...+

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดลับนักเขียนมืออาชีพ “เขียนอย่างไร จึงถูกใจผู้อ่าน”

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านครั้งที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2553 เสวนาเรื่อง “เขียนอย่างไร จึงถูกใจผู้อ่าน” โดยนักเขียนชุด “บ้านไร่ ปลายฝัน” เจ้าของผลงานชื่อดัง 4 หัวใจ แห่งขุนเขา คุณมนต์ชัย ศิริลัทพร จากเรื่อง ดวงใจอัคนี, คุณฉัตรารัศมิ์ แก้วมรกต จากเรื่อง ปฐพีเล่ห์รัก และคุณทิพยวไลย์ สุพันธุ์วณิช จากเรื่อง วายุภัคมนตรา
มนต์ชัย กล่าวว่า โดยปกติแล้วงานประจำของผมคือ วิศวกร ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเลขเมื่อเกิดความเครียดจากงาน "การเขียนหนังสือจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราหลุดออกจากความเครียด สามารถปลดปล่อยตัวเองได้เต็มที่ ทั้งนี้การเขียนนวนิยายต้องแบ่งเรื่องเป็นตอนๆ แต่สามารถหยิบส่วนไหนมาเล่าเรื่องก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเล่าจากหนึ่งถึงสิบ อาจจะเล่าจากห้าแล้วย้อนไปหนึ่งแล้วมาจบที่สิบ หรือจะเริ่มจากที่สิบแล้วค่อยกลับมาเล่าย้อนเรื่องเก่า จากนั้นค่อยมารวมกันเป็น 1 เรื่อง"

ด้าน ฉัตรารัศมิ์ กล่าวว่า นักเขียนไม่ได้ตั้งเป้าแน่นอนว่าเรื่องที่เขียนจะจบเมื่อไหร่ แต่เราต้องรักษาเวลาตามที่สำนักพิมพ์กำหนด บรรณาธิการจะพูดเสมอว่าใน 1 ปี นักเขียนควรออกหนังสืออย่างน้อย 2 เล่ม "เราต้องมีการวางแผนการทำงาน เมื่อมีความเชี่ยวชาญแล้วก็จะเรียนรู้กระบวนการเตรียมตัวเพื่อเขียนงานได้เร็วขึ้น การเรียงลำดับความคิดในการเขียน โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่สัญชาตญาณของนักเขียนเป็นหลัก อาจจะมีการลำดับเรื่องราวโดยการการย้อนไปย้อนมา แต่สุดท้ายนักเขียนต้องสมมติตนเองให้เป็นผู้อ่าน แล้วถามตัวเองว่าวิธีเล่าเรื่องของเราสนุกหรือเปล่า เพราะบางครั้งการเล่าที่เรียงจากหนึ่งถึงสิบ อาจจะไม่ท้าทาย ไม่สนุก เราอาจจะหยิบเก้ามาเล่าก่อน ซึ่งตรงจุดนี้มันเป็นเทคนิคการเรียงลำดับเรื่องราวของแต่ละคน"

ขณะที่ทิพยวไลย์ กล่าวว่า การเป็นนักเขียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนเก่งหรือไม่เก่ง แต่เมื่อใดก็ตามที่เราลงมือเขียนงานในทางที่เป็นของตนเอง ให้มั่นใจว่าทุกคนเขียนได้ "การเขียนเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือทำ หากไม่ทดลองมันก็ไม่สำเร็จ หากใครยังไม่เคยลงมือเขียนมาก่อนควรเริ่มจากการเขียนงานที่เป็นแนวทางของตนเอง บางคนอาจจะเหมาะกับนิยาย บางคนอาจะเหมาะกับบทความ เรื่องสั้น หรือสารคดี ซึ่งแต่ละคนต้องหาตัวตนให้เจอว่าเหมาะกับแนวไหน ในอนาคตหากมีโอกาสเป็นนักเขียนมืออาชีพ ถึงจะมาย้อนดูว่าคนอ่านน่าจะมีกระแสไปทางไหน อย่างไรก็ตามการเขียนนวนิยายที่ดี ผู้เขียนจำเป็นต้องมีเรื่องย่อ ทำความเข้าใจในพล็อตเรื่องของเราให้ดี บรรณาธิการจะสอนเสมอว่า เราต้องพยายามจำเรื่องย่อให้แม่นยำ และเริ่มคิดว่าจะแบ่งเรื่องราวเป็นตอนๆ ได้อย่างไร ซึ่งหากหาวิธีเริ่มในบทที่หนึ่งเจอ ผู้เขียนจะรู้ทันทีว่าจะเขียนต่ออย่างไร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น