...+

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ห้าวิกฤตสำคัญของโลก : ต้นเหตุเกิดจากพลังงานฟอสซิล! โดย ประสาท มีแต้ม

"พวกเขา” กำลังเอาน้ำแข็งจากตู้เย็นไปช่วยทะเล!

“พวกเขา” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่หน่วยงานของอเมริกันเท่านั้น แต่คงหมายรวมถึง “ชาวโลกทั้งมวล” ที่กำลังยุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาหรือการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างหลงทิศผิดทาง ไม่สนใจการแก้ที่รากเหง้าของปัญหา การส่งเสริมให้คนถือ “ถุงผ้า” ในบ้านเราจัดอยู่ในแบบการ์ตูนนี้ด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด

เมื่อพูดถึงวิกฤตสำคัญของโลกในขณะนี้ คนไทยเราคงคิดถึง “วิกฤตสิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งแรกเพราะอากาศหนาวจัดในฤดูร้อนอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมไปถึง “ภูเขาเปื่อย” แผ่นดินไหว พายุ เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์เรียกวิกฤตดังกล่าวว่า วิกฤตภาวะโลกร้อน โดยสาเหตุเกือบร้อยละ 70 มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์เพียงอย่างเดียว อีก 4 วิกฤตที่เหลือ ผมขอเอ่ยถึงเพียงสั้นๆ คือ

วิกฤตพลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) ที่ทั้งขาดแคลน ราคาแพงขึ้นและสามารถผูกขาดได้โดยบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ

วิกฤตการเงิน ที่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในสหรัฐ อเมริกาและกำลังลามไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบันหากดูผิวเผินแล้ว วิกฤตนี้กำลังคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพราะสหรัฐอเมริกาได้พิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ตามอำเภอใจ ในอดีต (ประมาณปี 2516) กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ทนไม่ไหวกับค่าเงินดอลลาร์อ่อนที่ได้รับจากการขายน้ำมัน พวกเขาจึงรวมหัวกันแก้เผ็ดด้วยการขึ้นราคาน้ำมันถึง 400% ภายในปีเดียว ในอนาคต วิกฤตการเงินนี้อาจจะกลับมาอีก หรือระบบการเงินทั้งโลกอาจจะล้มครืนลงก็เป็นได้

วิกฤตสงคราม ย้อนไปดูสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามอิรัก และล่าสุดกรณีลิเบีย เป็นต้น ถ้าประเทศเหล่านี้มีแต่แตงโมกับพริกขี้หนู จะเกิดสงครามไหมหนอ?

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า "สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้เกิดขึ้นก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงเสียด้วยซ้ำ” น่าคิดนะครับ!

วิกฤตที่ 5 คือ วิกฤตความอ่อนแอของชุมชนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก หรือจะเรียกว่า “วิกฤตความเหลื่อมล้ำ” ก็ได้

ความเหลื่อมล้ำในทรัพย์สินระหว่างคนรวย 20% บนสุดกับคนจน 20% ล่างสุด ของประเทศเราต่างกันถึง 69 เท่าตัว นับว่าสูงที่สุดในเอเชีย เป็นเพราะอะไรครับ

ในความเห็นของผมมี 2 เหตุผล คือ (1) คนรวยมีโอกาสได้ผูกขาดมากขึ้น กล่าวเฉพาะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นไม่กี่หมื่นรายได้มูลค่าเพิ่มจาก 35 บาท เป็นกว่าสิบเท่าตัว จึงทำให้คนรวยจำนวนน้อยยิ่งรวยขึ้น (2) แหล่งรายได้และอาหารของชาวชนบท ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทะเล ที่ดิน อากาศต่างได้รับมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม กิจการพลังงาน และโรงไฟฟ้า ช่องว่างดังกล่าวจึงขยายตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งเพิ่มแผนพัฒนา “วิกฤตความเหลื่อมล้ำ” ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

โดยสรุป วิกฤตสำคัญของโลกทั้ง 5 ประการนี้มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลของมนุษย์ครับ

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า "ถ้ามนุษย์ยังชอบ ความสะดวกสบาย ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบภูเขา ชอบทะเล มันก็ต้องได้อย่างเสียอย่าง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องย้อนยุคไปอยู่ถ้ำสิ”

บางคนคิดไกลไปถึงว่า "ต่อไปประเทศเราต้องใช้ไฟฟ้าเยอะมาก โดยเฉพาะเมื่อรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เปิดใช้ครบทุกสาย”

ผมยอมรับครับว่า การทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้นั้นยากมากๆ เพราะคนเหล่านั้นถูกโปรแกรมมาให้คิดและเชื่ออย่างนั้นมายาวนาน เชื่อในสิ่งที่เขาบอกว่า มันเป็นความเจริญ เป็นความเติบโต เป็นความอารยะ

ในบทความที่ผมเขียนเรื่อง “พลังงานที่คนไทยถูกล้างสมองว่าล้าสมัย” (ค้นได้โดยกูเกิ้ล) ผมได้เรียนว่า รถไฟในสวีเดนเขาใช้ไบโอแก๊สจากโรงฆ่าสัตว์

รถเมล์ในประเทศนี้ใช้ไบโอก๊าซแล้วถึง 779 คัน นอกจากนี้ยังมีรถเก๋งอีกหลายพันคันที่ใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไบโอแก๊ส ปัจจุบัน 25% ของพลังงานที่ใช้ในสวีเดนมาจาก ชีวมวล (biomass รวมถึงไม้ฟืนด้วย) เขาตั้งใจว่าภายในปี 2593 จะเป็นประเทศที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือไม่ใช้พลังงานฟอสซิลเลย

ขณะนี้ทั่วโลกมีการใช้กังหันลมในเชิงพาณิชย์กันแล้วถึง 74 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เลขาธิการของสมาคมพลังงานลมโลก (Stefan Gsänger) กล่าวว่า “ตลอดสิบปีมานี้อุตสาหกรรมกังหันลมเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วถึง 1.1 แสนเมกะวัตต์ มีการจ้างงานถึงกว่า 4 แสนคน กำลังเป็นอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก มากกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เสียอีก

ในขณะที่กิจการไฟฟ้าในบ้านเราซึ่งมีส่วนร่วมถึง 5% ของรายได้ประชาชาติ แต่มีการจ้างงานไม่ถึงหนึ่งแสนคน หรือน้อยว่า 0.2% ของแรงงานทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 4 ชนิด คือ พลังน้ำ ลม แสงแดด และชีวมวล ได้เป็นจำนวนถึง 54% ของที่ประเทศไทยใช้

บางท่านแย้งว่า บ้านเราลมไม่แรงพอเมื่อเทียบแถบยุโรป ซึ่งก็เป็นความจริงครับ แต่ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้ได้สรุปว่า "ความเป็นไปได้ของกังหันลม ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่ขึ้นกับแนวนโยบายของรัฐบาล”

ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยคำพูดของ 2 คนสำคัญของโลก

หนึ่ง อดีตรัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดีอาระเบีย Sheikh Zaki Yamani กล่าวว่า “ยุคหินได้สิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะหินหมด ดังนั้น ยุคน้ำมันควรจะสิ้นสุดลงก่อนที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก”

สอง ดร.เฮอร์มัน เชียร์ (Hermann Scheer) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว กล่าวว่า “ต่อให้โลกนี้มีพลังงานฟอสซิลอย่างเหลือเฟือไม่จำกัด เราก็ไม่สามารถใช้ต่อไปได้อีกแล้ว เพราะเราถูกจำกัดด้วยระบบนิเวศหรือโลกร้อน” ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในเวลานี้

การแก้วิกฤตโลกทั้ง 5 จึงต้องเน้นไปที่สาเหตุสำคัญของวิกฤต คือ เชื้อเพลิงฟอสซิลครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น