...+

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า
“ภัททา”

ลูกปุโรหิตเกิดฤกษ์โจร
ในวันที่นางเกิดนั้น ได้มีบุตรของปุโรหิตในกรุงราชคฤห์เกิดในวันเดียวกันนี้ด้วย ขณะที่
เขาคลอดจากครรภ์มารดา ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาอาวุธทั้งหลายในบ้านของปุโรหิตเอง
และในบ้านคนอื่น ๆ ตลอดจนถึงในพระราชนิเวศน์ต่าง ๆ ก็เกิดแสงประกายรุ่งโรจน์ไปทั่วพระ
นครตลอดคืนยันรุ่ง
ปุโรหิตทราบในบุพนิมิตดีว่า บุตรของตนเกิดฤกษ์โจร เมื่อเขาโตขึ้นจะต้องเบียดเบียน
ทำความเดือดร้อนฉิบหายแก่ชาวเมือง จึงเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่กราบทูลความให้ทรงทราบ
โดยตลอดแล้วทูลเสนอแนะว่า ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ประหารชีวิตเขาเสีย เพื่อมิให้เป็นภัยแก่
ชายเมืองในอนาคต แต่พระราชาตรัสว่า เมื่อเขาไม่ได้เบียดเบียนเราก็ไม่เป็นไร อย่าไปฆ่าเขาเลย
ปุโรหิตจึงเลี้ยงดูบุตรต่อไป โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า “สัตตุกะ”
สัตตุกะเมื่อโตขึ้นอยู่ในวัยเด็ก นายสัตตุกะก็ได้ ตัดช่องย่องเบาลักขโมยทรัพย์และสิ่ง
ของมีค่าน้อยบ้างมากบ้างตามแต่จะได้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพจนได้ชื่อว่าไม่มีบ้างหลังใดที่ไม่ถูก
ย่องเบาลักขโมยเลย ความเดือดร้อนของชาวเมืองทราบไปถึงพระราชา จึงรับสั่งให้หน้าที่ติดตาม
จับกุมโจรชั่วนั้นให้ได้ พวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายจึงออกติดตามสืบพบหาจนจับตัวได้แล้วนำมา
ถวายพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัยตัดสินโทษ
พระราชา รับสั่งให้โบยโจรพร้อมทั้งนำตัวตระเวนออกไปตามถนน ให้ทั่วทั้งพระนคร
ก่อนแล้วจึงนำออกไปประหารที่เหวสำหรับทิ้งโจร

ดอกฟ้าในมือโจร
ขณะนั้น นางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย ๑๖ ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดาจึง
ระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ให้หญิงรับใช้หนึ่งคนคอยดูแลรับใช้ของนาง ก็เป็น
ธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่ม ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่ม
ตระเวนมาทางบ้านของนาง พอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่
ในตัวโจรทันทีคิดว่า “ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครองก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่” และรู้ว่าพวก
เจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามีสุดที่รัก ความ
ทุกข์เศร้าโศกเสียใจสุดจะห้ามก็ตามมา ฝ่ายสาวใช้ เห็นเช่นนั้นจึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามาดา
ทราบโดยด่วน บิดามารดาของนางพอมาถึง ก็ได้ไต่ถามทราบจากปากของธิดาว่า “ถ้าไม่ได้โจร
หนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” แล้วก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่บนเตียนนอนนั้น
มารดาจึงพูดอ้อนวอนว่า:-
“ภัททา ลูกแม่ อย่าทำอย่างนี้เลย อีกไม่นานเจ้าก็จะได้สามีที่มีทรัพย์สมบัติและชาติสกุล
เสมอกัน”
“คุณแม่ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการชายอื่น ถ้าไม่ได้ชายคนนี้จะขอตายดีกว่า”
บิดามารดาทั้งสอง ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผลด้วยคามรักและ
ห่วงใยในลูกสาว จึงติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะ ขอไถ่ชีวิตโจรหนุ่ม
คนนั้นโดยให้นำมาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับทรัพย์ไปแล้วทำเป็นถ่วงเวลารอ
จนมืดค่ำ จากนั้นได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้แก่เศรษฐีแล้ว นำนักโทษอีกคนหนึ่งไป
ประหารชีวิตแทนแล้วกราบทูลพระราชว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว
เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้ว ให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีสวมใส่
พร้อมทั้งอาภรณ์เครื่องประดับชั้นดีต่าง ๆ นำไปยังปราสาทของลูกสาว ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่ผัว
เมียกันแล้ว บิดามารดาทั้งสองก็กลับไปยังที่พักของตน

สันดานโจรไม่เจือจาง
โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีซึ่งมีให้พรั่งพร้อมทุกอย่างได้ทั้งภรรยาที่
แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบายไม่ขัดสน การงานก็มีคนรับให้ทำให้ ไม่ต้อง
ดิ้นรนขวนขวยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจรอดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขา
คิดวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขายแล้วนำเงินมาหาความสุขด้วย
การดื่มสุรา แล้วเขาก็เริ่มดำเนินการตามแผน ด้วยการแสดงกิริยาให้ภรรยาพอใจแล้วกล่าวว่า:-
“น้องหญิง การที่พี่รอดชีวิตจากการถูกประหารอย่างหนึ่ง และการที่ได้มาแต่งงานอยู่
กับน้องหญิงอีกอย่างหนึ่ง ก็ด้วยอานุภาพของเทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขาทิ้งโจร เพราะพี่ได้บนบาน
บวงสรวงกับท่านเข้าไว้ ขณะนี้ก็สำเร็จสมประสงค์ทั้ง ๒ ประการแล้ว พี่เห็นว่าควรจะทำการแก้
บนถวายเครื่องพลีกรรมแก่เทวดานั้น ขอให้น้องหญิงจงจัดเครื่องพลีกรรมสังเวยให้พร้อมแล้ว
ประดับอาภรณ์ให้สวยงามไปร่วมทำพิธีพลีกรรมที่ภูเขาทิ้งโจรนี้กับพี่เถิด”
นางภัททา ด้วยความรักสามีสุดหัวใจ จึงเห็นชอบเชื่อตามคำสามีทุกประการ โดยให้
ทาสชายหญิงจัดเครื่องพลีกรรมเรียบร้อยแล้ว ขึ้นนั่งรถคันเดียวกันกับสามีไปยังเหวที่ทิ้งโจร เมื่อ
มาถึงเชิงเขา โจรสัตตุกะบอกกับภรรยาว่า “ให้เหล่าบริวารที่ติดตามมานั้นกลับไปก่อน เราสอง
คนเท่านั้นที่จะขึ้นไปทำพลีกรรม” เมื่อบริวารแยกทางกลับไปแล้วก็ช่วยกันถือเครื่องสักการะ
สังเวยขึ้นไปบนยอดเขา นางภัททารู้สึกมีความสุข ความอิ่มใจที่ได้ช่วยกิจของสามี และได้
โอกาสมาทัศนาโลกภายนอก แต่พอถึงยอดเขา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ด
ขาดว่า:-
“ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออกแล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้”
นางภัททา ได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก
ละล่ำละลักถามสามีว่า:-
“นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ ?”
“นางหญิงโง่ ความจริงเราจะควักตับกับหัวใจของเจ้าถวายแก่เทวดาที่นี่แล้วยึดเอา
เครื่องอาภรณ์ของเจ้าทั้งหมดไปใช้จ่ายหาความสุข”
“นายจ๋า ก็ทั้งตัวดิฉันกับเครื่องประดับทั้งหมดนี้ก็เป็นของท่านอยู่แล้วทำไมท่านจะต้อง
ฆ่าฉัน เพื่อยึดเครื่องประดับด้วยอีกเล่า”

ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน
แม้นางจะอ้อนวอนชี้แจงอย่างไร เข้าโจรโง่ใจร้ายก็ไม่ยอมรับฟัง ตั้งหน้าแต่จะฆ่านางเอา
เครื่องประดับอย่างเดียว นางตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอกมองเห็นความตายอยู่แค่เอื้อม จึงรวบ
รวมสติไว้แล้วคิดว่า “ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ติดกับตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น มิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน แต่มีไว้
เพื่อพิจารณาหาหนทางดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาชีวิต เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเอาชีวิต
รอด” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับสามีโจรชั่วว่า:-
“เอาละนายจ๋า วันท่านท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมพาตระเวนประจานไป
ทั่วเมืองก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดาให้สละทรัพย์เป็นอันมาก
ไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมี
ความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่ดิฉันจะตายขอ
ให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่านเป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้
ใกล้ชิดท่าน ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้นแล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง ๔ ทิศหลังจากนั้นท่านก็จง
ประหารดิฉันเถิด”

โจรชั่วสิ้นชีพ
โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริงจึงอนุญาตให้นาง
กระทำตามที่ขอแล้วไปยืนตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้น นางภัททาผู้เป็นภรรยาได้ทำการ
ประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี ๓ รอบ แล้วไหว้ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกับกล่าวว่า

“นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และ
ท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว” เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็เปลี่ยนมากอด
ข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้น นางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลว
เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวทิ้งโจรนั้น
นางภัททา หลังจากผลักโจรชั่วผู้สามีตกลงไปในเหวแล้ว คิดว่า “ถ้าเรากลับบ้านไป
บิดามารดาก็จะถามว่า สามีเจ้าหายไปไหน ถ้าเราบอกความจริงว่าเราฆ่าเขาตายแล้ว ก็จะพากัน
ประณามติเตียนว่า นางเด็กดือ เจ้าอ้อนวอนพ่อแม่ให้เสียทรัพย์เพื่อไถ่ชีวิตโจรเอามาทำผัว แต่พอ
ได้เขามาแล้วกลับฆ่าเขาตาย เจ้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เราจะบอกว่าเขาต้องการฆ่าดิฉันเพื่อ
ต้องการเครื่องประดับท่านทั้งสองก็จักไม่เชื่อเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรกลับบ้าน ควรจะไป
บวชในสำนักใดสำนักหนึ่งดีกว่า”

ถอนผมบวชเป็นเดียรถีย์
ครั้นนางภัททาคิดดังนี้แล้ว ก็ทิ้งห่อเครื่องประดับไว้บนยอดเขานั้นแล้วเดินลงจากภูเขา
ไป เดินลัดเลอะไปตามป่า ได้พบสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ขอ
บรรพชาในสำนักนั้น พวกนิครนถ์ถามนางว่า “จะบวชโดยวิธีไหน ?” นางจึงตอบวา “วิธีใดที่
จัดว่าเป็นสิ่งสูงสุดในสำนักของท่าน ก็ขอให้ดิฉันบรรพชาด้วยวิธีนั้นนั่นแหละ”
พวกนิครนถ์จึงเอาก้านตาลถอนผมนางจนหมดศีรษะ ถือว่าเป็นวิธีบวชที่สูงสุดของ
สำนัก เมื่อนางบวชแล้วผมที่งอกขึ้นมาใหม่ก็ม้วนกลมเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่เหยียดยาวเหมือนเดิม
ดังนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสา”
เมื่อนางบวชแล้ว ได้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในสำนักนั้นจนจบสิ้นนางเห็นว่าสำนัก
นี้ไม่มีศิลปะวิทยาที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว จึงออกเที่ยวแสวงหาบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายแล้วขอศึกษาสิ่งที่
บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทั้งหมด นางเที่ยวแสวงหาบัณฑิตด้วยการโต้วาทะ โดยวิธีใช้กิ่งหว้าปักบนกอง
ทรายแล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้” โดยมีข้อตกลง
กันว่า “ถ้าผู้ที่โต้วาทะชนะนางเป็นคฤหัสถ์ นางก็จะขอยอมเป็นทาสรับใช้ แต่ถ้าผู้โต้วาทะชนะ
เป็นนักบวช นางก็จะขอบวชเป็นศิษย์ในสำนักนั้น”
นางถือกิ่งหว้าเที่ยวประกาศท้าได้วาทะไปตามหมู่บ้านตำบลต่าง ๆ ชาวบ้านพอได้ทราบ
ข่าวว่านางภัททามาทางบ้านของตนก็จะพากันหลีกหนีไป นางเข้าไปถึงตำบลใดก็จะปักกิ่งหว้า
บนกองทรายแล้ว นั่งรอผู้ที่รับคำท้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนาง บางตำบลนางรอถึง ๗ วัน ก็ไม่มีผู้
ใดกล้ามาเหยียบกิ่งหว้าของนางเลย นางจึงต้องถอนกิ่งหว้าแล้วหลีกต่อไปที่อื่น นางได้ถือกิ่งหว้า
ท่องเที่ยวไปโดยทำนองนี้ จนได้ชื่อใหม่ว่า “นางชัมพุปริพาชิกา” (นางปริพาชิกาไม้หว้า, ชัมพุ
= ไม้หว้า)

โต้วาทีกับพระสารีบุตร
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวิหาร กรุงสาวัตถี ฝ่ายนาง
กุณฑลเกสา ก็ดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีแล้วปักกิ่งหว้าบนกองทราย ประกาศท้าโต้วาทะเหมือน
เดิมแล้วออกไปหาอาหารบริโภค
ขณะนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินผ่านมาเห็นเด็ก ๆ กำลังยืนรุมล้อมดูกิ่งหว้าบน
กองทรายพร้อมกับวิจารณ์กันเซ็งแซ่ เกิดความสงสัยจึงเข้าไปถามเด็ก ๆ ได้ทราบความโดยตลอด
แล้วจึงบอกกับเด็ก ๆ ว่า:-
“เจ้าหนูทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเจ้าจงเหยียบกิ่งหว้านั้นเถิด”
“พวกกระผมกลัวขอรับ พระคุณเจ้า”
“ไม่ต้องกลัวหรอก พวกเจ้าเป็นคนเหยียบ เราจะเป็นผู้แก้ปัญหาเอง”
เด็กบางพวกไม่กล้า บางพวกก็กลัว ๆ กล้า ๆ แต่ผลที่สุดก็ช่วยกันเหยียบกิ่งหว้าและกอง
ทรายนั้นจนกระจัดกระจาย นางชัมพุปริพาชิกา มาเห็นแล้วก็ดุต่อว่าเด็กเหล่านั้น แต่พอเด็ก ๆ
บอกว่า “พระคุณเจ้ารูปนั้น ใช้ให้เหยียบ” นางจึงเข้าไปถามพระเถระว่า:-
“พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านจักโต้วาทะถามปัญหากับดิฉันหรือ ?”
“ใช่แล้ว น้องหญิง” พระเถระตอบ
นางฟังคำของพระเถระแล้วคิดว่า “เราควรจะให้ชาวพระนครสาวัตถีได้รู้กำลังปัญญา
ของเราว่ายิ่งใหญ่หาผู้เทียมทานไม่ได้” จึงแจ้งให้ชาวเมืองมาชมมาฟังกันให้มาก ๆ ชาวพระ
นครพอทราบข่าวต่างก็พากันไปห้อมล้อมจนแน่นขนัด
ลำดับนั้น พระเถระได้ให้โอกาสแก่นางชัมพุปริพาชิกา เป็นผู้ถามปัญหาขึ้นก่อน นางก็
ถามศิลปวิทยาที่ตนเรียนรู้มาตามลัทธิตน ถามจนหมดความรู้ที่นางมีอยู่ พรเถระก็ตอบแก้ได้ทั้ง
หมด นางก็ตกใจเพราะไม่เคยถามใครมากอย่างนี้มาก่อนเลย จึงนิ่งเฉยอยู่ พระเถระจึงกล่าวว่า
“ท่านถามเราหมดแล้ว ต่อไปนี้เราจะขอถามท่านบ้าง”
“ถามเถิด พระคุณเจ้า”
“ที่ชื่อว่าหนึ่ง นั้นคืออะไร ?”
“พระคุณเจ้า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า”

ขอบวชในพระพุทธศาสนา
นางชัมพุปริพาชิกา ยอมพ่ายแพ้ต่อพระเถระด้วยปัญหาเพียงข้อเดียวเท่านั้น นางหมอบ
ลงกราบแทบเท้าพระเถระ ขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งขอบรรพชาและ
ถึงพระเถระเป็นสรณะ แต่พระเถระบอกว่าขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิด แล้วพานาง
ไปยังพระวิหารเชตวัน นำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงราบจริยาอัธยาศัยของนางดี
แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาคาถาภาศิตว่า:-
“ผู้ใดกล่าวคาถาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา
ผู้กล่าวคาถาที่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้เพียงคาถาเดียว
ยังผู้ฟังให้สงบระงับได้ ชื่อว่า ประเสริฐกว่าแล”

พอจบพระธรรมเทศนาคาถาภาษิต ทั้งที่นางกำลังยืนอยู่นั้น ยังไม่ทันจะนั่งลงก็ได้บรรลุ
พระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในขณะนั้น แล้วกราบทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์
ทรงอนุญาตแล้วส่งนางให้ไม่บวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์
เมื่อนางบวชแล้ว ได้ชื่อว่า “กุณฑลเกสาเถรี” ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า
“พระภัททากุณฑลเกสาเถรีนี้ ยิ่งใหญ่จริงหนอ บรรลุพระอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บาท
เหล่านั้น”
พระศาสนาทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงสถาปนาพระภัททากุณฑลเกสาเถรี ในตำแหน่ง
เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น