...+

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดย สราวุธ เบญจกุล

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2554 ได้มีแนวคิดหลักในการประสานความร่วมมือจากนานาประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "Forests: Nature at your Service" ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าป่าไม้ถือเป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น การนำต้นไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิง แปรรูปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆทั้งเครื่องเรือน กระดาษ นอกจากนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านยังสามารถนำส่วนประกอบจากต้นไม้มาใช้เป็นสมุนไพรและพัฒนาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบันอีกมากมายหลายชนิด

ประโยชน์ของป่าไม้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ป่าไม้มีส่วนในการรักษาคุณภาพและควบคุมปริมาณทรัพยากรน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นไม้ในป่าสามารถช่วยดูดซับและกักเก็บปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน นอกจากนี้การที่พื้นที่ของป่าไม้ลดลงย่อมมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ สัตว์ป่าหายากบางชนิดต้องสูญพันธ์ไปเพราะขาดผืนป่าที่เป็นบ้าน และแหล่งอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต

องค์การสหประชาชาติเองได้พยายามส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยเสนอแนะแนวทางในการลดปริมาณคาร์บอนด้วยการลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกว่า Reducing Emissions From Deforestation and Forest Degradation (REDD) in developing countries ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) โดยเสนอแนะวิธีการใช้กลไกตลาดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าเป็นสมาชิกของ REDD และดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้หากประเทศที่พัฒนาแล้วมีพันธกรณีตามสนธิสัญญา ที่จะต้องลดปริมาณคาร์บอนแต่ไม่สามารถทำได้ในระดับที่กำหนดไว้ ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่กำลังพัฒนากลุ่มนี้เพื่อลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นไปตามพันธกรณี ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะได้รับประโยชน์เป็นจำนวนเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ REDD แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์อยู่หลายฉบับด้วยกัน เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 85 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมถึงการดำเนินการส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐต้องดำเนินการในการดูแลรักษาทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ เช่นพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายครอบคลุมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง บำรุงรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าจากการถูกทำลายอันเป็นเหตุให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขาดความสมดุล เห็นได้จากการที่มาตรา 54 บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า...” หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 72 ตรี กำหนดให้บุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องรับโทษหนักขึ้นในกรณีที่กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ นอกจากนี้ศาลยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำความผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยกำหนดให้พื้นที่บางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งรัฐมีหน้าที่สงวนค้มครองมิให้ถูกบุกรุกและทำลาย การกระทำโดยประการใดๆอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เช่นเข้าไปตัดไม้หรือเผาป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท เว้นแต่ในบางกรณีเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ประชาชนจึงจะสามารถเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนได้เป็นการชั่วคราวตามความจำเป็น เช่นการเข้าไปเก็บของป่า หรือการเข้าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่น พันธ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป การเข้าไปดำเนินกิจการใดๆเพื่อหาผลประโยชน์จากอุทยานแห่งชาติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของอุทยานแห่งชาตินั้น บุคคลใดฝ่าฝืน เช่น เข้าไปเผาป่า หรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องเสื่อมสภาพไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 5472/2545 ที่ศาลฎีกาพิจารณาถึงความร้ายแรงและผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติประกอบการวินิจฉัยกรณีที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น โดยเห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานยึดได้ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวนถึง 30 กิโลกรัม เป็นของกลางซึ่งนับว่าเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บหาของป่าหวงห้ามเพื่อนำเอาไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัย และเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงจการที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยรวมสองกระทงจำคุก 9 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น


อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่หลายแห่ง และบางแห่งได้รับการยอมรับจากองค์กร UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็นมรดกโลก ได้แก่เขตพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งพื้นที่ป่าเหล่านี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีพรรณไม้และสัตว์ป่าหายากหลายสายพันธ์ และสมควรที่จะได้รับความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์ จากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาชน นอกเหนือจากกฎหมายที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและปวงชนรุ่นหลังที่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในการดำรงชีวิตอย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น