...+

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กระแสธารการเจรจาต่อรองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

กล่าวถึงที่สุดนับจากนี้ไปประเทศไทยไม่อาจขวางกั้นกระแสธารการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของมวลมหาประชาชนได้อีกต่อไป ด้วยในความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากความบกพร่องพิการทางโครงสร้างอำนาจไม่เพียงกดทับโอกาสในการต่อรอง เรียกร้อง และเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย หากยังถั่งโถมทุกข์แค้นขัดสนสู่ผู้คนจำนวนมหาศาลจากการถูกเลือกปฏิบัติและเอารัดเอาเปรียบจากผู้อยู่ส่วนยอดพีระมิดโครงสร้างอำนาจอีกด้วย

นัยของการขับเคลื่อนประเทศไทยโดยประชาชนเพื่อประชาชนจะทลายอดีตภาพที่อำนาจการจัดการบ้านเมืองจำกัดอยู่แค่กลุ่มกุมอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจจำนวนน้อยนิดที่มุ่งธำรงโครงสร้างอำนาจเดิมที่สามารถตักตวงผลประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะการปฏิรูปโดยพลังสาธารณชนเช่นนี้จะมุ่งปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างรัฐ ทุน และประชาชนให้เกิด ‘ดุลยภาพ’ จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ โอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำกันมากจากการที่คนกลุ่มบนสุดมีทรัพย์สินครัวเรือนถึงร้อยละ 69 ขณะที่กลุ่มต่ำสุดมีทรัพย์สินครัวเรือนราวร้อยละ 1 เท่านั้น และส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มรวยสุดมีถึงร้อยละ 55 แต่กลุ่มจนสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.4 เท่านั้น

ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำทำลายศักยภาพทั้งระดับปักเจก กลุ่ม องค์กร จนถึงประเทศชาติโดยรวมจากการที่สังคมไม่สามารถปลดปล่อยพลังการผลิตออกมาได้ ด้วยไม่มีโอกาส ไม่มีพลัง หรือกระทั่งกลัวเกรงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการริเริ่มสิ่งใหม่ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่า และผลิตสิ่งที่เป็นคุณค่า เช่น ศิลปะ วิชาความรู้ สติปัญญา และจิตวิญญาณสังคม ทั้งยังพลัดพรากความหวังของผู้คนที่เชื่อมั่นว่าสักวันอนาคตชีวิตตนเองและลูกหลานจะดีขึ้นอีกด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้วก็เงยหน้าอ้าปากไม่ได้

สังคมไทยจึงต้องเปิดกว้างโอกาสแก่ประชาชนให้กลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพและอนาคตตนเองด้วยการขจัดเงื่อนไขที่ก่อความเหลื่อมล้ำอย่างหนักให้สิ้นไปโดยการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ ทุน และสังคมใหม่ ไม่ก็เพิ่มอำนาจแก่กลุ่มเปราะบางทางสังคม เพื่อให้เกิดดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เคยมีพลังต่อรองห่างไกลกันมากให้มามีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เท่าเทียมกันมากสุด เพราะการกระจายพลังเจรจาต่อรองไปยังกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันไม่เพียงสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่การเจรจาต่อรองแก่คนทุกกลุ่ม ทว่าพลังต่อรองที่เท่าเทียมกันของกลุ่มคนภายในประเทศยังเป็นฐานพลังการต่อรองกับรัฐ ทุน และสังคมข้ามชาติเท่าๆ กับขจัดโอกาสที่การต่อรองจะเป็นไปเพื่อมุ่งสนองประโยชน์คนกลุ่มน้อยที่มีพลังต่อรองภายในสูงดังเคยเป็นมาด้วย

การปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่อาจขวางกั้นกระแสธารการเพิ่มพลังการเจรจาต่อรองแก่คนทุกกลุ่มในสังคมทั้งเพื่อปรับดุลยภาพการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ และเตรียมรับกับสถานการณ์ผันผวนในชีวิตที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกขณะจากการบริหารจัดการกิจการสาธารณะของภาครัฐและการรุกคืบของทุนธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด

เหตุนี้การต่อรองที่เท่าเทียมและเป็นธรรมจึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ อย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยที่จะต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรการเมือง โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารเพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐที่มักกระทบวิถีชีวิตเสมอๆ เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นธาร และการเลือกพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ด้วย

ด้วยเหตุปัจจัยเช่นนี้ แนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จึงมุ่งรื้อปมเงื่อนรากเหง้าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สลับซับซ้อนยึดโยงแนบแน่นในสังคมไทยโดยการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านการบริหารทรัพยากร 4 มิติสำคัญ คือ

ด้านการบริหารทรัพยากรธรรมชาติต้องเร่งปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเพราะที่ดินเป็นทุนฐานสำคัญของทุกชีวิตแต่มีอยู่อย่างจำกัด ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เพราะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรป่าเพราะปัจจุบันมีความไม่เป็นธรรมสูงมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ป่าไปในวิถีทางขัดทุนนิยม ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเพราะเสื่อมโทรมลงรวดเร็ว

ด้านการบริหารทรัพยากรเศรษฐกิจก็ต้องเร่งปฏิรูปทุนเพราะส่วนใหญ่ของทุนเป็นทรัพยากรสังคมทั้งหมด ปฏิรูปแรงงานเพราะรายได้ยังแตกต่างกันมากระหว่างแรงงานในกับนอกระบบ ปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเพราะเกษตรกรรายย่อยกำลังล้มตายจากน้ำมือเกษตรอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบภาษีเพราะยังจัดเก็บไม่เป็นธรรม ปฏิรูประบบตลาดเพราะกลไกตลาดล้มเหลว ปฏิรูปด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรมเพราะมีแต่การเอาเปรียบ และปฏิรูประบบพลังงานเพราะแต่ละปีต้องนำเข้าพลังงานมหาศาล

ด้านการบริหารทรัพยากรสังคมก็ต้องเร่งกระจายทรัพยากรสังคมสู่ผู้คนอย่างทั่วถึงถ้วนทั่วเท่าเทียมทั้งด้านการศึกษา การสื่อสาร สาธารณสุข ศาสนาธรรมและจิตวิญญาณ การเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ เมืองเพื่อคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่นกันกับการบริหารทรัพยากรการเมืองที่ต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่มีลักษณะรวมศูนย์บนลงล่าง กระบวนการยุติธรรมที่ต้องยุติที่ ‘ธรรม’ เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการปฏิรูปกองทัพ

การปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่อาจขวางกั้นกระแสธารเชี่ยวกรากของการปรับสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างรัฐ ทุน และสังคมเพื่อนำไปสู่จุด ‘ดุลยภาพ’ ที่ทุกกลุ่มมีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพียงพอจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น