...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ

ถอดบทเรียนการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ

วารสารธรรม(ะ)ชาติบำบัด
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๔

แบ่งปันบน facebook Share


กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาลที่เคารพ

จากการที่ท่านได้เมตตาตรวจการบ้านให้ตุ๊ ในจดหมายฉบับก่อน “น้ำท่วมโคราช โอกาสพัฒนาด้านจิตวิญญาณ” เมื่อวารสาร ธรรม(ะ)ชาติบำบัด ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 ตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป เพื่อนๆที่เป็นเครือข่าย ธรรม(ะ)ชาติบำบัด หลายคนอ่านแล้วติดใจ อยากมีโอกาสส่งการบ้านพระอาจารย์ และขอรับคำชี้แนะด้วยวิธีนี้บ้าง แต่ไม่ค่อยมีเวลาเรียบเรียงงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ ตุ๊เลยรับอาสา ไปตั้งวงเรื่องเล่าเร้ากุศล และ ถอดบทเรียนจากน้องๆที่ปฏิบัติงานกันตามโรงพยาบาลชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชน นำมาเรียบเรียงส่งเป็นการบ้านท่านในรูปจดหมาย และหวังว่าท่านคงจะให้ความเมตตาตอบจดหมาย เพื่อเติมเต็ม และให้ปัญญาทางธรรมแก่พวกเราต่อไป
จดหมายฉบับนี้ตุ๊มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 นิดตายอย่างสงบหรือไม่
จุ๋ม (พยาบาล) และพี่ๆน้องๆที่เป็น พยาบาล และจิตอาสา ศูนย์สุขภาพชุมชนในโรงพยาบาลปักธงชัย มีความเมตตาสูง จนรับย้ายนิด (นามสมมติ) เพื่อนพยาบาลด้วยกันที่เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ให้มาทำงานด้วยกันที่ศูนย์ ทั้งๆที่รู้ว่านิดคงจะสามวันดี สี่วันไข้ ทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่เจตนาก็คือ อยากช่วยให้นิด ได้เตรียมตัวเผชิญความตายอย่างสงบ

จุ๋มเป็นคนสนใจการปฏิบัติธรรม จนไปสมัครเรียนปริญญาโท ด้านพุทธศาสน์ จากสาวิกาสิกขาลัย และจบปริญญาโทด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “การฝึกอานาปนสติภาวนาในผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต” เมื่อรู้จักกับนิด จุ๋มพยายามชักชวนนิดให้ไปปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ และเมื่อนิดย้ายมาทำงานด้วยกัน จุ๋มในฐานะหัวหน้าทีม ก็จัดงานให้นิดทำตามกำลัง และเปิดโอกาสให้นิดได้พักผ่อน และดูแลสุขภาพตนเองได้เต็มที่ จุ๋มเล่าว่า

“ นิดเป็นคนทำงานเก่ง และมีประสิทธิภาพมาก เธอมักจะรู้สึกวิตกกังวล ว่าจะทำงานไม่ได้เต็มที่ กลัวเพื่อนๆว่า เอาเปรียบ และผิดระเบียบราชการ หากไม่ได้สแกนนิ้วมือ (ใช้แทนลายเซ็น เพื่อเช็คเวลาทำงาน) ตามเวลาที่กำหนด ทั้งๆที่เพื่อนๆทุกคน เข้าใจ และไม่เคยว่าอะไร”

เมื่อนิดเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย มะเร็งลุกลามไปที่กระดูก ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก ต้องใช้มอร์ฟีนและยาแก้ปวดหลายชนิด จุ๋มจัดระบบให้เพื่อนๆพยาบาลและจิตอาสาผลัดเปลี่ยนกันไปช่วยดูแลนิดที่บ้าน ดังนี้

1. ตาโต (พยาบาล) ไปดูแลสุขภาพด้านกาย เช่น การให้น้ำเกลือ การให้ยาแก้ปวด ยากันอาเจียน การใช้ออกซิเจน และช่วงหลังๆ นิดมีปัญหาการกิน ตาโตได้ตัดสินใจใส่สายยางเข้าทางจมูก (ลงไปที่กระเพาะ) เพื่อให้อาหารทางสายยาง และจัดระบบบันทึก แบบเวชระเบียนประจำบ้าน ได้ดีอย่างน่าชื่นชม
2. อ้อย (อายุรเวท) และนึก (อสม.ที่ป่วยเป็นมะเร็ง) ทำหน้าที่เป็นจิตอาสา ไปทำการนวดผ่อนคลาย เช็ดตัว พลิกตัว ชวนพูดคุย และดูแลความสะดวกสบายอื่นๆ
3. จุ๋ม และ เยือ (พยาบาล) ไปดูแลสุขภาพจิต และจิตวิญญาณ โดยนำซีดีบทสวดมนต์ บทภาวนาโพวา มรณสติ และบทนำทางสู่สุคติ ของพระอาจารย์ไพศาล ไปเปิด และนั่งสมาธิอยู่ด้วยครั้งละนานๆ รวมทั้งนิมนต์พระภิกษุ ที่จุ๋มเคารพนับถือ ไปโปรดนิดที่บ้านด้วย ถึง 2 ครั้ง
4. นอกจากนี้ ก็มีสามี และพี่สาวนิด ผลัดเปลี่ยนกันดูแลตลอด

วันที่หมอตุ๊ไปเยี่ยมนิดที่บ้าน นิดฟังซีดีของพระอาจารย์ไพศาลอยู่ ดูเธอสงบและผ่อนคลาย
พอสมควร แต่ก็ยังบ่นว่า

“คนที่บ้าน สอนอะไรก็ไม่จำ สอนวิธีเช็ดตัวให้ก็ทำไม่เป็นซักที” (ก็คนสอนเป็นพยาบาลแต่คนทำเขาไม่ใช่พยาบาลนี่นา) เพื่อนๆบอกว่า แม้จะอยู่กับความเจ็บปวด แต่บางครั้งนิดก็พยายามปล่อยมุขขำๆ ออกมาให้คนไปเยี่ยมได้หัวเราะกัน

จุ๋มแอบเรียกหมอตุ๊ออกมาจากห้องแล้วกระซิบว่า “นิดเขามีเรื่องค้างคาใจกับแม่เขามาก แม่ไม่ค่อยกล้าเข้าไปหาลูกในห้อง เพราะเขาจะไล่ออกมา อาจารย์จะช่วยเขาได้ไหมคะ”

หมอตุ๊นั่งอึ้งไปเล็กน้อย แล้วก็สารภาพอ่อยๆว่า “ไม่รู้เหมือนกัน พี่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับแม่เขา แล้วยังไม่กล้าเปิดประเด็นนี้กับนิดด้วย..กลัวเขาเครียดขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้นอกจากไม่มีแรงแล้ว เขาก็ทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดอยู่มาก”

จากนั้นมา เมื่อปักธงชัยประสบภาวะน้ำท่วมใหญ่ ตาโต(ผู้ซึ่งว่ายน้ำไม่เป็น)ลงทุนนั่งเรือท้องแบนเข้าไปบ้านนิด ซึ่งน้ำท่วมมิดชั้นล่าง ต้องอพยพกันขึ้นไปนอนบนชั้นสอง ขู่แกมบังคับให้นิดออกมานอนที่โรงพยาบาล

“ ช่วงนี้ที่บ้านไม่มีไฟ ไม่มีน้ำ การเดินทางมาโรงพยาบาลก็ลำบาก หากเป็นอะไร เพื่อนๆจะเข้าไปช่วยไม่ทัน นิดต้องออกมานอนที่โรงพยาบาลนะจ๊ะ”

นิดมานอนโรงพยาบาลได้อีกไม่กี่วัน ก็หมดลมหายใจ คืนสู่ธรรมชาติ โดยมีสามีและญาติเฝ้าอยู่ตลอด

จากเรื่องเล่าเรื่องแรกนี้ น้องๆที่เปิดวงเรื่องเล่าสรุปสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ดังนี้
1. จุ๋มเป็นผู้บริหารทีมที่ดี ใช้พรหมวิหาร 4 ในการทำงานร่วมกับน้องๆ เมื่อสมาชิกในทีมเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ดูแลอย่างเป็นองค์รวม และจัดงานให้ทำตามความเหมาะสม โดยทีมงานทุกคนก็มีจิตเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เกี่ยงงานกัน
2. จุ๋มประสานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และจัดระบบการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดี Put the right man on the right job
3. ตาโต ใช้ความรู้ทางการพยาบาล และประสานกับแพทย์ เพื่อจัดการดูแลด้านร่างกายได้เหมาะสม
แม้จุ๋ม กับ ญาติ และ ตาโต จะมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการใส่สายยางให้อาหาร ว่ากระเพาะผู้ป่วย จะยอมรับหรือไม่ ตาโตได้จัดระบบจดบันทึก ของเหลวที่เหลือในกระเพาะก่อนการให้อาหารใหม่ทุกครั้ง เพื่อประเมินจากสภาพที่เป็นจริง หากเหลือมาก ก็ไม่ต้องให้มื้อต่อไป ซึ่งทำให้ญาติเข้าใจ และพอใจมาก
4. อ้อยและนึก ใช้ความรู้ทางแพทย์แผนไทย และพลังจิตอาสา พลังกรุณา ให้การเยียวยา เพื่อเพิ่มความสุขสบายแก่ผู้ป่วยได้ดีมาก
หมอตุ๊เสนอให้จุ๋มพาอ้อยและนึกเป็นต้นแบบ พัฒนาทักษะต่อยอดให้แก่เครือข่ายญาติและจิตอาสาอื่นๆ เพื่อจะได้นำเทคนิคทางธรรมชาติบำบัด เช่นการจัดอาหารให้ผู้ป่วย การนวดสัมผัส การอาบแสงตะวัน การอบร้อนเย็น ดนตรีบำบัด ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเป็นระบบ กว้างขวางขึ้น
5. จุ๋มและเยือ ใช้ความรู้ทางพุทธศาสน์ โดยเฉพาะที่ได้จากการอบรมจากเครือข่ายพุทธิกา มาดูแลผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ ได้ดีระดับหนึ่ง
หมอตุ๊เสนอให้ จุ๋มนิมนต์พระ ที่เป็นเครือข่ายของจุ๋ม เข้ารับการอบรมกับพระอาจารย์ไพศาลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อท่านจะได้เพิ่มพูนความรู้และทักษะ ในการไปโปรดผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่อไป
ส่วนกลุ่มมิตรภาพบำบัดผู้ป่วยมะเร็งในอำเภอปักธงชัยนั้น หมอตุ๊ยินดีจะไปทำกลุ่มโดยใช้ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ (S9-S15) ที่พัฒนาคู่มือไว้ ทยอยจัดไป เดือนละ 1 เรื่อง เพื่อจะได้ไม่ต้องรอจนถึงระยะสุดท้าย เพราะอาจเตรียมอะไรไม่ทัน

อย่างไรก็ดี ตุ๊และน้องๆในวงเรื่องเล่า ก็มีประเด็นที่จะขอความเมตตาให้ท่านช่วยเติมเต็มให้แก่พวกเรา ดังนี้ค่ะ
1. จากเรื่องที่เล่ามา ท่านเห็นว่ามีสิ่งใดที่ทีมงานควรทำเพิ่มเติมอีก
2. ประเด็นของนิดและแม่ (ที่จุ๋มบอกว่ามีเรื่องค้างคาใจ จนนิดไล่แม่ทุกครั้งที่แม่เข้าไปในห้อง) ในสถานการณ์แบบนี้ เราควรทำอะไร ได้แค่ไหน
3. เท่าที่ท่านรับทราบจากการอ่านเรื่องเล่านี้ ท่านคิดว่า นิดตายอย่างสงบหรือไม่


เรื่องที่ 2 ผมคิดอยู่เสมอว่าผมไม่ได้เป็นมะเร็ง
คุณลุงบุญหลง(นามสมมติ) อายุ 65 ปี ป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ ต้องให้เคมีบำบัดถึง 3 รอบ (รอบละ 6 ครั้ง) เพราะมะเร็งดื้อยา และลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆแล้ว แม้คุณลุงจะเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งสูงสุดในระดับผู้อำนวยการมาถึง 5 ปีแล้ว แต่คุณลุงก็ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานในระดับประเทศอยู่ และต้องเดินทางไปตรวจงานต่างจังหวัดเนืองๆ

คุณลุงบอกว่า “ชีวิตและความภูมิใจของผม คือการได้ทำงาน การได้มีโอกาสพบปะผู้คน และพูดคุยกับน้องๆ”

เมื่อภรรยาของคุณลุงซึ่งเป็นคนที่หมอตุ๊นับถือ มาขอร้องให้จัดกิจกรรมทาง ธรรม(ะ)ชาติบำบัดให้แก่คุณลุงบุญหลง โดยให้หมอตุ๊โทรศัพท์ไปเชิญคุณลุงด้วยตนเอง เพื่อคุณลุงจะได้เกรงใจ และยอมมาร่วมกิจกรรม ซึ่งก็เป็นดังคาดคือคุณลุงยอมมาด้วยความเกรงใจ หมอตุ๊ตั้งใจทำบุญ โดยการเชิญเครือข่ายมิตรภาพบำบัดที่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง และมีประวัติเป็นผู้บริหารระดับสูงคล้ายคุณลุงบุญหลง ให้มาเล่าประสบการณ์ในการดูแลตนเองด้วยธรรมะชาติบำบัด คือ 6 อ. (อบอุ่นไอรัก อาหารผักหลากหลาย ออกกำลังกายทุกวันวาร อารมณ์เบิกบานและผ่อนคลาย เลี่ยงอันตรายจากพิษ และนำชีวิตด้วยอริยมรรคมีองค์แปด)

เมื่อพบกลุ่ม และเริ่มแนะนำตัว ผู้ป่วยท่านอื่นจะเล่าประวัติการเจ็บป่วยของตนเองให้กลุ่มฟัง แต่คุณลุงบุญหลง เล่าเรื่องงาน “เมื่อวานนี้ ผมไปจังหวัดอุบลราชธานี ไปทำงานเรื่อง.....มา” เมื่อหมอตุ๊ พยายามให้ผู้ป่วยท่านอื่นเล่าเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองทั้งทางโลกและทางธรรม คุณลุงบุญหลง จะพยายามซักถามคนอื่นเกี่ยวกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และแสดงความรู้เรื่องโรคอย่างละเอียด

สุดท้ายเมื่อหมอตุ๊ พยายามไล่ตามกิจกรรม 6 อ. โดยเริ่มตั้งแต่ อบอุ่นไอรัก คุณลุงบุญหลงเริ่มหัวเราะแหะๆ บอกว่าผมอยู่คนเดียว (ภรรยาคุณลุงทำงานต่างจังหวัด) ไม่มีใครมาช่วยทำอาหาร (แบบที่ฟังคนอื่นๆเล่า) ให้กินหรอก และยอมรับว่า สนใจเรื่อง การฝึกลมหายใจ การฝึกสมาธิ และเจริญสติ น้อยมาก

หมอตุ๊จับประเด็นจากการพูดคุยได้ว่า คุณลุงบุญหลง มีปัญหาการนอนไม่หลับ เพราะจิตมีความคิดฟุ้งซ่านมาก และรู้สึกเป็นทุกข์กับเรื่องนี้ จึงนำเรื่องนี้มาเป็น entry point ในการทำกิจกรรมอื่นๆต่อไป โดยชวนคุณลุงและเพื่อนร่วมกลุ่มให้ร่วมกันสวดมนต์ (คุณลุงเล่าว่า เวลาสวดมนต์ก่อนนอนผมจะหาวหวอดๆ พอปิดหนังสือ และเริ่มหลับตาก็ตื่นขึ้นมาทันที) จากนั้นเชิญหมอฝนให้มาเล่นคริสตัลให้ฟัง ปรากฏว่าคุณลุงหลับได้ลึก และนาน จนถึงเวลาที่ทุกคนตื่นหมดแล้ว คุณลุงก็ยังไม่รู้สึกตัว

เนื่องจากในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ หมอตุ๊ขอให้ลูกๆซึ่งอยู่บ้านเดียวกับคุณลุงมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ด้วย โดยมอบซีดีบทสวดมนต์และบทผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ให้กลับไปเปิดที่บ้าน ลูกๆแอบกระซิบกับหมอตุ๊ว่า “ปกติหนูก็เห็นพ่อเขาหลับดี แต่พอตื่นขึ้นมา เขาจะบอกว่า เขานอนไม่หลับ” หมอตุ๊บอกว่า บางทีตาเขาหลับ แต่จิตเขาตื่นก็เป็นได้

ก่อนจบกิจกรรม หมอตุ๊สอนการหายใจ ประกอบการรำไทชิอย่างง่ายให้ ปิดท้ายด้วยการดูวีซีดี เรื่องราวของคุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ เมื่อดูจบ ถามคุณลุงบุญหลง ว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง คุณลุงตอบว่า

“ พูดจริงๆนะตุ๊ ผมคิดอยู่เสมอว่าผมไม่ได้เป็นมะเร็ง ดังนั้นผมจึงใช้ชีวิตตามปกติ”

หมอตุ๊ฟังแล้วจิตตกแว้บ...ตายแล้ว ที่เราทำอะไรต่อมิอะไรมาทั้งวันนี่ เราลืมประเมินคนไข้ว่า เขาผ่านขั้นตอน การยอมรับความจริง ไปแล้วหรือยัง

สงสัยเรื่องนี้ส่งการบ้านพระอาจารย์ไพศาล ได้คะแนนศูนย์แน่ๆเลย!

เรื่องนี้ตุ๊ไม่กล้าสรุปว่าตุ๊ทำอะไรได้ดี เพราะนึกถึงที่แม่ชีศันศนีย์เคยพูดไว้ว่า “อย่าให้อย่างยัดเยียด ควรประเมินผู้รับก่อนให้” ก็เลยไม่แน่ใจว่าที่ตุ๊คิดว่ากำลังทำดี เป็นความดีจริงหรือเปล่าคะ กราบนมัสการพระอาจารย์ช่วยชี้แนะค่ะ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพและศรัทธา
หมอตุ๊
เจริญพร คุณหมอตุ๊

อาตมาอ่านเรื่องราวการดูแลคุณนิดโดยคุณจุ๋มและเพื่อนด้วยความชื่นชม เป็นการดูแลทั้งกายและใจโดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ และใช้ใจควบคู่กับการจัดการ เป็นแบบอย่างของการทำงานเป็นทีมที่นำความถนัดของแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ อาตมาคิดว่ากรณีนี้เป็นรูปธรรมที่ดีของการทำงานแบบinter-disciplinary ที่พูดถึงในวงการแพทย์โดยเฉพาะแบบประคับประคอง

อาตมาเชื่อว่าการดูแลอย่างดีโดยคุณจุ๋มและคณะ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและพยาบาล ช่วยให้คุณนิดเจ็บปวดน้อยลงทั้งกายและใจ และสามารถทำใจรับมือกับความเจ็บปวดได้มากขึ้น แต่อาตมาไม่สามารถตอบได้ว่าคุณนิดตายสงบหรือไม่ เพราะรายละเอียดที่คุณหมอให้มานั้นไม่เพียงพอที่จะให้ความเห็นได้ แต่เชื่อว่าบรรยากาศที่คุณหมอเล่ามานั้นล้วนเอื้อต่อการจากไปอย่างสงบของคุณนิด

สำหรับเรื่องค้างคาใจที่มีต่อคุณแม่นั้น อาตมาคิดว่าทีมพยาบาลสามารถทำได้โดยเริ่มจากการสอบถามอย่างอ้อม ๆ ว่า คุณนิดมีอะไรบ้างไหมที่ห่วงกังวลหรือรบกวนจิตใจ หากมี ก็จะได้พูดคุยสนทนากันเพิ่มเติม หากเธอยังไม่พร้อมที่จะเปิดใจ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นกรณีหลังสิ่งที่น่าจะทำก็คือสอบถามจากคุณแม่ของเธอว่าเป็นเรื่องอะไร จะได้เป็นข้อมูลในการเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามเธอในโอกาสที่เหมาะสม หากเธอพร้อมก็น่าจะเปิดประเด็นคุยกับเธอเรื่องนี้เพื่อช่วยปลดเปลื้องความ รู้สึกที่รบกวนใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าทำก็คือ ชวนเธอกล่าวคำขอขมาหรือขออโหสิกรรม อาจจะมีพิธีกรรมเล็กน้อยด้วยก็ได้ เพื่อช่วยในการปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ

สำหรับกรณีคุณลุงบุญหลงนั้น การที่แกพูดว่า “ ผมคิดอยู่เสมอว่าผมไม่ได้เป็นมะเร็ง ดังนั้นผมจึงใช้ชีวิตตามปกติ” เป็นไปได้ว่า ๑) คุณลุงต้องการมองในแง่บวก ด้วยความเชื่อว่าถ้าคิดว่าฉันไม่ได้เป็นมะเร็ง ก็อาจทำให้มะเร็งหายไปในที่สุด หรือ ๒) คุณลุงยังไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง อาตมาคิดว่าน่าจะเป็นกรณีหลัง จากที่คุณหมอเล่ามา คุณลุงเป็นคนเก่งและมีฐานะเป็นผู้นำ จึงอาจทำใจไม่ได้ที่ตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะนั่นหมายถึงการเป็น “ผู้ป่วย” ซึ่ง(ในความรู้สึกของแก)มีสถานะที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ต้องเชื่อฟังหมอและพยาบาล จึงเป็นการลดสถานภาพของตัวเอง ซึ่งแกคงยากที่จะยอมรับ

เคยมีหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่ง พอรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ก็ไม่ยอมพบใคร ไม่ให้ใครมาเยี่ยมหรือพูดเรื่องโรคมะเร็งกับตน รวมทั้งไม่ยอมรับคำแนะนำใด ๆ ใครต่อใครแนะนำให้ลองทำสมาธิ ภาวนา เธอก็ไม่ฟัง ตลอด ๗ ปีที่ป่วยเธอเอาแต่ทำงาน ไม่สนใจทำบุญ เข้าวัดหรือปฏิบัติธรรม แต่เวลาอยู่กับคนไข้ด้วยกัน เธอจะช่วยเหลือพวกเขาเป็นอย่างดี ทั้งให้กำลังใจ ทั้งพาไปกินเลี้ยง เห็นได้ชัดว่าเธอจะมีความสุขมากเวลาได้เป็นผู้นำของคนอื่น ๆ เมื่อเธอป่วยหนักในระยะสุดท้าย พยาบาลรุ่นน้องไม่รู้ว่าจะให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่เธออย่างไร จึงไปขอความช่วยเหลือจากพยาบาลรุ่นพี่คนหนึ่ง พยาบาลรุ่นพี่คนนี้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วย ดังนั้นแทนที่จะไปให้คำแนะนำผู้ป่วย ก็ไปขอความช่วยเหลือผู้ป่วยให้เป็นประธานในการทำสังฆทานสร้างศาลาวัด ปรากฏว่าเธอยินดีเป็นประธาน หลังจากนั้นก็มีการทำพิธีอุทิศส่วนกุศลและขอขมา เธอก็ให้ความร่วมมือด้วยดี มีการขอขมาแก่กันและกัน คืนนั้นเธอก็จากไปอย่างสงบ

มีหมออีกคนเป็นอธิบดี พอป่วยเป็นมะเร็ง ก็เก็บตัว ไม่ค่อยสมาคมกับใคร เมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ชอบสอนพยาบาลด้วยการเขียนใส่กระดาษแนะนำต่าง ๆ นานา เช่น จะดูดเสมหะอย่างไรคนไข้จึงจะไม่ปวด ฯลฯ พยาบาลก็ไม่ว่าอะไร ซ้ำยังเอาคำแนะนำของเขาติดบนหัวเตียง ทำให้เขาภาคภูมิใจ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหมอท่านนี้ต้องการแสดงความเป็นผู้นำ เมื่อล้มป่วยก็รู้สึกสูญเสียความเป็นผู้นำไป จึงยอมรับได้ยากว่าตัวเองเป็นผู้ป่วย (เพราะเมื่อเป็นผู้ป่วยก็ต้องพึ่งพาและปฏิบัติตามผู้อื่นโดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าหมอ) ดังนั้นจึงหาโอกาสที่จะฟื้นความเป็นผู้นำด้วยการสอน ชี้แนะ หรือสั่งพยาบาลอยู่เสมอ ในกรณีนี้ต้องชมพยาบาลว่ามีความอดทนและเข้าใจความต้องการส่วนลึกของผู้ป่วย

กรณีของคุณลุงบุญหลง ตราบใดที่แกยังมองว่าการเป็นผู้ป่วยทำให้แกมีสถานภาพที่ต่ำลงแกคงยอมรับไม่ ได้ง่าย ๆ ว่าตนเองเป็นผู้ป่วยหรือเป็นมะเร็ง ทางออกสำหรับกรณีนี้ก็คือ ช่วยเหลือแกโดยยังคงทำให้แกรู้สึกว่าสถานภาพของตนเองไม่ได้ลดต่ำลง หากจะมีคำแนะนำใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อคุณลุง คำแนะนำนั้นควรจะออกมาจากปากของคนที่แกนับถือ หรือจากหมอระดับเดียวกัน(ถ้าเป็นผู้ป่วยมะเร็งอยู่แล้วก็ยิ่งดี) อย่างไรก็ตามอาตมาขอชื่นชมคุณหมอที่พยายามดูแลเอาใจใส่คุณลุง และคอยสอบถามความรู้สึกของแก ทำให้รู้ว่าแกติดขัดที่ตรงไหน

อาตมาขอให้ความเห็นแต่เพียงเท่านี้

ธรรมและพร
พระไพศาล



ที่มา : http://www.visalo.org/article/D_todBodRean.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น