคนกล่าวว่า เป็นพุทธประติมากรรมของพระพุทธศาสนาที่มีฝีมือเป็นเลิศ มีความคิดอิสระ และมีแรงบันดาลใจสูง จึงเกิดความประณีตงดงามอันหาค่าไม่ได้

เนื้อส่วนผสมของพระเครื่องมีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อเงิน เนื้อนาค และเนื้อทอง โดยเฉพาะเนื้อดิน จัดเป็นเนื้อเกสรที่มีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชร เซียนพระทั้งหลายมักจะรู้กันว่า กำแพงเพชรเป็นแหล่งรวบรวมพระเครื่องแหล่งใหญ่ของประเทศ ซึ่งพระเครื่องที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปมีสองกรุ คือ

เตาเผาพระ
กรุพระเครื่องฝั่งตัวเมืองกำแพงเพชร เป็นที่รวมของพระบูชาที่มีพุทธศิลป์ทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ทวารวดี ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา ได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดป่ามืด กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดช้างรอบ กรุวัดสิงห์ กรุวัดสี่อิริยาบถ กรุลานดอกไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีพระบูชาจากนอกประเทศไทยมาบรรจุอยู่ในกรุด้วย เช่น ลังกา ศรีวิชัย และพม่า

กรุทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน กรุพระที่อยู่ในตระกูลทุ่งเศรษฐีมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลาง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี เป็นต้น และพระเครื่องในตระกูลนี้ ได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ ก็ได้รับเกียรติจากวงการพระเครื่องให้บรรจุอยู่ในชุดเบญภาคี

พระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งอยู่ในตระกูลทุ่งเศรษฐี มีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะแห่งประติมากรรมของสกุลช่างกำแพงเพชร มีลักษณะงดงามเป็นอันดับหนึ่งของพระนั่งตระกูลทุ่งเศรษฐี มีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน และเนื้อว่าน พุทธลักษณะมีทั้งสมาธิเพชร และสมาธิราบ โดยเฉพาะพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีพุทธลักษณะ ศิลปะเชียงแสนผสมกับสุโขทัย คือพระองค์อวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนแลเด่นสง่างามแบบเชียงแสน พระนาภีเรียว การทิ้งพระพาหา และการขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย องค์พระมีประภามณฑล รอบพระเศียรคล้ายรูปทรงของตัว ก.ไก่ จึงเรียกกันว่า ซุ้มกอ มี 2 แบบ คือแบบที่มีลายกนก และแบบไม่มีลายกนก การพบพระซุ้มกอ มีสองระยะ คือ

ระยะแรก เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เสด็จมาเยี่ยมญาติที่ กำแพงเพชร ราว พุทธศักราช 2392 ได้ค้นพบพระเครื่องที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นพระซุ้มกอจำนวนมาก เป็นขนาดพิมพ์ใหญ่อย่าง เดียว พบจารึกลานเงิน กล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง พบคาถาและวิธีการในการสร้างพระเครื่อง เล่ากันว่าทรงนำไป สร้างสมเด็จวัดระฆังอันศักดิ์สิทธิ์ ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศักราช 2490 ที่กรุทุ่งเศรษฐี มียอดเจดีย์หัก พบพระซุ้มกอจำนวนมากมีอักขระ อุ นะ อุ แบบเชียงแสน พระพักตร์และสีเนื้องดงามมาก

พระกำแพงซุ้มกอ มีหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์คะแนน คำนิยามสำหรับพระซุ้มกอว่า มีกูไว้แล้วไม่จน ส่วนพระพุทธคุณ ของพระกำแพงซุ้มกอ คือ เป็นยอดทางเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ โชคลาภเป็นสิริมงคล ไม่มี สิ่งใดทำลายล้างได้

วิธีใส่ราหนึ่งในกระบวนการทำให้ดูคล้ายพระเก่า
เรียนรู้เรื่องพระเครื่องนครชุม

ในปัจจุบัน สำหรับคนที่ไม่ใช่เซียนพระ หรืออยู่ในวงการพระเครื่อง อาจจะหาชมพระเครื่องของเมืองนครชุมได้ยากเสียหน่อย แต่หากว่ามาที่ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม ก็จะได้เห็นพระเครื่อง รวมถึงกระบวนการทำพระเครื่องให้เหมือนกับของเก่าอีกด้วย

แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ เริ่มต้นขึ้นมาจาก สมหมาย พยอม ผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองนครชุม และคลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่อง ด้วยความที่มีใจรัก จึงศึกษาและจดจำวิธีการทำพระเครื่องจากช่างพระเครื่องในกำแพงเพชร แล้วนำมาทดลองทำพระซุ้มกอได้เป็นอันดับแรก

ในปี พ.ศ.2551 ก็ได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องวิธีการทำพระเครื่อง ซึ่งภายในแหล่งเรียนรู้ก็จะมีสมาชิกที่คอยสาธิตกระบวนการทำพระเครื่องในขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ชม

สำหรับการทำพระเครื่อง หรือพระพิมพ์นั้น เริ่มจากการนำดินที่ได้มาทุบ แล้วหมักไว้ 1 คืน จากนั้นก็นำดินมานวดให้นิ่มพอดี ไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ถัดมา ให้นำแป้งมาโดยที่แม่พิมพ์พระ เพื่อที่เวลากดดินลงกับแม่พิมพ์แล้วดินจะได้ไม่ติดกับแม่พิมพ์ และสามารถนำดินออกมาได้ง่าย โดยแม่พิมพ์พระที่ใช้ก็ได้มาจากการจำลองจากพระเครื่องนครชุมของแท้ ที่เป็นของเก่าของแก่ จึงทำให้พระพิมพ์ที่ทำออกมานั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับของเก่ามากทีเดียว

พระพิมพ์ที่ใส่คราบเรียบร้อยแล้ว
เมื่อกดดินลงกับแม่พิมพ์จนดินขึ้นเป็นรูปแล้ว ก็นำออกมาใส่ถาด พึ่งลมไว้ในร่มประมาณจนแห้ง และนำออกตากแดดให้แห้งสนิท ต่อด้วยการนำพระไปเผาที่เตาประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องคอยเติมถ่าน และควบคุมไม่ให้ไฟแรงเกินไป ครบกำหนดเวลาแล้วก็นำพระออกจากเตา นำมาวางเรียงเพื่อใส่รา ใส่คราบพระ สุดท้ายให้นำใบตองแห้งของกล้วยน้ำว้ามาขัด ก็จะได้พระเครื่องนครชุมที่ดูคล้ายของเก่าแก่

พระเครื่อง หรือพระพิมพ์ ที่ได้มานั้น ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาตั้งแต่ความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน จนมาถึงกระบวนการทำพระในสมัยนี้ ที่ยังคงความงามตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาวไทย และยังคงสืบสานพุทธศิลป์ที่สวยงามนี้ไว้ต่อไป

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม ตั้งอยู่ที่ 066 หมู่ 3 ซอยชากังราว ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เปิดให้เข้าศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ โดยสามารถติดต่อได้ที่ 08-9641-2543 ทางศูนย์เปิดบริการทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น