...+

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศาสนา vs บริโภคนิยม

มนุษย์มีลักษณะพิเศษคือเป็นสัตว์สังคม โดยในสังคมมนุษย์นั้นมีวัฒนธรรมกระแสหลักที่ทั้งขับเคลื่อนและควบคุม รวมทั้งสร้างลักษณะของแต่ละสังคมมาเนิ่นนาน วัฒนธรรมกระแสหลักเหล่านี้ได้แก่ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งก่อให้เกิดระเบียบสังคม ระบบเศรษฐกิจและระบอบการเมืองการปกครอง ในบรรดาวัฒนธรรมกระแสหลักนี้ ศาสนา.ถือว่าเป็นทั้งสถาบันและอุดมการณ์ที่มนุษย์สังกัดและยึดเหนี่ยวมานานที่สุด ความเชื่อในคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกันมาอย่างยาวนาน ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิดที่ซับซ้อน ความคิดที่ซับซ้อนดังกล่าวด้านหนึ่งก็ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอด แพร่พันธุ์ และสร้างสังคมที่ซับซ้อนกว้างใหญ่ได้ แต่ในเวลาเดียวกันความคิดที่ซับซ้อนก็ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญความไม่สงบสุขที่เกิดจากการยึดติดในอัตตา หรือความเป็นตัวตน เพราะอัตตานั้นสามารถถูกกระทบกระทั่ง ถูกขัดขวาง เกิดความรู้สึกพร่อง (Sense of lack) และเสื่อมสลายได้
ด้วยเหตุที่ปัญหาใหญ่ของมนุษย์ คือ ดิ้นรนใฝ่หาความมั่นคงในตัวตน ศาสนาจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทั้งอุดมการณ์และสถาบันอันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ให้มนุษย์ได้ยึดเหนี่ยวเพื่อเยียวยาและบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับตัวตน ทั้งในระดับพื้นผิว เช่น การกลัวความโดดเดี่ยว การไม่ได้รับการยอมรับ และในระดับลุ่มลึกซับซ้อน เช่น การกลัวความไม่ยั่งยืนของตัวตน เป็นต้น
จวบจนปัจจุบัน เราจะสังเกตได้ว่า ศาสนาซึ่งเคยกระแสหลักได้แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กระแสบริโภคนิยมที่เป็นกระแสใหม่กลับโหมรุนแรง กลายเป็นทางเลือกใหม่ในการตอบสนองอัตตาของมนุษย์ เนื่องจากบริโภคนิยมมีลักษณะพิเศษที่เปี่ยมเสน่ห์ ดึงดูดใจให้ลุ่มหลง สามารถให้ความสุข ความสนุกของผู้คนได้อย่างรวดเร็วทันใจ
กล่าวได้ว่า ในยุคนี้ยากจะมีอุดมการณ์ใดที่มีอำนาจและมีพลังน่าเกรงขามเท่าเทียมพลังแห่ง ‘บริโภคนิยม’ ซึ่งทำหน้าที่ปรนเปรอตัวตนได้ตามกิเลสปรารถนา ตั้งแต่ความสะดวกสบาย ความสุข ความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ จนถึงความสามารถในการสนองตอบความต้องการมีตัวตนใหม่ ด้วยการช่วยสร้างภาพลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับ และเนื่องจากมนุษย์ต้องการประกาศตัวตนให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นจึงอาศัยการบริโภคเป็นเครื่องแสดงตัวตน
กระแสบริโภคนิยมเริ่มต้นและเติบโตพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถผลิตวัตถุตอบสนองเกินกว่าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นกระแสที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่ท้าทายอุดมการณ์หลักต่างๆ ที่กล่าวมา แต่ยังมีความสามารถในการรุกรานและแทรกซึมให้อุดมการณ์หลักเหล่านั้นยอมรับ คล้อยตาม มีการปรับตัว จนต้องรับการบริโภคนิยมเข้าผสมผสาน และเพิ่มระดับมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสหลักไปแล้วในทุกวันนี้
หากเปรียบระหว่างศาสนาและบริโภคนิยมในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า กระแสบริโภคนิยมมีพลังแรงในการกัดกร่อนความเชื่อในคำสอนของสถาบันศาสนาที่เคยเป็นสิ่งยึดเหนียวจิตใจอันดับแรกๆ ของมนุษย์มาโดยตลอด ทำให้ศาสนาเสื่อมโทรม อ่อนแอลง จนมีบทบาทน้อยมากในสังคม
แต่ที่น่าห่วงมากกว่านั้นก็คือ ศาสนาเองเริ่มมีการปรับตัวที่ผิดทิศทาง จากที่เคยเป็นเพียงคู่แข่งของบริโภคนิยม บัดนี้เริ่มเห็นได้ชัดว่า บางครั้งศาสนาก็ติดกับดัก กลายเป็นเครื่องมือรับใช้ให้แก่ลัทธิบริโภคนิยมที่กำลังเติบใหญ่ ขณะที่กระแสความศรัทธาในสถาบันศาสนาอ่อนแรงแผ่วลง กระแสบริโภคนิยมกลับมีความกล้าแกร่งมากขึ้นตามลำดับ
ทั้งศาสนาและบริโภคนิยมนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การแย่งชิงพื้นที่ในสังคมและในจิตใจของมนุษย์ มนุษย์นั้นจำต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หลายคนเลือกยึดเหนี่ยวอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ในขณะที่จำนวนไม่น้อยเลือกผสมผสานทั้งสองอุดมการณ์ในสัดส่วนที่มากน้อยแตกต่างกันไป แต่บ่อยครั้งอุดมการณ์เหล่านั้นก็ครอบงำมนุษย์ไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นปัจเจกบุคคลที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจึงไม่อาจรู้เท่าทันในอิทธิพลดังกล่าว
ในอดีตมนุษย์เข้าหาศาสนาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยว หาหลักพึ่งพิงทางจิตใจเพื่อคลายความรู้สึกไม่มั่นคง รวมทั้งปรารถนาความสงบและความมั่นคงในจิตใจ นอกเหนือจากความรู้สึกปลอดภัยจากสิ่งคุกคามภายนอก มนุษย์ยังต้องการความรู้สึกเต็มอิ่ม มั่นคง ปลอดจากความขุ่นมัว ปราศจากความรู้สึกพร่องภายในจิตวิญญาณที่คอยผลักดันให้ดิ้นรนแสวงหา ในอดีตศาสนาสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ ทำให้ศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก
ต่อมาเมื่อโลกพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านการผลิตและเทคโนโลยี บริโภคนิยมที่เคยเป็นเพียงกระแสเล็กๆ ก็เติบใหญ่โดยอาศัยความสุขและความสะดวกสบายทางวัตถุ เป็นสิ่งดึงดูดผู้คน โดยมีระบบการค้าแบบตลาดเสรี (Free Market) เป็นเครื่องมือสนับสนุน จนผู้คนเกิดความเชื่อว่าความสุขเกิดจากวัตถุ ยิ่งมีวัตถุในครอบครองมากเท่าไร ก็มีความสุขมากเท่านั้น อีกทั้งยังเชื่อว่าอิสรภาพในการบริโภคจะทำให้เกิดอิสรภาพในชีวิตและอิสระในทางจิตใจด้วย
ทุกวันนี้ มนุษย์หันเหจากศาสนาที่แม้จะสามารถตอบสนองและช่วยเยียวยาความรู้สึกพร่องของตัวตนได้อย่างยั่งยืนกว่า หันมาหลงใหลในกระแสบริโภคนิยม ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงที่ให้ความสะดวกสบาย สร้างความสุข สนุกสนานอย่างรวดเร็วทันใจ ใช่แต่เท่านั้นบริโภคนิยมยังทำให้ผู้คนเชื่อว่า ถ้าตนมีสิ่งเสพ สิ่งบริโภค หรือโภคทรัพย์มากๆ ไม่เพียงมีหน้ามีตาและมีชีวิตที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังช่วยบรรเทาความรู้สึกพร่องในจิตใจ ทำให้รู้สึกเติมเต็มภายใน เช่นเดียวกับการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา แต่หากพิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยวิถีบริโภคนิยมเป็นการแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเพียงระดับกายภาพเท่านั้น ไม่สามารถเติมเต็มความพร่องของจิตวิญญาณได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นการดิ้นรนแสวงหาสิ่งเสพตามกระแสกลับยิ่งทำให้ผิดหวัง คับข้องใจ เพิ่มปัญหามากขึ้น เพราะการอยากได้ อยากมี ทั้งวัตถุสิ่งเสพและลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่เคยทำให้ใครรู้สึกพออย่างแท้จริง ทำให้อยากได้ไม่สิ้นสุด ถูกรุมเร้าด้วยความทุกข์ ด้วยเหตุนี้การเสพตามกระแสบริโภคนิยมนั้นจึงไม่สามารถเยียวยาปัญหาในจิตใจส่วนลึกของมนุษย์ได้
ธรรมะช่วยปรับสมดุลและทำให้เป็นอิสระจากบริโภคนิยม
มีความจริงประการหนึ่งที่เราจะต้องยอมรับ คือ ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมือง เราไม่อาจหลีกหนีไปจากกระแสบริโภคนิยม หรือแม้แต่จะทัดทานกระแสที่กำลังไหลบ่าอย่างรุนแรงนี้ก็ยังทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้ก็คือการมีสติรู้เท่าทันในโทษและมนต์สะกดของบริโภคนิยมนี้ ว่าหากใครยิ่งหลงยึดเหนี่ยว จะยิ่งบังเกิดความไม่มั่นคงและเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง
มนุษย์ผู้มีสติปัญญาควรตระหนักถึงโทษภัยที่แฝงมากับสีสันและความบันเทิงเริงใจ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ต้องรู้จักรักษาใจมิให้ถูกหลงไปกับกระแสบริโภคนิยม ทั้งนี้ด้วยการเลือกบริโภค รู้จักปรับตัว ทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ โดยการปฏิบัติตามธรรมะหรือคำสอนของศาสนาเพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อบริโภคนิยม หรือเพื่อให้เป็นอิสระจากภัยของบริโภคนิยม เพื่อเราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์
มีธรรมะ 4 ประการที่จะช่วยให้เกิดภูมิต้านทานในจิตใจ เพื่อเป็นอิสระจากบริโภคนิยม ได้แก่
1. สันโดษ หมายถึง ความพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้
หากขาดความสันโดษ ไม่ว่าได้เท่าไรก็ยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง ดังมีเรื่องเล่าว่าชายผู้หนึ่งเมื่อได้ทราบว่าคุณป้าคนหนึ่งได้กำไรจากขายหุ้นไปเมื่อ 2-3 วันก่อนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้าน เขาจึงแสดงความยินดีต่อคุณป้า แต่คุณป้ากลับบอกว่า ยินดีอะไรกัน หากฉันขายหุ้นวันนี้ ฉันจะได้กำไรถึง 20 ล้านแล้ว ปรากฏว่าวันต่อมาคุณป้าผู้นี้ไม่ได้ไปตลาดหุ้นเหมือนเคย เมื่อสอบถามโบรคเกอร์ ก็ได้คำตอบว่า คุณป้าเครียดกับเรื่องนี้จนป่วยถึงกับเข้าโรงพยาบาล
อีกตัวอย่างของความไม่สันโดษที่มักจะเกิดขึ้นและรบกวนจิตใจของผู้คนก็คือ ก็คือความทุกข์เมื่อซื้อของแพงกว่าคนอื่น ของราคา า 1,000 บาท หากเราต่อราคาได้ 500 บาท เราย่อมดีใจ แต่ทันทีที่รูว่าเพื่อนซื้อของอย่างเดียวกัน แต่ต่อได้ 300 บาท เราจะเป็นทุกข์ทันที ทำไมเราถึงทุกข์ทั้ง ๆ ที่ซื้อของได้ถูกกว่าราคาขายถึง ๕๐๐ บาท ก็เพราะว่าเห็นคนอื่นซื้อได้ถูกกว่าเรา ความไม่พอใจสิ่งที่มี ไม่ยินดีสิ่งที่ได้ทำให้ผู้คนมีความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า ขาดสันโดษ
2. สามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงกับวัตถุ กล่าวคือ มีความสุขจากการทำดี ทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ทำสิ่งที่ตนรัก มีความสุขจากการได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งรวมถึงความสุขจากสมาธิภาวนา เหล่านี้เรียกรวมว่า ความสุขที่ไม่อิงวัตถุ คนเราถ้ามีความสุขแบบนี้ แม้เราได้น้อย มีน้อย เราก็ไม่ทุกข์
ถ้าเรารู้จักแต่ความสุขที่เกิดจากวัตถุ เราจะพึ่งพิงแต่วัตถุ และต้องดิ้นรนหาวัตถุมาให้ได้มาก ๆ เพื่อจะมีความสุข ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นทาสของวัตถุและเงินตรา ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตที่สงบเย็น รู้จักพอ และมีความสุขอย่างแท้จริงได้เลย
3. มีสติ เป็นสิ่งกำกับในการกระทำของตน ทั้งนี้เนื่องจากบริโภคนิยมมีความสามารถในการกระตุ้นความต้องการ ทำให้เราหลงใหลได้ง่ายๆ เวลาเห็นโฆษณา ก็อยากได้ อยากมี เหมือนคนอื่น แต่หากเราฝึกตนให้มีสติ เราจะยั้งคิดได้ ไม่ไหลไปตามกระแส
4. มีปัญญา ซึ่งทำให้เราเห็นโทษของบริโภคนิยม ช่วยให้เราเห็นทรัพย์สมบัติ แม้จะให้ความสุขแก่เรา แต่ก็ก่อทุกข์แก่เราไม่น้อย เช่น ทำให้เป็นภาระในการดูแลรักษา สิ่งสำคัญที่คนไม่ค่อยคิดคือ มันกินเวลาของเราไป เราต้องเสียเวลากับการเสพมากขึ้น ไม่ว่าวัตถุสิ่งเสพนั้นจะเป็นความบันเทิงจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือที่มีลูกเล่นมากมาย หรือถ้าใน พ.ศ. นี้ ก็อาจได้แก่ MP3 MP4 BB ฯลฯ ที่พอเรามีไว้ในครอบครอง เราจะต้องเสียเวลาไปกับมัน ทำให้ไม่มีสมาธิที่จะทำสิ่งอื่นที่มีสาระหรือสร้างสรรค์ กว่า หากเราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแต่พอควร เช่น เพียงโทรออก-รับสายโทรเข้า ใช้ในธุระจำเป็น เราก็จะเสียเวลากับมันน้อยมาก นอกจากนั้นการมีโภคทรัพย์ที่ทันสมัย บางครั้งก็เป็นความเสี่ยง เป็นอันตราย เพราะมันคือทรัพย์สินมีค่า เป็นที่ต้องการของมิจฉาชีพ
ดังนั้น ท่ามกลางกระแสแห่งบริโภคนิยม เราจึงต้องมีปัญญา มองให้เห็นโทษของวัตถุสิ่งเสพ และตระหนักรู้ว่า ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรทำ เราจึงควรใช้เวลาที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะหากเราเสียเวลากับการเสพสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเองหรือคนที่เรารัก
กล่าวได้ว่า หากว่าเรามีธรรม 4 ประการอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ มีสันโดษ มีสุขที่ไม่อิงวัตถู มีสติ มีปัญญา เราจะสามารถอยู่อย่างมีความสุขท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม
อนึ่ง ในการสร้างสุขที่ยั่งยืน นอกเหนือจากธรรมะ 4 ประการดังกล่าวมา สิ่งที่เราควรต้องมีเพื่อกำกับให้ธรรมนั้นสัมฤทธิ์ผลก็คือ ศีล
ศีล ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ศีล 5 แต่หมายถึงข้อกำกับทางด้านพฤติกรรมในการใช้ ในการบริโภค เช่น มีศีลหรือข้อกำหนดให้กับตนเองว่า
“ฉันจะเที่ยวห้างเดือนละครั้ง”
“ฉันจะดูโทรทัศน์แค่วันละชั่วโมง”
“เมื่อฉันไปซื้อของ ฉันจะไม่ใช้บัตรเครดิต”
ศีล ดังกล่าวจะช่วยให้เรามีความยับยั้งชั่งใจ ไม่โดนล่อหลอก หรือใช้จ่ายเกินตัว จนต้องไปยืมเงินจากอนาคตมาใช้จ่ายให้เกิดทุกข์ในภายหลังนั่นเอง
ทุกคนเกิดมาต่างก็ต้องการมีชีวิตที่ดี แต่ต้องยอมรับว่า การประคองชีวิตท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมกำลังโหมเข้ามายั่วยุอย่างต่อเนื่อง เราต้องมีกระบวนการสร้างสมดุลแก่จิตใจไม่ให้หลงใหลไปกับความสุขที่อิงวัตถุ เงินทอง โดยอาศัยองค์ประกอบหรือปัจจัย 2 ประการสำหรับการมี ‘ชีวิตที่ดีงาม’ ตามหลักพุทธศาสนา คือ
ปัจจัยภายนอก เรียกว่า ปรโตโฆสะ ที่แปลว่า เสียงอื่น เสียงจากภายนอก หรือกัลยาณมิตร หมายถึง เพื่อน ครูบาอาจารย์ คนในครอบครัว รวมทั้งการอยู่ในประเทศ (สิ่งแวดล้อม) ที่เหมาะสม สมัยนี้ยังรวมถึงสื่อต่างๆ ที่แวดล้อมด้วย หากเราเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี รับรู้สื่อที่ดี หลีกหนีจากมิตรที่ไม่ดี หรือปาปมิตรเราก็จะซึมซับแต่สิ่งที่ดีให้กับตนเอง
ปัจจัยภายใน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด คิดเป็น คิดถูก คิดชอบ มีวิธีมองสิ่งทั้งหลายด้วยความแยบคาย พิจารณาสืบค้นถึงต้นเหตุ หาเหตุผลจนตลอดสาย ทำให้เกิดปัญญา
โยนิโสมนสิการทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อต่าง ๆ ปัจจุบันนี้เราย่อมหนีสิ่งยั่วยุไม่พ้น เพราะแค่เพียงแต่นั่งรถออกไปบนท้องถนน ก็เห็นป้ายโฆษณาชวนให้ใช้จ่าย ให้บริโภคสารพัด แต่หากว่าเรามี โยนิโสมนสิการ ก็จะทำให้รู้เท่าทัน รู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ไม่เป็นเหยื่อของกระแสมอมเมา
เรื่องสันโดษก็ดี ความสุขที่อิงวัตถุอย่างพอเหมาะพอควรก็ดี ถือว่าเป็นปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ) ที่จะช่วยให้ไม่ตกเป็นทาสของบริโภคนิยม แต่ถ้าจะให้เข้มแข็งรัดกุม ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก (ปรโตโฆสะ) มาประกอบด้วย โดยเลือกคบกัลยาณมิตร หลีกหนีปาปมิตร อยู่ในข้อหลังสำคัญมาก ดังเห็นได้ว่ามงคลสูงสุดสองข้อแรกตามหลักที่ทรงแสดงในมงคลสูตร ก็คือ การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิตหรือคนดี
นอกจากหลักธรรมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในหนังสือ หลักชาวพุทธ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ยังแนะนำหลักที่ควรยึดถือปฏิบัติ ได้แก่ การมีกิจวัตรประจำตน เจริญกุศลเนืองนิตย์ ทำชีวิตให้ประณีต อาทิ เช่นเจริญสมาธิและอธิษฐานจิต วันละ ๕-๑๐ นาที ให้ทานบำเพ็ญประโยชน์ รู้จักประมาณในการบริโภคและการเสพความบันเทิง ร่วมกิจกรรมทางศาสนา โดยชักชวนครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เป็นต้น
หากเราต้องการอยู่อย่างเป็นสุขในสังคมที่กำลังวุ่นวาย เราจำเป็นต้องมีธรรมกำกับชีวิตและจิตใจ การพยายามปฏิบัติตามหลักธรรมง่ายๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเพียงพอที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ไม่หลงใหลในวัตถุและไม่ตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมบริโภคนิยม หากปฏิบัติได้ เราก็จะมีสุขสงบจากภายใน และเป็นสุขที่ยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น