...+

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จดหมายถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องการยึดอำนาจ โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ

กรุงเทพฯ
9 มีนาคม 2534

อาจารย์ที่เคารพ

อาจารย์เรียกสังคมในฝันของอาจารย์ว่า “สันติประชาธรรม” ในขณะที่ผมอยากจะเห็นเมืองไทยมีระบบซึ่งเรียกง่ายๆ แต่ต้องเป็นตัวตนจริง มิใช่แต่ฉายา ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ผมไม่อยากจะถือสิทธิว่าเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อนี้ เพราะคุณบุญเยี่ยม มีศุข ก็เสนอชื่อนี้เหมือนกันในตอนที่เราเขียนปฏิญญาพลังใหม่ ถึงแม้เราจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ระบอบนี้ก็ยังคงเป็นแต่ความฝันอันสูงส่งของเมืองไทยเท่านั้น

ทั้งอาจารย์และผมเกลียดเผด็จการรวมทั้งคอมมิวนิสต์ แต่อนิจจาเรากลับถูกป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์เสียเอง อาจารย์คงจำความบังเอิญ ซึ่งบอกใครก็คงไม่มีวันเชื่อ ที่จู่ๆโดยมิได้นัดหมาย วันหนึ่งปลายเดือนพฤศจิกายน 2519 อาจารย์ก็โผล่มาหาเราที่บ้านอนิตากลางเมืองสตอกโฮล์ม

อาจารย์คงไม่ทราบว่าผมเป็นเพื่อนอนิตา และขณะนั้นพักอยู่บ้านอนิตา กำลังวางแผนจะไปพบฟาม วัน ดง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ที่เมืองฮานอย เพื่อขอร้องมิให้เวียดนามติดอาวุธนักเรียนไทย ส่วนอาจารย์กำลังจะเดินทางไปอเมริกาเพื่อขอร้องสภาคองเกรสให้ห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ มิให้เพิ่มอาวุธให้กองทัพไทยเอาไปเข่นฆ่านักศึกษา

อนิตาตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศ กำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศดีหรือไม่ งานจะได้เบาลง

สองปีที่แล้ว อนิตามาอยู่กับผมและครอบครัวที่เมืองไทยเกือบเดือน เขาคิดและถามถึงอาจารย์บ่อยๆ บอกว่าถ้ามีเวลาขอให้อาจารย์ไปเยี่ยมที่สวีเดนอีก บ้านพักชานกรุงสต๊อกโฮล์มที่เราเคยไปพักนั้นบัดนี้เขาขายไปแล้ว และย้ายไปอยู่แฟลตริมทะเลสาบกลางเมือง เพื่อประหยัดเวลาเดินทาง เอาเวลาไว้กวาดบ้านถูเรือนซักผ้าและอ่านหนังสือ รัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีของสวีเดนเขาไม่เคยอยู่อย่างเทวดาเหมือน ฯพณฯ ทั้งหลายในบ้านเรา

ที่อาจารย์กับผมโคจรมาพบกันครั้งแรกหลัง 6 ตุลามหาโหดครั้งนั้น ก็เพราะเรามีความกลัวเรื่องเดียวกัน และไม่อยากเห็นเมืองไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้รับของขวัญก้อนใหญ่ ซึ่งถ้าหากใช้เป็นก็จะกลายเป็นแก้วสารพัดนึก นั่นก็คือ นิสิต นักศึกษา และปัญญาชนที่หนีตายเข้าป่าเพราะการบดขยี้ของกองทัพและรัฐบาลหลังการยึดอำนาจ

ที่บ้านอนิตาคืนนั้นเราเลือกนอนห้องเดียวกันเพื่อจะได้คุยกันให้เต็มอิ่ม ผมได้ฝากฝังอาจารย์และเขียนจดหมายลา (เผื่อตาย) ไว้เรียบร้อย เพราะไม่ทราบว่าอนาคตหลังกลับจากฮานอยไปเผชิญหน้ารัฐบาลธานินทร์จะเป็นอย่างไร

ผมได้รับคำมั่นสัญญาจากนายกฯ ฟาม วัน ดง ว่า เวียดนามจะไม่ติดอาวุธหรือฝึกให้นักศึกษาไทย และเวียดนามยินดีที่จะเห็นเมืองไทยพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และกลับมาเป็นมิตรพึ่งพาอาศัยกันในวันข้างหน้าเท่านั้น ผมก็พอใจแล้ว

ผมเขียนจดหมายถึงโต้งและเป้ง ซึ่งขณะนั้นอายุเพิ่ง 6-7 ขวบว่า ถ้าพ่อมีอันเป็นไป ก็อย่าเชื่อคำโฆษณาของฝ่ายเผด็จการว่าพ่อเป็นคอมมิวนิสต์ พ่อเป็นนักประชาธิปไตย ขอให้ลูกรู้และภูมิใจเถิดว่าพ่อยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อจะให้ลูกมีโอกาสได้เห็นประชาธิปไตยในเมืองไทย

อาจารย์ครับ ตอนนี้โต้งเรียนจบไปคนหนึ่งแล้ว แต่ทั้งโต้งและเป้งยังอยู่ในอเมริกา ทั้งคู่ถามถึงลุงป๋วยเป็นพักๆ ด้วยความจำที่อาจจะกำลังลืมเลือน แต่ผมยังจำได้นะครับ ว่าอาจารย์พาโต้งขึ้นขี่คอเดินชมแมกไม้และฝูงเป็ดที่แหวกว่ายอยู่ในลำธารรอบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ผมยังจำได้ถึงคืนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 หลังอาหารเย็นอาจารย์ขอตัวกลับเข้าไปในห้องเพื่อเขียนจดหมายถึงจอมพลถนอมให้จบ หมูเป็นคนแรกที่ได้อ่าน “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง แห่งหมู่บ้านไทยเจริญ” หมูยังหนุนให้อาจารย์รีบส่ง แต่ผมบอกให้อาจารย์แก้เสียหน่อยเอาให้มันแรงๆ ตรงๆ สมกับที่ผู้เขียนชื่อนายเข้ม อาจารย์ยังศอกกลับมาว่าผมนี่สันดานไม่ดี พูดกับผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะให้แรงๆ ตรงๆ ไปถึงไหน

แค่นี้เขาจะทนได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้

ผมยังจำได้ว่าหลายต่อหลายครั้งในปี 2517 เมื่อเราสู้แพ้บ้างชนะบ้างในสภานิติบัญญัติ เมื่อพวกหัวเก่าเกรงนั่นกลัวนี่ ไม่อยากให้เราผ่านกฎหมายที่เขาเห็นว่าก้าวหน้าเกินไป ทั้งๆ ที่พวกเราเห็นว่ายังไม่พอที่จะส่งเสริมเสรีภาพสาธารณประโยชน์ และความเป็นธรรมของสังคมอย่างแท้จริง

อาจารย์ครับ ผมยังจำได้ที่อาจารย์ปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อาจารย์สัญญายินดียกให้ไม่อยากให้มีสัญญา 2 ผมยังจำได้ดีถึงการเจรจาครั้งที่ 5 และสุดท้ายที่บ้านประจวบ สุนทรางกูร มีอาจารย์ ผม พลเอก กฤษณ์ และพลโท วิฑูรย์ อาจารย์ยืนกระต่ายขาเดียวว่าชาตินี้ไม่ยอมรับตำแหน่งการเมือง อาจารย์จะไปช่วยผมพัฒนาการศึกษา การบูรณะชนบท และงานอาสาสมัคร เสร็จแล้วก็จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่อังกฤษตามสัญญากับภริยา

อาจารย์ครับ ถ้าอาจารย์ยอมรับตำแหน่งเสียหน่อย ผมก็คงจะไม่ต้องเขียนจดหมายนี้ถึงอาจารย์ และคนดีที่เสียสละมีคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างอาจารย์ก็คงจะไม่ต้องรับเคราะห์กรรมการเมืองเป็นพิษอย่างที่อาจารย์เคยกังวลเลยก็ได้

วันนี้เป็นวันครบรอบวันเกิดอาจารย์พอดี ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมีเรื่องที่อาจารย์จะต้องสะเทือนใจอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่รู้จักจบสิ้น

นั่นก็คือ ทหารปฏิวัติอีกแล้วครับ ในที่สุดเมืองไทยก็ยึดอำนาจอีกจนได้ เมื่อราวๆ 1 นาฬิกาในตอนเช้าวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นายกฯ ชาติชายกับคณะถูกจี้บนเครื่องบินของกองทัพอากาศ ขณะที่กำลังจะบินขึ้นจากลานบินเพื่อนำพลเอกอาทิตย์ไปเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณที่เชียงใหม่ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมช.กระทรวงกลาโหม

อาจารย์ครับ ผมรู้จักตัวแสดงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายจี้และฝ่ายถูกจี้ทั้งหมดเลย ผมได้เพียรพยายามห้ามและเตือนทุกฝ่ายมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่ก็ไร้ผล ผมจะเล่ารายละเอียดให้อาจารย์ฟังฉบับหน้านะครับ อาจารย์โปรดทำใจเฉยๆ อย่าได้เครียดหรือห่วงอะไรจนเกินไปเลย

Happy Birthday อีกครั้งครับ อาจารย์

ด้วยความเคารพและระลึกถึงยิ่ง

ปราโมทย์ นาครทรรพ

++++++++++++

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับสำหรับทุกๆสิ่งที่อาจารย์และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆของอาจารย์ที่ยอมเสี่ยงชีวิตในการยืนหยัดและแสดงออกอย่างกล้าหาญในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
อยากให้อาจารย์เขียนต่อนะครับ อย่างน้อยประวัติศาสตร์ก็มีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมากๆถ้ารู้จักที่จะเรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
เสียดายมากครับ กระทรวงศึกษาสมัยนี้ไม่เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์เลย คนรุ่นหลังจากผม รุ่นลูก รุ่นหลานและต่อๆไปจะน่าสงสารมากครับ เค้าจะไม่มีรากให้ยึดเหนี่ยว ไม่รู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะรักแต่ตัวเอง มุ่งแต่ชิงดีชิงเด่นกัน จนขาดน้ำใจไมตรี ขาดความเอื่อเฟื้อต่อสิ่งรอบตัว
รักและเคารพอาจารย์มากครับ
นายดินดี ต้นแสนงาม
tb.chaweepak@gmail.com

--

ขอบคุณอาจารย์ที่นำจดหมายนี้มาลงอีกจำไม่ได้ว่าเคยอ่านแล้วหรือไม่ แต่ก็ได้ระลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆที่ผ่านมา ได้ตระหนักถึงความเสียสละของคนมากมายที่ไม่ได้ออกมาเอาหน้าตาแต่ช่วยบ้านเมืองในทางลับ ผิดกับทุกวันนี้มองแล้วผู้ใหญ่บ้านเราหรือคนหนุ่มสาวสมัยโน้นช่างไร้จิตสำนึกกันเสียจริงๆ ไม่มีใครออกมาส่งเสียงใดๆแอบกันอยู่แต่ในมุมมืดของตัว ปล่อยให้บ้านเมืองไปตามยถากรรม สงสารประเทศไทยจริงๆ


---
ขนมธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นสิ่งที่คนไทยภูมิใจและดำรงไว้อย่างมีคุณค่ามีความสำคัญไม่แตกต่างจากอารยธรรมชนชาติอื่น เป็นสิ่งที่ชาวต่างประเทศที่ได้สัมผัสจะรู้สึกถึงความมีมิตรไมตรี และความสงบสุขของคนไทย ควรเน้นให้เยาวชนได้รักษาเอกลักษณ์ของชาติอย่าให้สูญหายไป ส่วนวัฒนธรรมต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังทัศนคติให้เยาวชนรู้จักวิเคราะห์แยกแยะมากกว่าการปิดกั้นโดยไม่มีเหตุผล
"คนไทยคิดคำนึง"


---

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น