...+

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับเกษตรกรรายย่อย โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘เกษตรกร’ เป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญสำหรับการเมืองเรื่องเลือกตั้ง ทุกพรรคการเมืองตระหนักดีว่าจำนวนเกษตรกร 12 ล้านคนที่ทำการผลิตในไร่นา 3 ล้านคนที่เป็นแรงงานรับจ้างภาคเกษตร รวมถึงผู้อยู่ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแต่ฝากปากท้องส่วนหนึ่งไว้กับผลผลิตภาคเกษตร เป็นหนึ่งปัจจัยชี้ขาดความเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านซึ่งเกี่ยวพันกับเม็ดเงินงบประมาณมหาศาล นโยบายหาเสียงส่วนมากจึงเป็นนโยบายประชานิยม (populist) ที่มุ่งจูงใจเกษตรกรระยะสั้นจากแคมเปญลดแลกแจกแถม ทั้งพักหนี้ เพิ่มเครดิต จำนำผลผลิตจนถึงรับประกันรายได้ มากกว่าสร้างประโยชน์ระยะยาวจากการรื้อถอนโครงสร้างอยุติธรรม

ทั้งนี้นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการเงินการคลังที่รัฐจะต้องแบกรับภาระหนักหนาถ้าดำเนินการทุกอย่างตามนโยบายประชานิยมแล้ว การไม่ได้ไปปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างเกษตกรรายย่อยกับทุนและรัฐยังทำให้ความเสียเปรียบอยู่คู่เกษตรกรรายย่อยไม่เปลี่ยนแปรจากการที่บรรษัทเกษตรและอาหารระดับชาติและข้ามชาติยังคงมีอำนาจเหนือตลาด (market dominance) จากการผูกขาดควบคุมปัจจัยการผลิตตลอดห่วงโซ่ การถูกละเมิดสิทธิและการคุ้มครอง การรับความเสี่ยงจากการทำเกษตรและธุรกิจแต่ฝ่ายเดียวจากการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) โดยไร้กลไกบรรเทาหรือประกันความเสี่ยง และการขาดอำนาจต่อรองของเกษตรกรรายย่อยในการใช้ทรัพยากรการตลาดและสาธารณะ โดยเฉพาะที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตตั้งต้นสำคัญยิ่งยวดในการเกษตร

การปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมเป็นธรรมจึงต้องมุ่งปรับปรุงระบบเกษตรกรรรมให้มีความเป็นธรรมกับเกษตรกรรายย่อยที่ถูกมองว่าล้าหลังไร้ประสิทธิภาพจากอคติทางวิชาการ และถูกบั่นทอนพลังจากการผสานผลประโยชน์ของนโยบายรัฐและทุนธุรกิจ เพื่อที่เกษตรกรรายย่อยจะได้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดี มีโอกาสพัฒนาศักยภาพทุกด้าน มีอำนาจต่อรองในการเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรสาธารณะและการตลาด ปราศจากหนี้สิน ตลอดจนอยู่รอดได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่ไม่ต่างจากเกษตรกรรายย่อยซีกโลกตะวันตกที่มีฐานะเศรษฐกิจ การศึกษา และอำนาจต่อรองล้นเหลือ จนเป็นพลังเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเหล่านั้น

ดังนั้นเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจจากพลังเกษตรกรรายย่อยโดยไทยยังคงเป็นประเทศผลิตอาหารเลี้ยงประชากรไทยและโลกได้ในสภาวการณ์ที่ความมั่นคงทางอาหารและพลังงานเสียสมดุลจึงต้องทลายโครงสร้างการเกษตรและนโยบายการเกษตรของชาติที่รวมศูนย์อำนาจรัฐไว้ส่วนกลาง ควบคู่กับกำจัดกลไกตลาดที่เอื้อกลุ่มทุนผูกขาดครองครองปัจจัยการผลิต ฐานทรัพยากรการผลิต และการตลาด

ข้อเสนอปฏิรูประบบเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จึงมุ่งสร้างพลังต่อรองเพื่อเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยโดยผลักดันรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สนับสนุนการรวมกลุ่ม เชื่อมโยงบริหารจัดการผลผลิตตลอดห่วงโซ่ในรูปแบบสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ที่ดิน แหล่งน้ำ พันธุกรรมพืชและสัตว์ที่มีการรับรองสิทธิของท้องถิ่นในการเป็นเจ้าของ การเป็นเจ้าของร่วมในเครื่องมือการผลิตและนำพืชผลสู่ตลาด ตั้งแต่ลานตากผลผลิตถึงโรงงานแปรรูปขั้นต้น

การสร้างเสริมสิทธิและคุ้มครองเกษตรกรโดยปรับปรุงกฎหมายเพื่อที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะ พัฒนาระบบป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกับเกษตรกรพันธสัญญาที่ตัวเลขทางการมีราว 1.6 แสนคน แต่คาดว่าที่จริงมีสูงกว่านั้นมากจะต้องได้รับสัญญาเป็นธรรม โปร่งใส ได้สิทธิ์ถือสัญญาคู่ฉบับ ได้รับปุ๋ยและอาหารสัตว์มีมาตรฐาน ไม่ถูกโกงค่าแรงหรือน้ำหนัก ไม่ถูกประวิงเวลารับซื้อ ขณะที่บริษัทในฐานะหุ้นส่วนก็ต้องรับความเสี่ยงเท่ากัน และถูกตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามสัญญาเพื่อป้องกันการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ พร้อมกับจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมถ้าละเมิดสัญญา

นอกนั้นก็เป็นข้อเสนอในการสร้างหลักประกันความเสี่ยงหรือประกันผลผลิตการเกษตรรูปแบบต่างๆ ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังทุกภาคส่วนเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นต่ำเพียงพอดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองต่อไป ในส่วนของการจัดการหนี้สินก็ต้องเร่งรัดรัฐให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางลดหนี้เกษตรกรกับสถาบันการเงินเพื่อจะไม่นำไปสู่การยึดที่ดินของเกษตรกรที่จะเปลี่ยนมือไปอยู่กลุ่มทุนในที่สุด รวมถึงปรับโครงสร้างและกลไกการบริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยโดยมีอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก

ทั้งนี้การเข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้อาจไม่ใช่อุปสรรคสำคัญกับเกษตรกรเท่ากับความสามารถในการลดต้นทุนการผลิตที่แต่ละรอบการผลิตค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นสูงมากจากการใช้สารเคมีเกษตรที่ทั้งราคาสูงและอันตรายสูงมากต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หนี้สินเกษตรกร และการส่งออก โดยเฉพาะ Carbofuran, Dicrotophos, EPN และ Methomyl ที่ต้องถูกแบนไม่ให้ขึ้นทะเบียนอีกด้วยมาตรการควบคุมสารเคมีที่เข้มข้น และต้องกระทำควบคู่ควบคุมโฆษณาชวนเชื่อใช้สารเคมีเกษตรด้วย รวมถึงกำหนดวาระแห่งชาติ (national agenda) ว่าด้วยสารเคมีเกษตรที่จะต้องลดการใช้ลงเหลือร้อยละ 50 ในครึ่งทศวรรษหน้า และส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 50 ในทศวรรษหน้าเช่นกัน

อีกด้านของข้อเสนอคือรัฐเลิกแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตร เลิกบิดเบือนราคาที่นำมาซึ่งคอร์รัปชันมหาศาลตั้งแต่ต้นธารยันปลายธาร แต่ต้องส่งเสริมให้มีตลาดสินค้าเกษตรทุกรูปแบบตั้งแต่ตลาดนัด ตลาดค้าส่ง ตลาดสีเขียว และพัฒนาช่องทางตลาดส่งออกที่เกษตรกรรายย่อยมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งโดยตรง ตลอดจนพัฒนาระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบเกษตรจากการปฏิบัติจริงในไร่นา พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรสถาบันการศึกษาด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องบริบทท้องถิ่นและสากล

ต้นธารสานสร้างสังคมเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรรายย่อยในฐานะผู้กุมอำนาจอธิปไตยจึงต้องก้าวข้ามนโยบายประชานิยมที่มุ่งสร้างกระแสนิยมกว่าแก้ปัญหาโครงสร้างเกษตร โดยเข้าร่วมกำหนดนโยบาย สร้างเวทีเจรจาต่อรอง และส่งเสียง (voice) อย่างทรงพลังเพื่อจะผลักดันระบบเกษตรกรรมให้เป็นธรรมและรองรับการปรับตัวระยะยาวจากสภาพเศรษฐกิจและโลกร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น