...+

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการคบมิตร

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมิตรของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสว่า " ธรรมดามิตร จะเป็นคนเล็กน้อยไม่มี ผู้สามารถรักษามิตรไว้ได้เป็นสิ่งประเสริฐ มิตรผู้เสมอกัน ต่ำกว่ากัน หรือสูงกว่ากันควรคบไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้ทั้งนั้น " แล้วนำอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวดาอยู่ที่กอหญ้าคาในพระราชอุทยาน เป็นมิตรกับเทวราชผู้ศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่ง ผู้อาศัยที่ต้นไม้มงคลของพระราชาอยู่ในพระราชอุทยานนั้นด้วย ครั้งนั้น พระราชาประทับอยู่ในปราสาทเสาเดียว เสาของปราสาทนั้นสั่นไหวขึ้น พระองค์จึงรับสั่งให้พวกช่างไม้หาไม้แก่น มาเปลี่ยนเสาปราสาทใหม่ พวกช่างไม้เสาะแสวงหาไม้แก่นในพระราชอุทยาน ตกลงกันจะเอาต้นไม้มงคลนั้นทำเป็นเสาปราสาท จึงกราบทูลพระราชา พระองค์จึงอนุญาตให้ตัดได้ วันนั้น พวกนายช่างได้ไปทำพลีกรรมต้นไม้มงคล และกำหนดตัดในวันพรุ่งนี้

ฝ่ายเทวราช พอทราบว่าต้นไม้ที่อยู่อาศัยจะถูกตัด ไม่เห็นที่จะไป จึงกอดคอลูกน้อยร้องไห้อยู่ หมู่รุกขเทวดาทราบเรื่องแล้ว ก็ไม่มีใครจะช่วยแก้ปัญหาได้ เทวดาพระโพธิสัตว์ทราบเรื่อง จึงพูดปลอบเทวราชผู้สหายนั้นว่า " พรุ่งนี้เราจะไม่ให้ตัดต้นไม้นั้น พวกเราคอยดูเราเถิด "

ครั้นรุ่งขึ้น พอพวกช่างไม้มาถึง ท่านก็แปลงตัวเป็นกิ่งก่าวิ่งนำหน้าพวกช่างไม้ไป มุดเข้าที่โคนต้นไม้มงคลไปโผล่ออกทางยอดไม้นอนผงกหัวอยู่ ทำประหนึ่งว่าต้นไม้นั้นเป็นโพรง

นายช่างไม้เห็นเช่นนั้นแล้ว ก็เอามือตบต้นไม้นั้นแล้วตำหนิว่า " ต้นไม้นี้ มีโพรง ไร้แก่น เมื่อวานไม่ทันได้ตรวจดูถ้วนถี่ หลงทำพลีกรรมกันเสียแล้ว " ก็พากันหนีกลับไป

เทวราชพอเห็นวิมานของตนไม่ถูกทำลาย ก็ยกย่องพระโพธิสัตว์ ท่ามกลางหมู่รุกขเทวดา ด้วยคาถาว่า
" บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากันหรือเลวกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้
เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้
เหมือนเราผู้เป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ต้นรุจา กับเทวดาผู้สถิตที่กอหญ้าคาคบกัน "


[This download is available to users running genuine Microsoft Windows. Click the icon for more information.] นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า


ผู้คนควรมีมิตรทุกชั้นวรรณะ เมื่อคราวลำบากจะมีผู้ช่วยเหลือ

* เรื่องที่ ๑ ในกุสนาฬิวรรค หน้า ๔๖๓-๔๖๘ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
วัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๔๐๐๐๐ โทร ๐๔๓-๒๒๒๑๐๑, ๐๔๓-๓๒๐๘๕๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น