...+

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บำบัดอาการป่วยด้วย “พิษผึ้ง”ทางเลือกรักษาสุขภาพจาก มฟล.

มฟล. นำความรู้ด้านสุขภาพมอบสู่ชุมชน จัดทีมผู้เชี่ยวชาญ รักษาอาการป่วยด้วย “พิษผึ้ง” ผลการรักษาชี้สามารถบำบัดได้ 3 กลุ่มอาการ พร้อมเปิดรักษาฟรี 2 เดือนนี้

เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับนายประเสริฐ นพคุณขจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบำบัดโดยใช้ผึ้ง และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดชุมพร ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาด้วย ‘พิษผึ้ง’ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ณ บริเวณ หน้าสวนตุงและโคม ถนนคนเดินจังหวัดเชียงราย โดยมีประชาชนชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และลงเบียนเพื่อรับการรักษาด้วยอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน นิ้วล็อค หรือเข่าเสื่อม ทั้งนี้ผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับการรักษาได้ ต่างให้ความสนใจชมการรักษาก่อนรับเอกสารรายละเอียดกลับไป โดยมีความตั้งใจจะเดินทางไปรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ทั้งนี้ สำหรับโรคที่เหมาะแก่การรักษาด้วยผึ้งบำบัด แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอาการปวด และอาการชา ได้แก่ ปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดขา ปวดต้นคอ ปวดประจำเดือน คอตกหมอน อาการมือชา เท้าชา

กลุ่มต่อมาคือกลุ่มอาการไขข้อ ไขข้ออักเสบรูมาตอยต์ ไขข้ออักเสบ โรคข้อเข่าเสื่อม นิ้วล็อค เส้นเอ็นอักเสบ โรคเกาต์

กลุ่มสุดท้ายคือโรคและอาการอื่นๆ เช่น ริดสีดวง ตะคริวน่อย ไซนัสอักเสบ นอนกรน เลิกบุหรี่ อัมพฤก อัมพาต ผู้มีบุตรยาก โรคอัลไซเมอร์

อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยพิษผึ้งดังกล่าว ไม่ได้เหมาะสมกับบุคคลทุกประเภท โดยกลุ่มอาการที่ไม่เหมาะต่อการรักษาด้วยผึ้งบำบัด ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจและไต, กระดูกหัก, หญิงตั้งครรภ์, สตรีระหว่างมีประจำเดือน, ผู้มีบาดแผลมีเลือดออกมา, เด็กที่มีอายุต่ำว่า 10 ขวบ, ท้องเสียเฉียบพลัน, โรคติดเชื้อเฉียบพลัน, สุขภาพไม่แข็งแรง, ไม่อยู่ในอาการหิวหรืออิ่มจนเกินไป และผู้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่

ด้าน นพ.สำเริง กาญจนเมธากุล คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดให้บริการรักษาโรคด้วยพิษผึ้ง หรือ ‘ผึ้งบำบัด’ (Apitherapy) โดยทีมแพทย์ซึ่งได้รับการอบรมเพิ่มการรักษาด้วยพิษผึ้งจากประเทศจีนจัดให้มีการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดให้การรักษาด้วยพิษผึ้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 2 เดือน (พฤษภาคม-มิถุนายน) ในวันจันทร์, พุธ และศุกร์ 9.00-12.00 น.

ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับนายประเสริฐ นพคุณขจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบำบัดโดยใช้ผึ้ง และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดชุมพร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องผึ้งบำบัด ให้แก่บุคลากรด้านสุขภาพ จากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมถึงได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปทำการรักษาด้วยพิษผึ้ง ณ บริเวณ สวนตุงและโคม ถนนคนเดินจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สนใจจำนวนมากลงเบียนรับการรักษาในเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจเดินทางมารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เจ็บป่วยในหลายอาการ แต่ที่มีมากเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า และไมเกรน

“การใช้พิษผึ้งรักษาเป็นแนวทางการรักษาทางเลือกหนึ่ง โดยฝังเหล็กในลงตามหลักการของการฝังเข็ม และพิษผึ้งเองมีฤทธิ์รักษาหลายอาการโดยเฉพาะ แก้ปวด ช่วยปรับภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ เป็นต้น ความสำเร็จในการรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนใช้ผึ้งต่อยครั้งเดียวก็หายเลย บางคนต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจต้องมองหาแนวทางอื่นที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่าต่อไป”คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าว

คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวต่อว่า นอกจากการเปิดทำการรักษาด้วยผึ้งบำบัดแล้ว ยังมีความตั้งใจที่จะทำการศึกษาวิจัยการนำผลิตภัณฑ์จากผึ้ง, น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้ง พรอพอลิส ไขผึ้ง และ พิษผึ้ง เพื่อใช้ในการรักษา โดยขณะนี้เริ่มต้นหารือถึงทิศทางการทำวิจัยแล้ว

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 0-5391-6822-3 หรือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 0-5391-7581

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น