...+

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กำเนิดพระพุทธศาสนามหายาน

ความเลื่อมใสความเคารพอย่างสูงในองค์พระพุทธเจ้า ทำให้คนทั้งหลายไม่อยากคิดในทางที่ว่า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นหมายถึงความดับสูญสลาย อยากจะให้พระพุทธเจ้ายังมีอยู่เป็นอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องที่ยกเอาพระธรรมขึ้นมาแทนพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องที่จะให้คนทั้งหลายยอมรับนั้นเป็นการยากเหลือเกินสำหรับปุถุชน เราได้เห็นมาแล้วว่า ในประเทศอินเดียนั้น ความคิดความต้องการของคนเรานั้น มีความสำคัญในการตั้งหลักศาสนาเป็นอันมาก
เราจะเห็นได้ เช่น ในยุคพราหมณะ พราหมณ์ได้สร้างพระพรหมที่เรียกว่า ปรพรหม ให้ไม่มีเนื้อ มีตัวมีตนนั้น พระพรหมมีลักษณะเป็นจิต และจิตก็ไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์เป็นนามธรรม เมื่อเทพเจ้าคือพระพรหมมีลักษณะเป็นจิต การบวงสรวงบูชาเพื่อขอให้อำนวยผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามวิสัยของพวกปุถุชนย่อมไม่สามารถกระทำได้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ก็ไม่เป็นที่ชอบใจพอใจของคนทั่วไปเท่าใดนัก คนไม่เห็นด้วย เพราะไม่สามารถจะบูชาปรพรหมซึ่งเป็นสภาวธรรมนั้นได้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
ดังนั้น เพื่อให้ตรงกับความประสงค์และรสนิยมของประชาชน พราหมณ์จึงดัดแปลงแก้ไขเรื่องพรหมอีกนิดหน่อย แก้ไขจากปรพรหมมาเป็น อปรพรหม อปรพรหมก็คือพรหม หรืออิศวร เป็นเทพเจ้าที่มีตัวมีตน ไม่เป็นนามธรรมเหมือนอย่างปรพรหม สามารถจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เคารพบูชาได้ พวกพราหมณ์นั้นฉลาดปรับปรุงพระเจ้าให้ทันสมัยใหม่อยู่เสมอ แล้วจึงประกาศแก่ประชาชนว่า ความจริงพระพรหมนั้นมีตัวตนและมีถึง ๔ หน้า ๘ กร สามารถมองดูทิศทั้ง ๔ ได้ในเวลาเดียวกัน และดูความเป็นไปของชาวโลกได้ทุกหนทุกแห่งพร้อมกันได้ ช่วยชาวโลกได้มากกว่า เมื่อพระพรหมมีตัวตน และยังมีถึง ๔ หน้าอีก แถมยังไม่มีภรรยา ไม่ยุ่งเกี่ยวข้องด้านกามารมณ์เหมือนพระอินทร์ ประชาชนต่างก็นิยมชมชอบพอใจ แนวความคิดของพราหมณ์ที่สร้างพระพรหมเป็นที่พอใจของประชาชนนี้เอง ทำให้ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลเหนือจิตใจของชาวอินเดียอย่างไม่เสื่อมคลาย
ขบวนการของการเคลื่อนไหวพระพุทธศาสนามหายานก็เป็นเช่นเดียวกัน ความต้อง การไม่อยากเห็นพระพุทธเจ้าดับสูญมีกำลังแรงมาก แรงจนกระทั่งแม้เมื่อก่อนที่จะแตกแยกออกเป็นมหายาน ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนา ก็ต้องคิดหาวิธีการที่จะทำความพอใจให้แก่คน ลงท้ายก็ต้องสร้างลัทธิขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้านั้นมิได้มีองค์เดียว แต่ยังมีอีกหลายพระองค์ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า จึงได้เกิดมีพระพุทธเจ้าในอนาคตขึ้น พระพุทธศาสนาได้ดัดแปลงอนุโลมตามความต้องการของประชาชนด้วยการคิดเรื่องราว ในพระพุทธศาสนาว่าจะมีสิ่งใดที่พอจะแก้ไขได้ เพื่อสนองความเชื่อถือดังกล่าว มหายานได้คิดหลัก "โพธิจิต" ขึ้นคือ การที่คนเราจะมุ่งไปสู่พุทธภูมิได้นั้น จำต้องบำเพ็ญพระโพธิญาณ คือการกระทำตัวให้เป็นโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และสิ่งจำเป็นที่สุดที่พระโพธิสัตว์ต้องปฏิบัติก็ได้แก่ ความเมตตากรุณาในการโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระโพธิสัตว์จึงต้องสะสมบารมีต่าง ๆ ในแต่ละชาติเพื่อมุ่งหวังพุทธภูมิเป็นจุดหมายปลายทาง
ฉะนั้น เมื่อบุคคลใดเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะกราบอ้อนวอนพระเจ้าของศาสนาพราหมณ์ให้ช่วย ก็เปลี่ยนมาเป็นบูชาขอให้พระโพธิสัตว์ช่วย เนื่องจากพระโพธิสัตว์ประกอบด้วยมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด
เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ นิกายมหายานต้องการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในเวลานั้นศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมามาก ลัทธิมหายานจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ นิกายมหายานจึงเกิดขึ้นตามสถานการณ์บังคับให้เกิด
พระเถระองค์สำคัญ ๆ ที่เป็นทัพหน้าในสมัยนั้น ก็ได้แก่ พระอัศวโฆษ ซึ่งเป็นผู้แต่งคัมภีร์มหายานศรัทโธปาทศาสตร์ และต่อมา พระนาคารชุนก็เป็นองค์ที่สำคัญที่สุดที่ตั้งนิกายมหายานจนสามารถเป็นนิกาย ที่ทรงอิทธิพลมาก และได้แต่งหนังสือชื่อ ปรัชญามาธยมิกศาสตร์ หนังสือเล่มนี้ได้รวมเอาปรัชญาของนานานิกายในพุทธศาสนาไว้ด้วย

ทฤษฎีเรื่องตรีกาย
ในความเห็นของฝ่ายมหายานนั้นพระพุทธเจ้าเป็นทิพยภาวะ มีภาวะความเป็นอยู่คู่กับโลกเสมอ อย่าคิดว่าการปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นภาวะขาดศูนย์โดยสิ้นเชิง การปรินิพพานของพระองค์เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้านั้นเป็นอนาทิ เป็นอนันตะ ด้วยความเชื่อดังกล่าวพระพุทธเจ้าของมหายานจึงปรากฏมีพระกาย ๓ ลักษณะ ซึ่งเรียกกันว่า ตรีกาย คือ
๑. สัมโภคกาย คือพระกายที่เป็นทิพยภาวะ ประทับอยู่ ณ พุทธเกษตรของพระองค์ ทรงแสดงพระสัทธรรมอยู่ในแดนอื่น ๆ พระพุทธเจ้าอาจมาปรากฏพระองค์แก่พวกเราได้
๒. นิรมานกาย คือพระกายที่ พระองค์นิรมิตขึ้นมา เป็นพระกายเนื้อที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ เช่น ความทรุดโทรมด้วยความชรา และความดับขันธ์ เป็นต้น เป็นพระกายที่ทรงนิรมิตมาเพื่อบำเพ็ญพุทธกิจ
๓. ธรรมกาย คือความตรัสรู้ธรรมคือพระนิพพานนั่นเอง

อุดมคติของมหายาน
มหายานนั้นมีปรัชญาชีวิต ในการช่วยขนสัตวโลกให้ข้ามพ้นสังสารทุกข์ โดยยึดหลักอุดมคติประจำใจอย่างสูงส่งอยู่ ๓ ประการ คือ๑
๑. มหาปรัชญา หรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่า จะต้องเป็นผู้มีสติปัญญารู้แจ้งสรรพสิ่งทั้งมวล ไม่ตกเป็นทาสของอธรรม
๒. มหากรุณา หมายความว่า จะต้องมีจิตเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะเสียสละตนเองทนทุกข์แทนสรรพสัตว์ เพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์และมหายานมีทัศนะต่อการบรรลุอรหันต์ว่า เป็นสิ่งคับแคบช่วยคนได้น้อย แต่มีโพธิจิตมุ่งพุทธภูมิมากกว่า เพราะกว่าจะถึงพุทธภูมิจะต้องบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือสัตว์โลก สร้างบารมี ทาน ศีล ความเพียรเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
๓. มหาอุปาย หมายความว่า พระโพธิสัตว์ต้องรู้จักอุบายที่ฉลาดในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ มีปฏิภาณรอบรู้ สามารถชักนำสัตว์โง่เขลาให้เข้าถึงสัจธรรม
อุดมคติของพระโพธิสัตว์ทั้งสามข้อนี้ นับเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกหมายถึงการบำเพ็ญประโยชน์ของตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ ส่วนสองข้อหลัง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เมตตาช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ และเป็นการสืบอายุพระศาสนาพร้อมทั้งเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้แพร่ หลาย
พระเถระผู้เป็นกำลังสำคัญของมหายาน
พระอัศวโฆษ พระเถระอัศวโฆษรูปนี้ เป็นชาวเมืองสาเกต และเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท เป็นจินตกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ท่านได้แต่งหนังสือเรื่อง "พุทธจริต" เป็นการพรรณนาถึงพุทธประวัตินั่นเอง นับเป็นแบบอย่างของวรรณคดีสันสกฤตในรุ่นหลัง นอกจากหนังสือพุทธจริตแล้ว พระอัศวโฆษยังได้แต่งหนังสืออิงหลักธรรมอีกหลายเรื่อง เช่น "เสาทรนันท์" เป็นหนังสือที่ชักชวนให้ประชาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาได้เป็นจำนวนมาก
พระนาคารชุน พระนาคารชุนมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เรียกว่าเป็นเพชรน้ำเอกของมหายานก็ว่าได้ ท่านเกิดในวรรณพราหมณ์ในอินเดียตอนใต้ มีความรอบรู้ทั้งเถรวาท และมหายาน เป็นอย่างดี พระนาคารชุนได้แต่งหนังสือเด่นมาก คือ "ปรัชญาปารมิตาสูตร" หนังสือวิสุทธิมรรคได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่ดีเยี่ยมของฝ่ายเถรวาท ฉันใด หนังสือปรัชญาปารมิตาสูตร หรือปรัชญามาธยมิกะ ของพระนาคารชุน ได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ที่ดีเยี่ยมของ ฝ่ายมหายานฉันนั้น
นิกายมหายานที่สามารถแพร่หลายอย่างกว้างขวางไปในชนทุกระดับชั้นได้อย่างรวด เร็วก็ด้วยอาศัยพระคณาจารย์องค์สำคัญ ๆ ที่เป็นผู้วางรากฐานของนิกายมหายานในสมัยเริ่มแรกก็มีอยู่ ๔ ท่านด้วยกัน คือพระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระอารยเทพ และพระกุมารลัพธะ และภายหลังก็ยังมีอีกหลายรูป เช่น พระชินบุตร พระวิชัยมิตร พระจันทรกีรติ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น