...+

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

การสวดมนต์นั้นมีอานิสงส์ดังนี้

การสวดมนต์นั้นมีอานิสงส์ดังนี้

๑. สามารถไล่ความขี้เกียจ เพราะขณะสวดมนต์ อารมณ์เบื่อ เซื่องซึม ง่วงนอน เกียจคร้านจะหมดไป และเกิดความแช่มชื่นกระฉับกระเฉงขึ้น

๒. เป็นการตัดความเห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นอารมณ์จะไปหน่วงอยู่ที่การสวดมนต์อย่างตั้งใจ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง จึงมิได้เกิดขึ้นในจิตตน

๓. เป็นการกระทำที่ได้ปัญญา ถ้าการสวดมนต์โดยรู้คำแปล รู้ความหมาย ก็ย่อมทำให้ผู้สวดได้ปัญญาความรู้ แทนที่จะสวดเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้อะไรเลย

๔. มีจิตเป็นสมาธิ เพราะขณะนั้นผู้สวดต้องสำรวมใจแน่วแน่ มิฉะนั้นจะสวดผิดท่อนผิดทำนอง เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น

๕. เปรียบเสมือนการได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นผู้สวดมี กาย วาจา ปกติ (มีศีล) มีใจแน่วแน่ (มีสมาธิ) มีความรู้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า (มีปัญญา) เท่ากับได้เฝ้าพระองค์ด้วยการปฏิบัติบูชา ครบไตรสิกขาอย่างแท้จริง

และในวิมุตติสูตร ได้กล่าวว่า การสาธยายมนต์คือเหตุหนึ่งในวิมุตติ ๕ ประการ (เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ คือ การฟังธรรม การเทศน์ การสวดมนตร์สาธยาย และการคิดอย่างแยบคาย ) ดังมีว่า

...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่า ที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มี
ใจ เด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ


เรื่องการสวดมนต์ มีบางแห่งกล่าวถึงเหตุผลของการสวดมนต์ไว้ว่า

๑. เป็นการรักษาธรรมเนียม ประเพณีที่ดีให้คงอยู่
๒. เป็นการแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย
๓. เป็นการเชื่อมสามัคคีในหมู่คณะ ครบไตรทวาร
๔. เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน
๕. เพื่อฝึกกายใจให้เข็มแข็งอดทน
๖. เพื่อดำรงรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทยไว้
๗. เพื่ออบรมจิตใจให้สะอาด สงบ สว่าง
๘. เพื่อฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ไม่ฟุ่งซ่าน
๙. เพื่อเป็นการทบทวนพระพุทธพจน์

และกล่าวถึงประโยชน์ของการไหว้พระสวดมนต์ไว้ว่า...

๑. เป็นการเสริมสร้างสติปัญญา
๒. เป็นการอบรมจิตใจให้ประณีตและมีคุณธรรม
๓. เป็นสิริมงคล แก่ชีวิตตน และ บริวาร
๔. เป็นการฝึกจิตใจให้มีคุณค่าและมีอำนาจ
๕. ทำให้มีความเห็นถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา
๖. เป็นการรักษาศรัทธาปสาทะของสาธุชนไว้
๗. เท่ากับได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว
๘. เป็นเนตติของอนุชนต่อไป
๙. เป็นบุญกิริยา เป็นวาสนาบารมี เป็นสุขทางใจ

http://www.dhammajak.net/phitee/11.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น