...+

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรเมื่อถูกจับผิดตัว โดย สราวุธ เบญจกุล

จากกรณีที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายขังและปล่อยตัว นายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาคดียาเสพติด และถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางไปทันที เนื่องจากรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถูกจับกุมและคุมขังไม่ใช่ผู้ต้องหาที่กระทำความผิด เพียงแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกับผู้ต้องหาอีกคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับการดำเนินกระบวนการทางศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจับและการคุมขังบุคคลที่จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ดี หากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าได้มีการจับกุมและคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้”

นอกจากนี้ เพื่อให้หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขตั้งแต่การออกหมาย การจับกุมผู้กระทำความผิด ไปจนถึงการนำตัวผู้กระทำความผิดไปคุมขังไว้อย่างละเอียด รวมถึงวิธีแก้ไขในกรณีที่มีการอ้างว่ามีการคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมาตรา 90กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญานั้น ได้แก่

(1) ผู้ถูกคุมขังเอง
(2) พนักงานอัยการ
(3) พนักงานสอบสวน
(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
(5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

ทั้งนี้ เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้ปล่อย จะต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน และหากศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที ซึ่งในกรณีของนายสมใจ แซ่ลิ้ม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 นายธงชัย ฉัตรเพิ่มพร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนงได้รับจดหมายจากนางสุรินทร์ พิกุลขาว ขอให้ปล่อยตัวนายสมใจ แซ่ลิ้ม สามีซึ่งมีอาชีพรับจ้างเลี้ยงหมู ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายสมใจสามีตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และน่าจะเป็นการจับผิดตัว

ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยด่วน และเมื่อนางสุรินทร์ได้เดินทางมาศาลเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ศาลได้ทำการไต่สวนพยานผู้ร้องรวม 5 ปาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนายอนันต์ มีกุลหรือมีสกุล และนายสุรเชษฐ์ กลั่นคำ สองผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อและจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 2,000 เม็ด ที่ให้การว่าได้ร่วมกับนายสมใจ แซ่ลิ้ม อาชีพรับจ้างขับรถทัวร์ ร่วมกันค้ายาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยเห็นหน้าคนร้ายและยืนยันได้ว่านายสมใจ แซ่ลิ้ม ผู้ต้องหาที่จับกุมมา ไม่ใช่นายสมใจ หรือ ใจ แซ่ลิ้ม คนร้ายที่ร่วมกระทำความผิด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายขัง และให้ออกหมายปล่อยตัวนายสมใจ แซ่ลิ้ม ไปทันทีในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยตามมาตรา 90 จะมีอยู่เพียงระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น หากในระหว่างที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อย หรือการไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยนั้นยังไม่ถึงที่สุด และผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวไปแล้วในระหว่างนั้น ศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีนั้น และสิทธิของบุคคลที่ร้องขอให้ปล่อยย่อมระงับไป

ดังตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 4827/2550 (ประชุมใหญ่) ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว จากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 90 นั้นมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ร้องชั่วคราวไปแล้วโดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ จึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องอีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ แต่ในส่วนของการจับหากเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป

ดังนั้น การคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะต้องกระทำการด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นในกรณีของนายสมใจ แซ่ลิ้ม ที่ถือได้ว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในร่างกายตามที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายจึงต้องมีมาตรการที่จะคุ้มครองเมื่อมีการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้นเกิดขึ้น โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะต้องทำการไต่สวนหาความจริงว่ามีการควบคุม กักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ หากเป็นจริงศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้นไปทันที ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเป็นรายกรณีไป

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น