...+

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คุณค่าแห่งการรู้คุณค่า‏ กับคุณแม่

คุณค่าแห่งการรู้คุณค่า

หนุ่มน้อยเพิ่งจบการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมไปสมัครงานในตำแหน่งผู้จัดการ
ในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากผ่านการสอบสัมภาษณ์ครั้งแรกไปแล้ว ผู้อำนวยการ
ได้เรียกเขาไปสัมภาษณ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจ ผู้อำนวยการเห็นข้อมูลในประวัติ
ของเด็กหนุ่มคนนี้ว่ามีผลการเรียนเป็นเลิศในทุกวิชาตลอดมา นับตั้งแต่อุดมศึกษาจน
จบมหาวิทยาลัย ไม่ปรากฏว่าเขาทำคะแนนตกเลย



ผู้อำนวยการเริ่มคำถามว่า “เธอเคยได้รับทุนการศึกษาอะไรหรือเปล่า”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ไม่เคยครับ”
ผู้อำนวยการถามต่อว่า “คุณพ่อของเธอเป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียนให้ใช่ไหม”
เด็กหนุ่มตอบว่า “คุณพ่อของผมเสียไปตั้งแต่ผมอายุได้ขวบเดียวครับ เป็นคุณแม่ที่จ่ายค่าเล่าเรียนให้ผม”
ผู้อำนวยการถามต่อว่า “คุณแม่ของเธอทำงานที่ไหน”
เด็กหนุ่มตอบว่า “คุณแม่ทำงานซักรีด”
ผู้อำนวยการขอดูมือของเขา
เด็กหนุ่มยื่นมือที่เรียบลื่นไม่มีที่ติให้ผู้อำนวยการดู
ผู้อำนวยการถามต่อว่า “เธอเคยช่วยคุณแม่ของเธอทำงานบ้างหรือเปล่า”
เขาตอบว่า “ไม่เคยครับ คุณแม่ต้องการให้ผมเรียนแล้วก็อ่านหนังสือเยอะๆ คุณแม่ซักผ้าได้เร็วกว่าผมด้วยครับ”
ผู้อำนวยการบอกว่า “ฉันมีเรื่องให้เธอช่วยทำอย่างหนึ่งนะ วันนี้เธอกลับไปที่บ้านช่วยล้างมือของคุณแม่ของเธอแล้วกลับมาพบฉันอีกทีพรุ่งนี้เช้า”



ด้วยความมั่นใจว่าโอกาสที่จะได้งานทำมีอยู่สูงมาก เมื่อเขากลับไปถึงบ้านเขาจึงรู้สึกเต็มใจที่จะล้างมือให้แม่ของเขา
ฝ่ายแม่รู้สึกประหลาดใจระคนหวั่นใจ เธอส่งมือให้ลูก
หนุ่มน้อยค่อยๆ ล้างมือให้แม่ แล้วน้ำตาไหลก็ออกมา
เขาเพิ่งรู้สึกว่ามือของแม่นั้นช่างเหี่ยวย่นแ ละเต็มไปด้วยริ้วรอยขูดข่วน
ซึ่งบางแผลพอโดนล้างน้ำก็ทำให้แม่เจ็บจนตัวสั่นระริก
นี่เป็นครั้งแรกที่เด็กหนุ่มตระหนักรู้ว่า มือคู่นี้เองที่ซักผ้าทุกวันเพื่อหารายได้มา
ส่งเสียให้เขาได้เล่าเรียน
รอยแผลเหล่านี้คือราคาที่แม่ต้องจ่ายไปเพื่อความสำเร็จในการศึกษาของเขา
เพื่อผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมของเขา
และอาจจะเพื่ออนาคตของเขาด้วย
คืนนั้นสองแม่ลูกได้คุยกันอยู่นาน

เช้าวันต่อมา เด็กหนุ่มก็เดินทางไปที่ออฟฟิศของผู้อำนวยการ
ผู้อำนวยการสังเกตเห็นน้ำตาในดวงตาของเขา จึงถามขึ้นว่า
“ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเมื่อคืนที่บ้าน เธอทำอะไรบ้าง แล้วได้บทเรียนอะไร”
เด็กหนุ่มตอบว่า “ผมล้างมือให้แม่ครับ แล้วก็เลยช่วยแม่ซักผ้าที่เหลือจนเสร็จ”
ผู้อำนวยการบอกว่า “ช่วยเล่าให้ฉันฟังหน่อยว่า เธอรู้สึกยังไง”



เด็กหนุ่มตอบ
“ข้อที่หนึ่ง ผมได้รู้ซึ้งถึงคำว่า สำนึกในบุญคุณ ถ้าไม่มีแม่ก็คงไม่มีความสำเร็จของผมด้วย
ข้อที่สอง จากการช่วยแม่ทำงานว่า ผมได้รู้ว่ามันลำบากยากเย็นยังไงกว่าจะทำอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง
ข้อที่สาม ผมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความผูกพันในครอบครัว”
ผู้อำนวยการจึงบอกว่า
“ นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ ฉันอยากได้คนที่รู้ค่าของการได้รับความช่วยเหลือ
อยากได้คนที่เข้าใจถึงความลำบากของใครสักคนในการจะทำอะไรได้มาสักอย่าง
และอยากได้คนที่ไม่ได้ตั้งเงินเป็นเป้าหมายในชีวิตแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้จัดการให้ฉัน
เป็นอันตกลงว่าฉันรับเธอไว้ทำงาน ”

ในเวลาต่อมา เด็กหนุ่มคนนี้ก็ได้ทำงานอย่างหนักและได้รับความนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา
ลูกจ้างทุกคนทำงานเป็นทีมอย่างขยันขันแข็ง กิจการของบริษัทก็เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี


เด็กที่ถูกตามใจจนเป็นนิสัยได้ รับทุกอย่างที่ต้องการ จะสร้างนิสัยเอาแต่ใจตัวเองและเห็นแก่ตัวเองเป็นอันดับแรก
เขาจะไม่สนใจความเหนื่อยยากของพ่อแม่
เมื่อถึงวัยทำงานเขาก็จะคาดหวังว่า ใครๆ จะต้องเชื่อฟังเขา
เมื่อเขาเป็นผู้จัดการ เขาจึงไม่มีวันรู้ว่าบรรดาลูกจ้างนั้นลำบากอย่างไร
และมักจะโทษคนอื่น
คนลักษณะนี้เขาอาจจะทำงานได้ อาจจะประสบความสำเร็จช่วงหนึ่ง
แต่ในที่สุดแล้ว เขาจะไม่สำเหนียกคุณค่าของความสำเร็จ
หากยังคงคร่ำครวญ เคียดขึ้ง และไม่มีวันรู้สึกเพียงพอ



ถ้าเราเป็นพ่อแม่ประเภทที่ปกป้องลูกแบบนี้
จงถามตัวเราว่า
เรากำลังให้ความรักกับลูก
หรือ
กำลังทำลายเขากันแน่ ?
เราให้ลูกๆ มีบ้านใหญ่ๆ อยู่
กินอาหารดีๆ
เรียนเปียโน
ดูทีวีจอใหญ่
แต่เวลาที่เราตัดหญ้า ลองให้ลูกได้ทำด้วย
หลังอาาร ให้เขาล้าง ถ้วยชามของตัวเองพร้อมๆ กับพี่ๆ น้องๆ
ไม่ใช่ว่าเราไม่มีปัญญาจ้างคนรับใช้
แต่เพราะเราอยากจะให้ความรักกับพวกเขาอย่างถูกวิธี
เราอยากให้เขาเข้าใจว่า
ไม่ว่าพ่อแม่จะจนหรือจะรวย วันหนึ่งก็จะต้องผมขาวแก่เฒ่าลงไป เหมือนกับแม่ของเด็กหนุ่มคนนี้
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลูกของเราจะได้เรียนรู้ คือ
รู้คุณค่าของความพยายาม
ได้รู้จักว่า ความยากลำบากมันเป็นยังไง
และได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นให้เป็น



บาป ๑๔ ประการของมารดาบิดา
ว.วชิรเมธี
๒๙ มกราคม ๒๕๕๒
กาฐมัณฑุ, เนปาล

พ่อแม่บางคน (๑)
ทำร้ายลูกด้วยการรักเขามากเกินไป ผลก็คือเกิดภาวะรักจนหลง ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ อันส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนมีอัตตาสูง เชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา

พ่อแม่บางคน (๒)
ทำร้ายลูกด้วยการตามใจเขามากเกินไป ผลก็คือพ่อแม่กลายเป็นข้าช่วงใช้ของลูก ส่วนลูกกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ต้องยอมให้เขาทุกอย่าง ที่หนักกว่านั้นก็คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมตามที่ลูกต้องการลูกบางคนก็ถึงขั้นทุบตีทำร้ายพ่อแม่

พ่อแม่บางคน (๓)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ทำเลว ทำบาป ผลก็คือ ลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรมว่า ดีเป็นอย่างไร ชั่วเป็นอย่างไร จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว

พ่อแม่บางคน (๔)
ทำร้ายลูกด้วยการให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว ผลก็คือ ลูกไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่เห็นคุณค่าของผู้ที่หา/และให้เงิน ยิ่งได้เงินมาก ยิ่งผลาญเงินเก่ง มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ และทั้งๆที่ใช้จ่ายเงินสูง แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำ

พ่อแม่บางคน (๕)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง เกรงว่าหากให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองแล้วเขาจะลำบาก ผลก็คือเมื่อโตขึ้นลูกกลายเป็นลูกแหง่ที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทำอะไรด้วยตนเองไม่เป็น ยิ่งเติบโตยิ่งเป็นตัวปัญหาของสถาบันครอบครัว

พ่อแม่บางคน (๖)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มัวแต่สนใจลงทุนในการทำธุรกิจเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ไม่รู้จักลงทุนในการสร้างลูกให้เป็นปัญญาชน ผลก็คือลูกเติบโตแต่ตัว แต่ทว่ามีสติปัญญาที่ต่ำต้อย ขาดทักษะการคิด การใช้เหตุผล การทำงาน การเข้าสังคม เขาไม่เพียงแต่ไม่สามารถร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเท่านั้นแต่ยังสร้างปัญหาให้สังคมอีกต่างหาก

พ่อแม่บางคน (๗)
ทำร้ายลูกด้วยการทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน โดยลืมไปว่าคนที่ตนต้องสงเคราะห์ก่อนดูแลก่อนต้องให้ความรักก่อนก็คือลูก ผลก็คือแม้จะกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ประสบความสำเร็จนอกบ้าน สังคมสรรเสริญ แต่กลับเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวในบ้าน และลูกกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรักและความอบอุ่นให้ใคร

พ่อแม่บางคน (๘)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการเรียน ในการทำงาน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ เขาจึงเป็นนักอิจฉาริษยาตัวฉกาจ ที่จ้องแต่จะหาทางทำลายคุณงามความดีของคนอื่น

พ่อแม่บางคน (๙)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสอนเขาให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ผลก็คือ เมื่อโตขึ้น เขาจึงพร้อมผละหนีพ่อแม่ไปอย่างไม่รู้สึกผิด ไม่เห็นความจำเป็นว่า การเป็นลูกที่ดีนั้น จะต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ของตนอย่างไร

พ่อแม่บางคน (๑๐)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนลูกให้รู้จักการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ผลก็คือเมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ คิดแต่จะกอบโกย คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวจนมองไม่เห็นหัวคนอื่น แทนที่จะถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งให้ ยิ่งได้ยิ่งแบ่ง”กลับถือหลัก “ยิ่งรวยยิ่งคอร์รัปชั่น ยิ่งแบ่งปันยิ่งสูญเสียเปล่า”

พ่อแม่บางคน (๑๑)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่ยอมให้ลูกรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง ผลก็คือ ลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ ต้องเดินตามคนอื่นโดยดุษฎี

พ่อแม่บางคน (๑๒)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่สอนให้ลูกรู้จักสมบัติของผู้ดี ผลก็คือเขากลายเป็นคนหยาบกระด้างทั้งทางกาย ทางใจ ใจคอโหดหินทมิฬชาติ ขาดความสุภาพอ่อนน้อม ขาดสัมมาคาราวะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักประมาณตน ครองตน ครองงานไม่เป็น ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบประเพณี กฎหมาย จรรยาจารีตของสังคม ไม่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนดีของเพื่อนมนุษย์

พ่อแม่บางคน (๑๓)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่แนะนำให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร (เพื่อนแท้) ผลก็คือรอบกายของเขาจึงมีแต่บาปมิตร (เพื่อนเทียม) คอยประจบสอพลอ คอยหลอกล่อให้ทำความเลวทรามต่ำช้า ติดสุรา ยาเสพติด นำพาชีวิตไปในทางเสียหาย ตกอยู่ใต้วังวนของอบายมุข สนุกสนาน ไม่สนใจหาแก่นสารให้กับชีวิต

พ่อแม่บางคน (๑๔)
ทำร้ายลูกด้วยการไม่รู้จักสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักการเดินทาง ปล่อยให้เขาศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองไปตามยถากรรม ผลก็คือเขากลายเป็นคนหูตาคับแคบ ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดความรู้รอบตัว ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การคิด พูด ทำ ไม่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ขาดความแหลมคม ตามไม่ทันโลก ตกข่าว เป็นคนว่างเปล่าทางความรู้ (รอบตัว) ความคิด จิตใจ และไม่มีรสนิยมอย่างอารยชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น