...+

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทำบุญอย่างมีสติเถอะครับ

วันนี้ขออนุญาตระบายความในใจให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายช่วยพิจารณาสักนิด
เรื่องของเรื่องก็คือระยะนี้เป็นช่วงออกพรรษา เป็นระยะที่สาธุชนคนศรัทธาในพระศาสนาต่างพากันเดินทางไปทอดกฐินตามวัดวาอารามอย่างที่เคยเป็นมาช้านาน
ปีนี้ยังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าค่าเงินบาทที่ถอยกรูดไปอีกหลายบาท ค่าน้ำมันถีบตัวขึ้นไปอีกหลายสตางค์ จนชาวพาราสารขันธ์ต่างกรอบเป็นข้าวเกรียบไปตาม ๆ กัน และด้วยเหตุการณ์เช่นนี้เชื่อว่า วัดวาอารามหลายต่อหลายวัดปีนี้จะไม่มีกฐินไปทอด โดยเฉพาะวัดเล็ก ๆ ที่ห่างความเจริญซึ่งโดยปกติก็หาคนไปทำบุญด้วยยากอยู่แล้ว
เรื่องที่ขอระบายให้ฟังก็คือ การก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนากับภาวะเศรษฐกิจเสื่อมโทรมสุดขีดในขณะนี้ กับการทำบุญขององค์กรใหญ่ ๆ ที่ดูเหมือนจะทำโดยมิได้ไตร่ตรองถึงผลลัพธ์ว่า ‘คุ้ม’ หรือ ‘ไม่คุ้ม’
เป็น เพราะที่ผ่านมาผู้เขียนกับคุณทมยันตีได้มีโอกาสตะลอน ๆ ไปตามวัดหลายต่อหลายแห่ง จึงทำให้เห็นความจริงข้อหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในหัวใจมาโดยตลอด ความจริงข้อนั้นคือ...
‘เงิน’...หรือ ‘ปัจจัย’ จากศรัทธาของชาวพุทธถูกใช้ไปกับสิ่งอันไร้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่าและน่าเสียดาย!

ครั้งหนึ่งเราถูกเชิญไปงานทอดผ้าป่าที่มีผู้ใกล้ชิดท่านหนึ่งเป็นประธานฯ เราเข้าไปในวัดเห็นศาลาหลังใหญ่ซึ่งน่าจะใช้งบการสร้างไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท แต่ศาลาถูกปิดทิ้งไว้ปล่อยให้หยากไย่ฝุ่นละอองเกาะหนา มีเพียงนก หนู...สุนัขและแมวเป็นผู้อาศัย...
โดยสรุปคือ...ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ทำขึ้น สำหรับเป็นผลงานในการขอเลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘ท่านพระครู’ ของท่านเจ้าอาวาส!
เรา เดินจากศาลาการเปรียญหลังงามที่ปิดตายเอาไว้เฉย ๆ ผ่านโบสถ์เก่า ๆ ที่มองปราดเดียวก็รู้ว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น ๆ โบสถ์งามด้วยศิลปะ เก่าด้วยอายุ แต่ถูกทิ้งร้างปล่อยให้ทรุดโทรมเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย
เราผ่านขึ้นไปยังกุฏิเจ้าอาวาสด้วยความรู้สึกหดหู่ และยิ่งหดหู่มากขึ้นเมื่อเห็นเศษสิ่งของโบราณ และพระพุทธรูปวางเกลื่อนกล่นเต็มไปหมด เพราะผู้เขียนมีความรู้ด้านวัตถุโบราณจึงแปลกใจว่า พระพุทธรูปสมัยอยุธยาไฉนจึงมาวางกองอยู่ตรงนี้มากมาย ถามไปถามมาจึงได้ความจากปากท่านเจ้าอาวาสเอง...
“ฉันฝันว่าเจดีย์เก่ามันล้ม...ฉันก็เลยรื้อลงเสียก่อน”
ครับ...เพราะ ท่านฝันท่านก็เลยรื้อเจดีย์เก่าสมัยอยุธยาในวัดของท่านลงเสีย เป็นเหตุผลที่เราสองคนนั่งมองตากันปริบ ๆ ศาสนสมบัติโบราณอันล้ำค่าถูกทำลายลง และหาทรัพย์มาสร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นแทนแล้วปล่อยร้าง...ให้หมาและแมวอาศัย
‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ลองคิดตรองดูเถิดครับ!

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ภูเตศวรได้พบกับพนักงานสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่ง คุยกันไปคุยกันมาก็ได้ความว่าปีนี้ทางธนาคารมีกฐินไปวัดใหญ่แถวลพบุรีที่ท่านเจ้าอาวาสเพิ่งได้รับตำแหน่งท่านเจ้าคุณมาหมาด ๆ
เราถึงบางอ้อ...เพราะวัดนี้เรารู้จัก เพราะท่านเจ้าอาวาสเคยขอให้เราช่วยสร้างศาลาการเปรียญโดยรื้อศาลาหลังเก่าทิ้ง หากหลังจากได้ไปดูแล้วเราคือผู้เขียน...คุณทมยันตีและคณะปฏิเสธที่จะช่วยดำเนินการ เพราะศาลาหลังเก่าเป็นศาสนสมบัติที่พระเถราจารย์สายกรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังสร้างไว้เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน และยังแข็งแรงใช้การได้เป็นอย่างดี เราจึงบอกกับท่านเจ้าอาวาสว่า...
‘...ควรบูรณะมากกว่าทุบทิ้งสร้างใหม่’
หนึ่ง...เพราะเป็นของเก่าที่ควรเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เห็น...สอง...เพราะของใหม่ใช้งบประมาณถึงสิบห้าล้านบาท และเงินสิบห้าล้านบาทในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ไม่ควรเรี่ยไรชาวบ้าน
วันนั้นท่านรับฟัง...หากเมื่อผ่านไปสองปี มาถึงวันนี้ กฐินของธนาคารใหญ่จะได้ปัจจัยเข้าวัดเป็นล้าน ๆ บาท งานทุบทิ้งศาลาการเปรียญดังกล่าวกำลังจะอุบัติ งานสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่กว่า ๒๐ ล้านบาทกำลังจะเริ่มต้น
เราเลยได้แต่ถอนใจกับความจริงที่กำลังจะปรากฏขึ้นในไม่ช้า...เงินที่กำลังหายากกำลังถูกละลายทิ้งโดยเหตุผลสองข้อของ ‘พระ’ กับ ‘โยม’
พระทำเพื่อยศถาบรรดาศักดิ์
โยม...ทำเพื่อเอาหน้า!
เรานึกถึงวัดเล็ก ๆ ในถิ่นทุรกันดาร...กุฏิหลังคามุงแฝก ศาลาโย้เย้จนไม่มีที่ให้พระสวดมนต์ พระนั่งรอโยมมาทำบุญเพียงเพื่อซื้อสังกะสีมาซ่อมรอยรั่วหลังคาให้พอได้อาศัย แต่วัดใหญ่รื้อศาลาที่ครูบาอาจารย์สร้างไว้ลง แล้วระดมทุนเป็นสิบ ๆ ล้านมาสร้างใหม่...
ภาพอย่างนี้ช่างขัดแย้งกันเหลือเกิน!
พุทธศาสนาสอนเราให้มองดูจิต...รักษาใจ พระบรมศาสดาทรงละทิ้งโลก...ละทิ้งสมบัติลงประทับใต้โคนต้นไม้ เฉกนั้นศาลาหลังใหญ่วัดอันโอ่โถงจึงมิใช่หนทางก้าวสู่มรรคผล...อะไรเกินตัว อะไรที่มากเกินตนมิใช่หลักแห่ง ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ ของศาสนาพุทธ
‘สงฆ์ต้องสงเคราะห์สงฆ์ด้วยกัน’ ประโยคนี้มีอยู่ในพระวินัยของพระบรมศาสดา และทิ้งไว้ให้สาวกได้ประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น วันนี้อยากจะถามพระที่อยู่วัดใหญ่ ๆ มียศถาบรรดาศักดิ์ทุกท่านว่า...ควรหรือไม่ที่จะแบ่งปันและเจือจานความมั่งมี ความอุดมสมบูรณ์ไปสู่พระผู้น้อย ไปให้วัดที่ยากจนในเขตทุรกันดารบ้างหรือไม่
อย่างน้อยก็เป็นบุตรแห่งพระตถาคตด้วยกัน!
ถึงตรงนี้อยากบอกกับท่านทั้งหลายว่าการทำบุญทำทานในพุทธศาสนา ท่านกล่าวได้อย่างชัดเจน ‘ทำบุญก็ต้องมีสติ’ ต้องทำด้วยจุดเป้าหมายที่ว่า...สามารถยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ได้มากที่สุด มิใช่ทำแล้วเหมือนเอาน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่เสมอ

ท้ายที่สุดในวันนี้ อยากย้ำความเก่าอีกครั้ง ในเรื่องความเสื่อมของศาสนาพุทธ...โดยพุทธพจน์ที่ว่า...
‘ศาสนาของเราตถาคตมิได้เสื่อมเพราะภัยภายนอก แต่จะเสื่อมจากภัยภายใน อันเกิดจากพุทธบริษัทนั่นเอง’
ครับ...ถ้าพุทธบริษัทอันมี พระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ทำสิ่งใดโดยปราศจากสติ...
ความเสื่อมจักมาเยือนพุทธศาสนาโดยแท้
โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่กับโยมที่มีอำนาจวาสนา แต่ทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลมากกว่าสนองตัณหาของตนเอง
อย่าให้ผู้น้อยกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น