...+

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

เวลา..ศัตรูที่แฝงเร้น

เรื่องโดย รองศาสตราจารย์ นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ
มีสุภาษิตฝรั่งว่า ” Time and tide wait for no man “ ผมรู้จักคำพูดประโยคนี้เมื่อฟังเพลงโฆษณาของนาฬิกายี่ห้อหนึ่งสมัยที่เป็นเด็กว่า “สายน้ำไม่คอยท่า วันเวลาไม่คอยใคร” แต่ก็มีคนแปลได้ไพเราะมากขึ้นอีกว่า “กาลเวลาและวารี มีแต่หนีหายไป”

ท่านผู้อ่านอ่านแล้วเกิดภาพในใจ ความคิดเห็น และความรู้สึกกับข้อความนี้อย่างไรบ้างครับ
คำ สอนนี้ตั้งใจจะให้คนเราไม่ประมาท ไม่นิ่งนอนใจ ควรเร่งเรียนรู้ศึกษา เร่งทำงาน สร้างผลงาน โดยไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไป เหมือนกับสำนวนที่ว่า “อย่าผัดวันประกันพรุ่ง” ใช่ไหมครับ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีอีกหลายท่านที่ยึดคำสอนนี้อย่างเคร่งครัด จริงจังจนเกินไปกลายเป็นนิสัยรีบเร่ง ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเร่งรีบ
มนุษย์ สมัยโบราณคงสังเกตเห็นโลกนี้ประเดี๋ยวก็มืด ประเดี๋ยวก็สว่าง พระอาทิตย์ลอยข้ามศีรษะไปตกอีกฟากหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องบอกเวลา โดยแบ่งช่วงขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าออกเป็นช่วงเท่าๆ กัน และใช้เงาของแสงอาทิตย์ซึ่งตกลงในจานหมุนเป็นตัวชี้วัด เรียกว่านาฬิกาแดด ใช้บอกเวลา ต่อมาจึงมีนาฬิกาแบบตุ้มแกว่งไปมา จนถึงนาฬิกาควอร์ตซ์ในปัจจุบัน เราสร้างเวลาไว้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต เพื่อให้กิจกรรมทั้งหลายที่เราต้องทำร่วมกันนั้นเกิดความสอดคล้อง กลมกลืน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เวลานั่นเองที่เป็นศัตรูของจิตใจ สร้างความกดดัน ความเร่งรีบ เพื่อให้ทันเวลา เกิดเป็นความเครียด และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วยอื่นๆ อีกมากมาย

ลักษณะ บุคลิกภาพแบบหนึ่งซึ่งแพทย์โรคหัวใจสองท่านคือ ดร.เมเยอร์ ฟรีดแมน ( Meyer Friedman ) และดร.เรย์ เอซ. โรเซนแมน ( Ray H. Rosenman ) เรียกว่า บุคลิกภาพชนิดเอ ( Type A personality ) คือผู้ซึ่งจริงจังในเรื่องเวลา ด้วยการเร่งรีบไปกับทุกเรื่อง ไม่อดทนรอคอย ทำอะไรก็ต้องแข่งกับเวลา และชอบแข่งกับคนอื่น มีความทะเยอทะยานสูง จะต้องเอาให้ได้ในสิ่งที่ตนเองหวังไว้ หากไม่ได้ก็จะรู้สึกโกรธ หัวเสียง่าย ซึ่งมีข้อมูลการวิจัยว่า ผู้มีบุคลิกภาพแบบนี้ จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่าน คงร้องอ๋อว่า ใช่เลย คนใกล้ชิดหลายคนรอบๆ ตัวหรือตัวท่านเองก็อาจมีบุคลิกภาพแบบนี้
ศาสตราจารย์ ชาวต่างประเทศท่านหนึ่งที่ผมรู้จักบอกว่า ท่านเป็นคนบุคลิกภาพชนิดเอตัวจริง อาจจะเรียกว่าบุคลิกภาพชนิดเอตัวพ่อก็ได้ ท่านสังเกตว่า เวลาเดินไปธุระกับเพื่อนๆ เพื่อนของท่านมักจะเดินตามไม่ทัน ท่านจะก้าวเร่งเร็วอย่างนี้ กลายเป็นนิสัยและแทบไม่รู้ตัวเลย รวมไปถึงการรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ และยังทานไปด้วยอ่านตำราไปด้วย แม้ในขณะที่กำลังเดินไปเข้าประชุมตอนบ่ายสองนั้น ใจก็คิดไปล่วงหน้าแล้วว่ายังมีนัดหมายอีกช่วงตอนบ่ายสี่ หลังจากนั้นจะต้องรีบเขียนบทความที่ค้างไว้ให้เสร็จ และเร่งตอบอีเมลเพื่อนจากต่างสถาบันที่ขอให้ช่วยตรวจทานตำราให้ ซึ่งท่านเองก็ต้องรีบยื่นข้อเสนอขอทุนวิจัยระดับประเทศให้ทัน ก่อนกำหนดเส้นตายวันศุกร์นี้
นิสัยเร่งรีบเช่นนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะกับคนทำงานที่มีความรับผิดชอบมากเท่านั้นนะครับ หลายคนที่แม้จะไม่ได้ทำงานแล้วก็ตาม ความเป็นบุคลิกภาพชนิดเอก็ยังออกอาการอยู่ ทำให้เกิดความกดดันในชีวิตของคนนั้นโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่น คุณป้าท่านหนึ่งซึ่งเกษียณมาหลายปีแต่ยังมีปัญหาเครียด นอนไม่หลับ แม้ว่าท่านจะบอกว่า ท่านไม่มีเรื่องเครียดอะไรแล้วก็ตาม เมื่อได้พูดคุยถึงชีวิตประจำวัน ทำให้ทราบว่าในแต่ละวันนั้น ท่านต้องรีบตื่นแต่เช้าตีสี่เพื่อไปตลาดสด เพราะจะได้ไปซื้อผัก ปลา ผลไม้ที่สดใหม่ และผู้คนไม่พลุกพล่าน
หลังจากนั้นก็จะรีบกลับมาทำ อาหารและรีบทานอาหารเช้าให้เสร็จ จะได้ไปรดน้ำต้นไม้ ดูแลสวน แล้วกลับมานอนพักผ่อนสักงีบ ซึ่งจะต้องตื่นก่อนสิบเอ็ดโมง เพื่อดูรายการข่าวช่วงเที่ยงวันของทีวีช่องประจำหลังจากทานอาหารกลางวัน แล้วก็จะต้องรีบทำธุระ เก็บกวาดบ้านให้สะอาดที่สุด ชนิดที่จะต้องไม่มีฝุ่นใดๆจับๆไม่ว่าจะเป็นที่ราวบันได เก้าอี้ ชุดรับแขก ที่จะต้องสะอาดและจัดวางให้เป็นระเบียบ
ต่อมาก็จะต้องเตรียมอาหาร เย็นและต้องทานให้เสร็จก่อนหกโมงเย็น เพื่อที่ว่าจะได้ดูละครหลังข่าว และต้องรีบเข้านอนตอนสองทุ่ม เพื่อที่จะได้รีบตื่นตอนตีสี่ในเช้าวันถัดไป
นอก จากนี้เรายังเห็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถบนท้องถนนของเมืองใหญ่ การรีบไปจองซื้อตั๋วหนังในโรงภาพยนตร์ การวิ่งกรูกันผ่านประตูรถไฟฟ้าบีทีเอส การรับประทาน อาหารบุฟเฟ่ต์ในร้านที่มีการจับเวลา คือห้ามทานนานเกินเวลาที่กำหนด ดูเหมือนว่าเวลาช่างมีอิทธิพลเหนือชีวิตของคนทุกวันนี้ เวลาและความเร่งรีบถือได้ว่าเป็นสิ่งที่แฝงเร้นทำลายชีวิตเราแบบไม่รู้เนื้อ รู้ตัวเลยนะครับ
เรามาหยุดพักความเร่งรีบกันสักวันในหนึ่ง สัปดาห์ดีไหมครับ เพื่อทำให้จังหวะชีวิตช้าลง เราจะได้สัมผัสและเฝ้าดูประสบการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างแท้จริง คือได้ทานอาหารจริงๆ ได้เดินจริงๆ ได้นั่งพักสบายจริงๆ ด้วยการทำให้วันนั้นเป็นวันแห่งสติ คือมีสติอยู่กับตัวเอง

อาจ จะเริ่มด้วยการตื่นนอนตอนเช้า โดยไม่ต้องใส่นาฬิกา ไม่ต้องพะวงกับเวลา เดินเล่นออกกำลังกายเบาๆในละแวกบ้าน ทำอาหารและทานอย่างไม่เร่งรีบกับสมาชิกในครอบครัว หลังมื้ออาหารก็ล้างจานอย่างมีสติ ทำความสะอาด เก็บกวาดบ้านให้แลดูสะอาดตา
หาก มีธุระ เดินทางออกจากบ้านก็ไปอย่างช้าๆ ไม่ต้องเร่งรถแซงขึ้นหน้าใคร ยืนเข้าคิวซื้อของด้วยใจสงบ แม้คิวจะยาวสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะทุกขณะที่ท่านดำรงชีวิตอย่างมีสตินั้น เป็นชั่วขณะของชีวิตที่แท้เป็นความงาม ความเบิกบาน ความสุข ความพึงพอใจที่สมบูรณ์อยู่ในตัวแล้วนั่นเอง
ท่านจะพบว่าวันนั้นทั้ง วัน จะเป็นวันที่ชีวิตได้พบกับความสุขสงบที่ประณีตยิ่งกว่าความสำเร็จอื่นๆ ที่ต้องวิ่งไปไขว่คว้าหามา และเวลาก็จะไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือต่อชีวิตท่านเมื่อได้ดำรงความมีสติไว้ จนสามารถบอกตนเองได้ว่า
“กาลเวลาและวารีแม้จะหนีหายไปก็ช่าง เพราะตอนนี้ฉันได้ชีวิตทั้งชีวิตกลับคืนมาแล้ว”
ที่มา http://www.dhammajak.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น