...+

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จะไม่ทะเลาะกับใครๆ : การเป็นอยู่ตามแนวพุทธ โดย สามารถ มังสัง

“ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าไม่เพลิดเพลิน ไม่ยึดถือในเหตุนั้นได้ นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งกิเลสที่แฝงอยู่ นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ ศาสตรา การทะเลาะวิวาท การชี้หน้าด่าทอ การส่อเสียด การพูดปด” นี่คือคำอธิบายขยายความพุทธพจน์ของพระมหากัจจายนะ เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งได้ฟังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบคำถามของทัณฑปาณิศากยะที่ว่า “ทรงมีวาทะอย่างไร ตรัสบอกอย่างไร โดยพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า ทรงมีวาทะ และตรัสบอกในทางที่ไม่ทะเลาะกับใครๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก และในทางที่สัญญา ความกำหนดด้วยกิเลสจะไม่แฝงตัวตาม ผู้ลอยบาป ผู้สิ้นสงสัยรังเกียจ ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยใหญ่”

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของมธุปิณฑิกสูตร ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

โดยนัยแห่งพุทธพจน์และเถรกถา ถ้าอ่านอย่างผิวเผิน และไม่คุ้นเคยกับเนื้อหาและภาษาบาลีอันเป็นต้นแบบของพุทธศาสนานิกายเถรวาท ก็อาจมีความยุ่งยากในการทำความเข้าใจอยู่บ้าง ดังนั้นผู้เขียนจึงใคร่ขออธิบายขยายความเพิ่มเติมโดยยึดตามนัยแห่งอรรถกถาพอเป็นสังเขป เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ และนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ตามฐานานุรูปของแต่ละบุคคลดังนี้

ในพุทธพจน์บทนี้มีคำที่เป็นหัวใจหรือเป็นกุญแจไขความอยู่คำเดียว คือคำว่า กิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ที่แฝงอยู่

คำนี้หมายถึงกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในส่วนลึกของจิต หรือที่เรียกว่าสันดาน ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า อนุสัยมีอยู่ 7 ประการ คือ

1. กามราคะ หมายถึง ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม

2. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด ขัดเคือง หรือโทสะ

3. ทิฏฐิ ความเห็น ในที่นี้หมายถึงความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฐิ ได้แก่ การยึดถือความเห็น เป็นจริงเป็นจัง

4. วิจิกิจฉา ได้แก่ ความลังเล, ความสงสัย

5. มานะ ความถือตัว

6. ภวราคะ ความกำหนัด ยินดีในภพหรือในความมีความเป็น

7. อวิชชา ความไม่รู้จริง หรือโมหะ

โดยปกติแล้ว กิเลส 7 ประการนี้จะนอนนิ่งหรือแฝงตัวอยู่ในจิตไม่แสดงออกมาในทางพฤติกรรม ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจา แต่เมื่อมีอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์มากระทบอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก กาย และใจ ก็จะเกิดการแสดงออกมาทางกายหรือทางวาจา ส่วนว่าการแสดงออกมาจะเป็นทางบวกหรือลบนั้นขึ้นอยู่กับอายตนะภายนอก ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกใจก็แสดงออกในทางยินดี ในทางกลับกัน ถ้าไม่ถูกใจก็แสดงออกในทางลบ คือ ไม่ยินดี

ยกตัวอย่าง ตาเห็นรูป ถ้าเป็นรูปสวยงาม ถูกใจ ก็เกิดอาการยินดี อยากได้มาเป็นของตน ถ้าเป็นรูปไม่ดี ไม่ถูกใจ ก็แสดงออกในทางปฏิเสธ ต่อต้าน ขับไล่ไสส่ง เป็นต้น

เพียงแค่ตัวอย่างตาเห็นรูป ท่านผู้อ่านก็พออนุมานได้ว่าพฤติกรรมของผู้คนที่ท่านพบเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้น จะอยู่ในข่ายถูกครอบงำด้วยกิเลส 7 ประการนี้ไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในหมู่โลกียชนคนมีกิเลส

ด้วยเหตุนี้ ข้อความในพระสูตรที่บอกว่า ถ้าไม่ยึดถือ ไม่เพลิดเพลิน ก็จะไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสที่ว่านี้ และเมื่อไม่ตกอยู่ในภาวะถูกครอบงำก็จะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ซึ่งจะนำไปสู่การจับท่อนไม้ จับอาวุธเข้าประทุษร้ายกัน หรืออย่างเบาก็ทำร้ายกันด้วยวาจา เช่น ด่าทอ ส่อเสียด และพูดปด ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่อย่างดาษดื่นในสนามปราศรัยหาเสียงทางการเมืองอยู่ในขณะนี้

อะไรคือมูลเหตุให้นักการเมือง หรือแม้กระทั่งคนที่มิได้เป็นนักการเมือง แต่ฝักใฝ่การเมืองต้องตกอยู่ในภาวะถูกครอบงำด้วยกิเลสที่เรียกว่า อนุสัย 7 ประการดังกล่าวมาแล้ว

เพื่อจะตอบคำถามให้ตรงประเด็น จึงใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนถามตัวท่านเองว่า นักการเมืองมาจากไหน ทำไมจึงมีทั้งนักการเมืองดีและนักการเมืองที่ไม่ดี ก็จะได้คำตอบว่า ที่นักการเมืองเป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่านักการเมืองก็คือประชาชนที่เสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชน ดังนั้น ถ้าจะดูว่านักการเมืองดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ให้ดูที่ประชาชนหมู่นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เลือกนักการเมืองคนที่ว่าดีหรือไม่ดีนั้นเข้ามาเป็นตัวแทนนั่นเอง

เมื่อนักการเมืองมาจากประชาชน ดังนั้น ถ้าจะต้องการแก้ไขให้นักการเมืองเป็นคนดี สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าทำได้รับรองได้ว่านักการเมืองจะดีขึ้นแน่นอน ถึงไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อได้ว่าดีกว่าที่ประชาชนซึ่งไม่ดีเลือกเข้าไปแน่นอน

เมื่อปัญหาอยู่ที่ประชาชน จึงมีปัญหาถามต่อว่า ทำไมนักการเมืองเมื่อยังไม่ได้เป็นนักการเมือง หรือพูดง่ายๆ ก็คือยังเป็นประชาชนเต็มขั้น จึงไม่แสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมาให้เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมเหมือนเมื่อเป็นนักการเมืองโดยผ่านการได้รับเลือกตั้งแล้ว และที่เห็นได้ดียิ่งขึ้นก็คือ เมื่อได้รับตำแหน่งทางการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการแสวงหาประโยชน์ได้

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นตอบได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่ย้อนไปดูพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลที่ถูกกิเลสครอบงำ และทำใจให้สงบจากกิเลสรบกวนไม่ได้ ด้วยเหตุที่ยังเพลิดเพลิน ด้วยเหตุที่ยังยึดถือก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งกิเลสบงการให้กระทำทั้งทางกาย และวาจา ดังที่ปรากฏให้เห็นในวันที่มีการประชุมสภาฯ มีการด่าทอ ส่อเสียด และนำข้อความอันเป็นเท็จมาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงกันข้าม เป็นที่ประจักษ์เกือบทุกครั้งที่มีวาระสำคัญ และมีส่วนได้เสียทางการเมืองกับบุคคลหรือกับพรรคที่ตนเองสังกัด หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน กิเลสอันเป็นอนุสัยก็จะหลั่งไหลออกมาจากใจสู่กายทวาร และวจีทวาร ล้วนแล้วแต่ทุจริตครบถ้วนแทบทุกข้อในวจีทุจริต 4 คือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อครบถ้วนแทบไม่เหลือเก็บไว้ในใจของตัวเอง และนี่แหละคือผลของการไม่ควบคุมอนุสัยกิเลสให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม และจริยธรรมที่นักการเมืองควรจะมี และควรจะเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น