...+

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อคติ

โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลสย่อมจะมีอคติด้วยกันทุกคน เพราะมนุษย์เราเมื่อจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุทำให้ความไม่ถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก
1. ความหมายและประเภทของอคติ
อคติ แปลว่า ทางความประพฤติที่ผิด หมายถึง ความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม พระพุทธศาสนาแบ่งอคติออกเป็น 4 ประเภท ตามพื้นฐานแห่งจิตใจ คือ
1) ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะรักหรือชอบ หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรม เพราะอ้างเอาความรักหรือความชอบพอกัน ฉันทาคติมักเกิดกับตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน คนใกล้ชิด และพวกพ้อง ความรักหรือความชอบที่มีต่อบุคคลเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้เรากลายเป็นคนมีอคติได้ เช่น ถ้าเด็กสองคนทะเลาะกัน พ่อแม่ของเด็กทั้งสองก็มักจะเข้าข้างลูกของตนเองเชื่อไว้ก่อนว่าลูกของตนเองเป็นฝ่ายถูก โดยไม่รับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง นี่เป็นความลำเอียงเพราะรัก
2) โทสาคติ คือความลำเอียงเพราะเกลียดชัง ไม่ชอบ หรือโกรธแค้น หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เกิดเสียความยุติธรรม เพราะเกลียดชัง โกรธ หรือทะลุอำนาจโทสะ โทสาคติมักจะเกิดกับคนที่เราเกลียดมาก ๆ เช่น คู่แข่ง ศัตรู หรือคนที่เคยทำให้เราเจ็บใจ ทำให้เราเสียผลประโยชน์ บุคคลเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เราเป็นคนลำเอียงได้โดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าทหารทะเลาะกันกับตำรวจ คนขับรถรับจ้างมักจะเข้าข้างทหารไว้ก่อน เพราะคนขับรถถูกตำรวจเขียนใบสั่งบ่อย ๆ นี่เป็นความลำเอียงเพราะไม่ชอบหน้ากัน
3) โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความหลงผิด หรือความเขลา หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรมเพราะความไม่รู้ โมหาคติมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องมาจากความสะเพร่า ความไม่ละเอียดถี่ถ้วน รีบตัดสินใจโดยยังมิได้พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน จึงเป็นสาเหตุทำให้คนผิดกลายเป็นคนถูก คนถูกกลายเป็นคนผิด ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เช่น ผู้ชายสองคน คนหนึ่งแต่งตัวดี ดูภูมิฐาน หน้าตาหล่อเหลา อีกคนหนึ่งนุ่งกางเกงยีนส์เก่า ๆ เสื้อผ้าขาด ๆ ดูโทรม ๆ ไม่น่าไว้วางใจ คนเฝ้าบ้านไว้ใจผู้ชายคนแรกมากกว่าผู้ชายคนหลัง และยอมเปิดประตูบ้านให้เข้าไปนั่งในห้องรับแขก ผู้ชายคนดังกล่าวกลายเป็นโจรผู้ร้าย นี่เป็นความลำเอียงเพราะความเขลา
4) ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะความกลัว หมายถึง การทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม หรือการทำให้เสียความยุติธรรม เพราะมีความหวาดกลัว หรือเกรงกลัวภยันตราย ความกลัวมีหลายรูปแบบ เช่น ความกลัวภัยอันตรายมาถึงตนหรือครอบครัว กลัวเสียหน้า กลัวคนเกลียด กลัวจะได้สิ่งที่ไม่ต้องการ เป็นต้น ความกลัวเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาสองคน คนหนึ่งเป็นลูกของพ่อค้าขายของชำ อีกคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าพ่อมีอิทธิพลเลี้ยงนักเลงไว้มาก ทั้งสองคนทำผิด คนแรกถูกผู้บังคับบัญชาไล่ออกจากงาน ส่วนคนหลังยังคงทำงานต่อไป ไม่มีการลงโทษใด ๆ นี่เป็นความลำเอียงเพราะหวาดกลัวอิทธิพลมืด
2. แนวทางปฏิบัติเพื่อชีวิตและสังคม
มนุษย์เราชอบความยุติธรรม รักความซื่อสัตย์ และเกลียดชังความลำเอียง แต่การที่เราจะสร้างความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ และหลีกเลี่ยงความลำเอียงได้นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก วิธีเดียวที่ทำได้ คือ การฝึกฝนจิตใจให้หนักแน่น โดยยึดหลัก การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราเกลียดชังความลำเอียงหรือความอยุติธรรมอย่างไร คนอื่นก็เกลียดชังความลำเอียง ความอยุติธรรมเช่นเดียวกับเรา อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขข้ออคติแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน ดังนี้
1. ฉันทาคติ แก้ไขโดยการฝึกทำใจให้เป็นกลาง โดยการปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมาะสมเหมือนกัน ต้องไม่ประมาท ไม่เผลอ และต้องมีสติอยู่เสมอว่ากำลังทำอะไรกับใคร
2. โทสาคติ แก้ไขโดยการทำใจให้หนักแน่น ใจเย็น ไม่วู่วาม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามแยกเรื่องส่วนตัวกลับเรื่องงานออกจากกัน
3. โมหาคติ แก้ไขได้โดยการเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้สงบ มองโลกในแง่ดี ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และต้องศึกษาสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องให้ดี
4. ภยาคติ แก้ไขได้โดยการพยายามฝึกให้เกิดความกล้าหาญ โดยเฉพาะความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ กล้าคิด กล้าพูด และกล้าพูดในสิ่งที่ดีงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น