...+

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตามรอยเท้าพ่อ ไปปฏิรูปประเทศไทย โดย วิทยา วชิระอังกูร

ในท่ามกลางมหกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง ที่แข่งขันกันติดป้ายหาเสียงใหญ่โต โฆษณาชวนเชื่อ ขายนโยบายยาพิษเคลือบน้ำตาล ที่มอมเมาทำร้ายประชาชนคนไทยมาโดยตลอด แถมประดานักเลือกตั้งที่หน้าสลอนกันมาให้เลือกก็ล้วนแล้วแต่ก๊กแก๊งการเมืองหน้าเดิมๆ หรือวงศ์วานว่านเครือที่สืบทอดกันมาเป็นตระกูลๆ เสมือนหนึ่งตำแหน่งผู้แทนราษฎรเป็นมรดกตกทอดประจำตระกูลผูกขาดของใครของมัน

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย คงมีความรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการเมืองน้ำเน่า ที่ผลัดเปลี่ยนหน้ากันมาปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ต่อเนื่องกันมายาวนาน

ในท่ามกลางความรู้สึกท้อแท้หมดหวัง ผมดีใจที่ฝ่ายการเมืองภาคประชาชน ได้เสนอทางออกที่เป็นการต่อสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยรณรงค์ชักชวนให้ผู้คนที่หมดอาลัยตายอยากกับนักการเมืองไทยยุคนี้ ไปใช้สิทธิ์คัดค้านและปฏิเสธนักการเมือง ด้วยการเข้าคูหากาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน

เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าจับตามอง หลายคนอาจยังฉงนสนเท่ห์ และออกอาการไม่เข้าใจ ถามว่า Vote No แล้วไง? แค่ความสะใจที่ได้ประชดประชันเท่านั้นหรือ? เพราะการกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน มันไม่มีผลทางกฎหมายการเลือกตั้งแต่อย่างใดเลย นอกจากเป็นการเทคะแนนเสียงทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ หลายคนมองไกลไปกว่านั้นว่า การทิ้งคะแนนเสียงส่วนนี้ จะไม่เป็นการสนับสนุนให้พรรครัฐไทยใหม่ได้ชัยชนะ และนำพาระบอบทักษิณกลับฟื้นคืนชีพมาหลอกหลอนกันอีกหรือ?

หลายวันก่อนฟังคุณสุริยะใส กตะศิลา ปราศรัยบนเวทีมัฆวานฯ ย้ำยืนยันพันธกิจ 3 ข้อ ของการเมืองภาคประชาชน ในวันเริ่มก่อเกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า ข้อหนึ่ง คือ ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ข้อสอง คือ รื้อล้างทำลายระบอบทักษิณที่กัดกินประเทศไทย และ ข้อสาม คือ การปฏิรูประบอบการเมืองไทย ให้เป็นการเมืองที่รับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง คุณสุริยะใส ย้ำยืนยันว่า Vote No คือวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายข้อที่สาม คือการปฏิรูปประเทศไทย โดยมั่นอกมั่นใจว่า ลำพังแค่เสียงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเสียง หากรวมเข้ากับพลังเงียบส่วนใหญ่ของประเทศที่เบื่อหน่ายกับระบบการเมือง เสียง Vote No ย่อมจะมากพอที่จะส่งแรงสะเทือนและส่งผลให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแน่นอน

การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค คือ ประชาธิปัตย์ ที่นำโดยหล่อดีแต่พูดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนอมินียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น แต่ยังมีพรรค Vote No ของการเมืองภาคประชาชน ที่จะสอดแทรก เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ผู้มีสิทธิกาบัตรลงคะแนนทุกท่าน ก็ลองชั่งใจกันดูให้ดีว่า ระหว่างทางเลือก 3 พรรค 3 ทางนี้ ท่านควรจะใช้สิทธิพลเมืองดี กาให้กับทางเลือกใด

ในห้วงเวลาแห่งการลุ้นระทึกกับกระแส Vote No ที่กำลังสวนทางสั่นไหวกระแสสังคมไทย และในท่ามกลางระเบ็งเซ็งแซ่ทั้งภาพและเสียงของสื่อสารมวลชน ที่เต้นไปตามจังหวะร่ายรำของเหล่าอสุรกายทางการเมือง ผมใช้วิธีพักใจพักความเซ็ง สงบอารมณ์ ดำรงสติ ด้วยการย้อนกลับไปอ่าน บันทึกพระบรมราโชวาทในวาระต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นแนวคิดที่สามารถจะใช้เป็นแนวทาง หรือ Roadmap ปฏิรูปประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

พระอัจฉริยภาพในด้านการพัฒนาชนบทและพัฒนาเมือง ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แพร่หลายไปทั่วโลก ทรงทุ่มเทพระวรกาย ตรากตรำ และมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรไทยทุกเชื้อชาติศาสนา ทั้งในสังคมเมืองและถิ่นทุรกันดารห่างไกล ทรงทุ่มเทก่อเกื้อทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการจราจรในเมืองหลวง

แนวทางพระราชดำริทุกโครงการ ทรงยึดการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลาง ที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยู่รอบตัว และปฏิบัติได้จริง และทรงเน้นการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดของประชาชนโดยส่วนรวม สมดังพระปฐมบรมราชโองการ ที่ตรัสไว้เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”

หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำตามลำดับขั้น จากจุดเล็กไปสู่องค์รวม ไม่ติดตำรา ยึดหลัก ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

และปรัชญาที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับคนไทยและสอดคล้องกับสังคมไทย ที่ทรงพระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 คือหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความตอนหนึ่งว่า

"...เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวทางดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ได้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อมามีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี....”

3 กรกฎาคม 2554 นี้ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคน ที่ท้อแท้สิ้นหวังกับระบบการเมืองและนักการเมืองไทย ไปร่วมกันให้เป็นปึกแผ่น เข้าคูหา กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้เสียง Vote No ท่วมท้นประเทศไทย

สำหรับ Roadmap การปฏิรูปประเทศไทย แทบไม่ต้องเสียเวลาไปคิดค้นให้ลำบากยากเย็น เพราะมีแนวทางที่ดีงามสอดคล้องกับสังคมไทยเพรียบพร้อมอยู่แล้วในพระบรมราโชวาททุกบททุกตอน ขอเพียงแต่ดำรงสติ ตั้งมั่นในสุจริต เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างซื่อตรงเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น