...+

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ..พระสถูปบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ประมาณพระธาตุ

การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

[๑๕๙] หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่านนั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กันให้เรียบร้อยเถิด โทณพราหมณ์รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้วแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าวกะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกระทำพระสถูปและกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ

[๑๖๐] พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้นนำพระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ

พระสถูปบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ประมาณพระธาตุ

[๑๖๑] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองอัลกัปปะ พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและการฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระอังคารในเมืองปิปผลิวัน ฯ

พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่งทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและการก่อพระสถูปเช่นนี้เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ

[๑๖๒] พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุแปดทะนาน เจ็ดทะนานบูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนานหนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่ง เทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้านั้นแหละ แผ่นดินนี้ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงประนมมือถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศา และพระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ

จบมหาปรินิพพานสูตร ที่ ๓



ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


.
.
.



ครั้งนั้น......บรรดาผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ ทราบข่าวว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ที่กรุงกุสินารา

จึงส่งฑูตไปเจรจา ขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากพวกมัลละเมืองกุสินารา

เพื่อนำไปสักการะบูชา ในแว่นแคว้นของตน

แต่เหล่าเจ้ามัลลกษัตริย์ปฏิเสธ.


.


พวกกษัตริย์และพราหมณ์เหล่านั้น รวม ๗ นคร

ต่างพากันมายื่นคำขาดว่า จักให้พระบรมสารีริกธาตุ หรือจักรบ

แล้วตั้งทัพล้อมเมืองกุสินาราไว้.


.


พวกเจ้ากุสินารา ตรัสว่า


ธรรมดาว่า พระรัตนะทั้งหลาย ที่เสมอด้วยพุทธรัตนะ

ไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก

ก็พระรัตนะนั้น เกิดในเขตคามของพวกเรา

เราจักไม่ยอมให้ส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุนั้นแก่ผู้ใด.


.


โทณพราหมณ์

ได้สดับเรื่องการวิวาทของกษัตริย์เหล่านั้นแล้ว...ดำริว่า

พวกเจ้าเหล่านี้ก่อวิวาทกันในสถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน

เป็นการไม่ควร จำเราจักระงับการวิวาทนั้นเสีย.


.


โทณพราหมณ์ จึงขึ้นไปยืนอยู่บนที่สูง...แล้วกล่าวความว่า

ดูก่อน ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า


พระศาสดาของเราทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ

การที่พวกท่านจะประหัตประหารกัน ด้วยเหตุแห่งพระบรมสารีริกธาตุ

ของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นสิ่งอันควรแก่การสักการะอย่างสูงสุดเช่นนี้

ไม่ดีเลย พวกท่านทั้งหมด จงเกื้อกูลซึ่งกันและกันเถิด.


.


คำกล่าวครั้งแรกของโทณพราหมณ์ ไม่มีผู้ใดสนใจ

เพราะต่างก็กำลังถกเถียงกันว่า จะทำประการใด

อาศัยที่ โทณพราหมณ์ เป็นอาจารย์

ของเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ในภาคพื้นชมพูทวีป

ไม่มีผู้ใดจะไม่รู้จักตน...จึงประกาศด้วยเสียงอันดังมากขึ้นอีกว่า

พวกท่านจำเสียงของอาจารย์ท่านไม่ได้หรือ...หากจำไม่ได้

ขอทุกท่านจงพากันเงียบเสียง แล้วฟังวาจาที่ข้าพเจ้าจักกล่าวให้จงดี

เหล่ากษัตริย์ทั้งปวงครั้นได้ยินเสียง จำได้ว่าเป็นเสียงของโทณพราหมณ์

ผู้เป็นอาจารย์ของตน ต่างพากันสงบเสียงลงทันที

โทณพราหมณ์กล่าวซ้ำความเดิมอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วประกาศว่า


ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอมพร้อมใจ

ยินดีแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเป็น ๘ ส่วน

แล้วนำส่วนของตน กลับไปบรรจุไว้ในสถูป ยังแว่นแคว้นของท่านเถิด

เพื่อพระบรมสารีริกธาตุ จะได้กระจายไปในทิศทั้งหลาย

เหล่าชนผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ยังมีอยู่มาก.


.


ทูตเหล่านั้นกล่าวว่า...ข้าแต่พราหมณ์

พวกข้าพเจ้าทั้งหลายยินยอมตามคำแนะนำของท่าน

ถ้าเช่นนั้น...ขอท่านนั้นแหละ

จงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์

ออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆกัน ให้เรียบร้อยเถิด.

.
.
.


การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ


โทณพราหมณ์ รับคำสั่งของกษัตริย์เหล่านั้นแล้ว

จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์

ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากัน คือ


กษัตริย์แคว้นมคธ นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง ราชคฤห์

กษัตริย์ลิจฉวี นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง เวสาลี

กษัตริย์ศากยะ นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง กบิลพัสดุ์

กษัตริย์ถูลี นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง อัลลกัปปะ

กษัตริย์โกลิยะ นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง รามคาม

กษัตริย์มัลละกุสินารา นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง กุสินารา

กษัตริย์มัลละปาวา นำไปบรรจุสถูป และฉลองในเมือง เวฏฐีปะ

กษัตริย์โมริยะ เมืองปิปผลิวัน

ส่งทูตมาของส่วนแบ่งทีหลัง จึงได้แต่ พระอังคาร

ได้สร้างสถูปบรรจุพระอังคาร และฉลองในเมือง ปิปผลิวัน


ส่วน โทณพราหมณ์ ขอทะนานที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ กับฑูตเหล่านั้น

เพื่อนำไปสร้างสถูป และฉลองในเมืองของตนเช่นกัน.


.


อรรถกถากล่าวว่า


เมื่อพวกเจ้าเหล่านั้นยินยอม โทณพราหมณ์จึงสั่งให้เปิดรางทอง

พวกเจ้าทั้งหลาย มายืนที่รางทองนั้น

ต่างก็เห็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลาย...มีวรรณงามดั่งทองคำ


ต่างพากันรำพันว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สัพพัญญู

แต่ก่อน ข้าพระองค์ทั้งหลาย

ได้เห็นพระสรีระของพระองค์ มีฉวีดังทองคำ

บัดนี้ เหลือแต่เพียงเพียงพระบรมสารีริกธาตุ

มีวรรณะดังทองคำเท่านั้น.


.


ขณะที่กำลังแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น

โทณพราหมณ์ รู้ว่าพวกเจ้าเหล่านั้นเผลอ จึงฉวยเอา พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา

เก็บไว้ในระหว่างผ้าโพก.


.

พระบรมสารีริกธาตุ ทั้งหมด รวม ๑๖ ทะนาน

กษัตริย์แต่ละพระองค์ ได้ไป ๑๖ ทะนานพอดี.


.


เมื่อโทณพราหมณ์ กำลังแบ่งพระธาตุอยู่

ท้าวสักกะจอมเทพ สำรวจดูว่า ใครหนอฉวยเอา พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา

ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไป...ทรงเห็นว่า โทณพราหมณ์ เป็นผู้ฉวยเอาไป

ทรงดำริว่า...แม้พราหมณ์

ก็ไม่อาจทำสักการะอันควรแก่ พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ได้

จึงทรงถือ พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ที่พราหมณ์ซ่อนไว้นั้น ออกจากระหว่างผ้าโพก

แล้วบรรจุไว้ในผอบทองคำ นำไปยังเทวโลก

ประดิษฐานไว้ ณ พระจุฬามณีเจดีย์ ในเทวโลก.


.


ฝ่ายโทณพราหมณ์ ครั้นแบ่งพระบรมธาตุแล้ว ไม่เห็นพระเขี้ยวแก้ว

แต่เพราะตนฉวยเอามาด้วยกิริยาอันมิชอบ...จึงไม่อาจแม้แต่จะถามว่า

ใครฉกเอาพระเขี้ยวแก้วของเราไป...พราหมณ์คิดว่า

เราจักขอทะนานทองคำ ที่ตวงพระบรมธาตุไปสร้างสถูป

จึงทูลกษัตริย์เหล่านั้นว่า...ท่านผู้เจริญทั้งหลาย

โปรดประทาน ทะนานลูกนี้ แก่ข้าพเจ้าเถิด

แล้วก็นำไปสร้างสถูปบรรจุ และทำการฉลองเช่นเดียวกัน.


.


พระเจ้าอชาตศัตรู ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

จากกรุงกุสินารา มากลับมายัง กรุงราชคฤห์ ด้วยการบูชาอันยิ่งใหญ่

เช่นเดียวกันกับกษัตริย์ แม้เหล่าอื่นก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

ไปยังเมืองของตน แล้วสร้างพระสถูปไว้บูชา.


.
.
.


ข้อความบางตอนจากหนังสือ

"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา"

เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ

จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย

"คณะสหายธรรม"


ขออนุโมทนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น