...+

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

พิทักษ์สิทธิสมาชิกครอบครัวครบหน้าเทศกาลสงกรานต์ โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

หนึ่งทุกข์ร้อนตลอดปีที่จะทะลุจุดเดือดในเดือนร้อนสุด คือ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งๆ ที่การรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการขานรับจากภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมในเชิงบูรณาการกันทำงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน

กระนั้นการบาดเจ็บล้มตายก็กลายเป็นข่าวคราวสะเทือนใจทางสื่อมวลชนเสมอมา เมื่อสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในห้วงวันครอบครัวในปี 2554 ก็ยังคงเป็นเมาสุราสูงถึงร้อยละ 38.76 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 20.53 มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 15.65 และตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 13.72

วันครอบครัวซึ่งตรงกับวันสงกรานต์เพราะเป็นห้วงยามที่สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน สำหรับหลายครอบครัวจึงกลายเป็น ‘วันจำพรากจากลา’ เสียมากกว่า เนื่องจากว่าสมาชิกบางคนที่เดินทางกลับบ้านเกิดภูมิลำเนาต้องกลับบ้านเก่าหรือไม่ก็โรงพยาบาลกันแทนที่ ดังสงกรานต์เลือดปีนี้ที่มีผู้เสียชีวิต 271 คน บาดเจ็บ (Admit) 3,476 คน จากอุบัติเหตุทั้งสิ้น 3,215 ครั้งตลอดทั้ง 7 วันอันตราย

ทั้งนี้ถึงแม้ตัวเลขความสูญเสียในช่วงการรณรงค์ 11-17 เมษายน 2554 จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในจำนวนที่มากกว่าร้อยละ 5 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คืออุบัติเหตุลดลง 301 ครั้ง (ร้อยละ 8.56) ผู้เสียชีวิตลดลง 90 คน (ร้อยละ 24.93) และบาดเจ็บ (Admit) ลดลง 326 คน (ร้อยละ 8.57)

หากแต่ถ้าพินิจตัวเลขความสูญเสียและจำนวนคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการ ที่ภาพรวมมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นถึง 145,244 ราย (ร้อยละ 28.96) เทียบกับการระดมสรรพกำลังและงบประมาณตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ถึง 193,327 คน อปพร.อีก 80,654 คน และหน่วยงานอื่นๆ อีกมากตลอด 7 วันอันตราย กลับพบว่ายังไม่อาจบรรเทาทุกข์ร้อนของครอบครัวไทยได้

ดังนั้น เทศกาลความสุขโสมนัสจึงยังคงก่อตัวเป็นทุกข์โทมนัสสาหัสสำหรับครอบครัวไทย ตราบใดที่ไม่อาจลดทอน 10 พฤติกรรมเสี่ยงได้ในทางปฏิบัติ ไม่ให้เป็นเช่นดังปีนี้ที่พฤติกรรมเสี่ยงสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าทุกด้าน ทั้ง 1) ไม่สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น 43,145 ราย (ร้อยละ 27) รวมเป็น 202,956 ราย 2) ไม่มีใบขับขี่เพิ่มขึ้น 43,241 ราย (ร้อยละ 28.96) รวมเป็น 192,535 ราย 3) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเพิ่มขึ้น 23,096 ราย (ร้อยละ 37.92) รวมเป็น 84,008 ราย 4) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น 13,713 ราย (ร้อยละ 27.41) รวมเป็น 63,741 ราย 5) ขับรถเร็วเกินกำหนดเพิ่มขึ้น 2,743 ราย (ร้อยละ 13.43) รวมเป็น 23,166 ราย

6) ขับรถย้อนศรเพิ่มขึ้น 1,780 ราย (ร้อยละ 9.17) รวมเป็น 21,190 ราย 7) ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรเพิ่มขึ้น 5,576 ราย (ร้อยละ 38.36) รวมเป็น 20,112 ราย 8) ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถเพิ่มขึ้น 5,007 ราย (ร้อยละ 58.06) รวมเป็น 13,631 ราย 9) เมาสุราเพิ่มขึ้น 2,903 ราย (ร้อยละ 29.17) รวมเป็น 12,855 ราย และ 10) แซงในที่คับขันเพิ่มขึ้น 4,040 ราย (ร้อยละ 46.96) รวมเป็น 12,643 ราย

ภายในการเท่าทวีด้านตัวเลขหลักพันถึงครึ่งแสนเช่นนี้ชี้ชัดว่าถ้าปรารถนาจะให้วันครอบครัวอวลอุ่นสุขสันต์จากการครบหน้าสมาชิก ไม่ให้ครอบครัวใดต้องกล้ำกลืนกับการขาดสมาชิกในภาพถ่ายที่จะจัดเก็บใส่อัลบั้มหรือติดฝาผนังในปีถัดไป รัฐจักต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น (Law enforcement) เพราะการบัญญัติกฎหมายที่ดีจะทำให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพ และการไม่เลือกปฏิบัติทั้ง 10 มาตรการ (3ม 2ข 1ร + 4) ของเจ้าหน้าที่รัฐจักทำให้ความปลอดภัยในชีวิตประชาชนสูงขึ้นด้วย

ด้วย 10 พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้มีแค่การไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัยที่อาจถือได้ว่าเป็น ‘อันตรายระดับปัจเจก’ แต่ 8 พฤติกรรมเสี่ยงที่เหลือไล่ตั้งแต่ไม่มีใบขับขี่ มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ใช้มือถือ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ไปจนถึงขับรถย้อนศร ขับรถเร็วเกินกำหนดและเมาแล้วขับ ล้วนแต่กระทบโดยตรงต่อผู้ใช้ถนนอื่นจนถือได้ว่าเป็น ‘อันตรายสาธารณะ’ เพราะนำอันตรายร้ายแรงมาสู่ครอบครัวคนอื่น

การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงเป็นการสร้างเสริมความอบอุ่นเข้มแข็งของครอบครัว ควบคู่กับสามารถที่จะพิทักษ์สิทธิในการมีสมาชิกครอบครัวครบหน้าแม้ต้องเดินทางท่ามกลางความคับคั่งของการจราจรกลับถิ่นเกิดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้เป็นปึกแผ่นของสถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุดที่เวียนมาทุกวันที่ 14 เมษายนด้วย เพราะจะทำให้ในปีถัดไปไม่มีความสูญเสียมากเหมือนดังวันครอบครัวปีนี้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คน บาดเจ็บ (Admit) 556 คน โดยช่วงวัยแรงงานอายุ 20-49 ปีเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่สำคัญพิการทั้งทางกายและใจตามมามากมาย

สถิติตายและบาดเจ็บที่ลดลงของปีนี้จึงไม่อาจสะท้อนความจริงร้ายแรงของสถานการณ์อุบัติเหตุไทย เทศกาลสงกรานต์คงคับคั่งด้วยเด็กไม่สวมหมวกนิรภัยขับมอเตอร์ไซค์ วัยรุ่นเมาแล้วขับรถกระบะเล่นน้ำ ร้านค้าลักลอบขายสุราบนถนนปลอดสุรากลางเมืองท่องเที่ยว เรื่อยเลยถึงขับเร็วเกินกำหนด แซงคับขัน และเมาแล้วขับ กระทั่งเป็นเหตุให้อุบัติเหตุเกิดบนถนนทุกประเภทไม่จำกัดว่าเป็นทางตรง โค้ง หรือแยก ทั้งทิวาและราตรี โดยช่วง 16.01-20.00 น. หลังเล่นสงกรานต์มาอย่างหนักจะเกิดอุบัติเหตุสูงสุด

การจะอยู่ครบหน้าสมาชิกของหลายครอบครัวช่วงเทศกาลความสุขสงกรานต์จึงพร่องขาดจากพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มคนที่ไม่เคารพสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งยังทำให้ผู้สูงอายุที่รอการเยี่ยมเยือนเพียงปีละครั้งต้องตรอมตรมจากการจากลาก่อนเวลาของลูกหลาน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น