...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แสนคำนึงถึงเมืองไทย...รำพึงที่ริมหาดแม่รำพึง โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์

ปลายเดือนเมษา ๒๕๕๔ ได้ไปเยือนหาดแม่รำพึง จ.ระยอง อีกครั้งหนึ่ง ตอนเช้าตรู่ได้ออกมาเดินเล่นชายหาด ไม่แคล้วเสียใจซ้ำซากที่เห็นชายหาดแสนสวยเต็มไปด้วยขยะ ทั้งที่สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นมหาศาล แต่หน่วยบริหารท้องถิ่น (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ไม่เคยเหลียวแลทำความสะอาด ..อย่างนี้ยุบทิ้งดีไหม

พบปะชาวประมงรายย่อย คุยกันถูกคอ เลยจ้อกันอยู่เป็นนาน ได้ความว่าเมื่อสองปีก่อนที่หาดแม่รำพึงนี้ยังจับปลาได้ดีอยู่เลย โกยเอาโกยเอา แต่วันนี้ไม่เหลือแล้ว

จำต่อไปได้ว่าเมื่อสองปีก่อนที่มาบตาพุดซึ่งห่างออกไปประมาณ 40 กม. ก็เกิดปัญหาแบบนี้ ชาวประมงที่นั่นจึงได้ชุมนุมเรียกร้องให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างชาติลงขันกันเพื่อจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่หดหายไปของพวกเขา ทั้งนี้เพราะมลพิษจากโรงงานที่ปล่อยลงทะเลได้ทำลายแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของลูกกุ้งปลา ให้ล้มหายตายไปอย่างมากหลาย เมื่อมีอาหารกินไม่เพียงพอ ตัวอ่อนเหล่านี้ก็ล้มตายหายสูญไปมากหลาย ส่งผลให้ปลาใหญ่หายหดไปด้วย

ชะรอยมลพิษที่มาบตาพุดเมื่อสองสามปีก่อนได้ขยายผลมาจนถึงหาดแม่รำพึงแล้ว ..แล้วนานวันไปอาการเช่นนี้มันจะไม่ลามไปทั่วอ่าวไทยดอกหรือ

เมื่อก่อนนี้ ในนามีข้าวในอ่าวมีปลา มาบัดนี้ ในอ่าวหมดปลาในนาก็มีแต่สารเคมี

ส่วนปลาที่พอจับได้แล้วเอามาขายให้เรากินในราคาแพงลิบลิ่วนั้นเล่า ก็คงไม่แคล้วว่าเนื้อปลาจะเต็มไปด้วยสารพิษจากโรงงานที่ปล่อยลงทะเลที่ได้ซึมเข้าไปในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนโน่น

การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมริมทะเลเอาใจนักลงทุนต่างชาติยังส่งผลทั้งโดยตรงและอ้อมให้เกิดการทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอภิบาลลูกปลาอีกด้วย เช่น ก่อเกิดการถมป่าชายเลนเพื่อสร้างบ้านพักให้ผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งตามกฎหมายด้านป่าไม้แล้วจะกระทำมิได้ แต่นั่นแหละแข็งเท่าไรก็เอาเงินง้างได้เสมอในอาณาเขตประเทศเรานี้

คนไทยที่ชอบบริโภคอาหารทะเลจะเกิดโรคร้ายจากมลพิษสะสมอย่างไรก็น่าจับตาดูกันต่อไป โดยเฉพาะนักกินเมืองที่ร่ำรวยจากธุรกิจการเมืองจน “กินดีอยู่ดี” กว่าเราทั้งหลาย เพราะคนพวกนี้นิยมบริโภคอาหารทะเลราคาแพงหูฉี่มากกว่าคนไทยทั่วไป..ที่ยากจนจนไม่มีปัญญากินปูทะเลโลละพันบาทแบบพวกเขาได้หรอก ได้แต่กินส้มตำปูดองกันไปตามยถากรรม (ได้ข่าวว่าปูดองก็หายหดจากมลพิษจนต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว)

ผลร้ายของนิคมอุตสาหกรรมต่างด้าวริมทะเลยังมีอีกมากหลาย จะขอยกตัวอย่างอีกสักอย่าง คือ เด็กไทยในชนบทที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ขาดพ่อแม่ดูแลและให้ความอบอุ่น จนทำให้กลายเป็นเด็กแว้นไปหมดทั่วชนบทไทย ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ของพวกเขา ได้ทิ้งลูกทิ้งเต้าเข้าไปทำงานเป็นขี้ข้าต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมริมทะเลนั่นแล

พ่อแม่เหล่านี้ในหนึ่งปีจะได้กลับมาดูแลลูกเต้าอย่างมากก็เพียงสองครั้ง คือ ช่วงปีใหม่ฝรั่ง และช่วงปีใหม่ไทย ที่ต้องฟันฝ่าการจราจรที่แสนคับคั่ง ฝ่าอุบัติเหตุบนท้องถนน และกระไอแดดที่แผดร้อนทั้งวัน ทั้งขาไปและขากลับ เพียงเพื่อได้กลับมากอดลูกเป็นเวลาสองสามชั่วโมงเท่านั้นเอง

คิดไปแล้วให้น่าอนาถใจ ที่ประเทศไทยของเราแสนอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีสติฉุกคิดสักนิด จะทำให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกก็ย่อมได้ เสียแต่ว่ามีนักเลือกตั้งไทยเข้าไปเป็นผู้บริหารประเทศ ที่ส่วนใหญ่คิดได้แต่เพียงการถอนทุนที่ลงไว้ในการเลือกตั้ง

ผมได้พยายามกระจายแนวคิดมานับสิบปีแล้วว่าประเทศไทยต้องมีศักดิ์ศรีแห่งตน เลิกยืมจมูกนักลงทุนต่างชาติหายใจได้แล้ว หันมายืนบนลำแข้งแรงขาของตนเอง ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรขนาดเล็กให้ขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วทุกท้องถิ่น โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วม ด้วยการใช้แรงงานเป็นการลงทุนร่วม พร้อมทั้งตั้งสหกรณ์ค้าปลีกเพื่อกักเงินไว้ไม่ให้ไหลออกนอกประเทศผ่านร้านค้าปลีกต่างชาติทั้งหลายที่ตั้งอยู่ตามหัวเมืองใหญ่

ถ้าเราทำได้เช่นนี้ จะมีผลดีตามมาอีกมากหลาย เช่น เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น จนไม่ต้องทิ้งลูกเต้าไปหากินเป็นขี้ข้าต่างชาติที่ริมทะเล สหกรณ์ค้าปลีกก็จะช่วยเป็นทำนบกักเงินไว้ให้ไหลเวียนหล่อเลี้ยงท้องถิ่นให้อุดม แทนที่จะไหลออกไปเลี้ยงต่างชาติที่เขารวยโขอยู่แล้ว เรียกได้ว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

แนวคิดดังว่านี้ผมได้เขียนและพูดเสนอต่อนักการเมืองและนักวิชาการมากหลายตามศักยภาพอันน้อยนิดแห่งตนเท่าที่มี จนมือหงิกลิ้นห้อย ก็ยังไม่เกิดมรรคผลแต่ประการใด

วันนี้ผมเหนื่อยล้า ท้อถอย แต่ก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะได้เห็นชาวไทยหลากหลายคนที่ยังมีสมอง มีพลัง มีคุณธรรม พอที่จะกอบกู้สังคมได้

หากคนเก่งดีเหล่านี้รวมกันติด ลดอัตตาของแต่ละคนลงมาทำงานร่วมกัน แทนที่จะทะเลาะกันอยู่นั่นแหละ เราคงร่วมมือกันทำงานกู้ชาติให้พ้นจากเงื้อมมือของนักเลือกตั้งได้สักวันหนึ่ง ซึ่งต้องมาถึงในเร็ววันนี้ ก่อนที่ประเทศไทยจะอาการทรุดหนักเกินแก้ไข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น