...+

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

หลักธรรมที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

หลักธรรมที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
ศาสนาแต่ละศาสนามีจุดมุ่งหมายสูงสุดแตกต่างกัน เช่น พระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การเข้าถึงพระนิพพาน ศาสนาคริสต์มีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การเข้าถึงพระเป็นเจ้า เป็นต้น แต่ทุกศาสนามุ่งสอนให้คนทำความดี ไม่กระทำความชั่ว ซึ่งถือเป็นจริยธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

1. การพึ่งพาตนเอง เป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรยึดถือปฏิบัติ เพราะคนเราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ควรต้องช่วยเหลือตนเองโดยไม่พึ่งพาคนอื่นไปเสียหมด เพราะถ้าหากเราสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง เราก็เกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ทำ และถ้าหากเราได้ช่วยเหลือตนเองเต็มกำลังความสามารถแล้ว ผู้อื่นก็อยากจะช่วยเหลือเรา ดังตัวอย่างนิทานอีสป เรื่อง เทวดากับคนขับเกวียน
ชายผู้หนึ่งขับเกวียนไปในป่า ลูกล้อเกวียนตกหล่มลึก ควายลากไม่ไหว ชายผู้นั้นกลัวจะมืดกลางทาง จึงบนบานขอให้เทวดาช่วย ในขณะนั้นเทวดาที่เป็นเจ้าป่าลงมาบอกแก่ชายผู้นั้นว่า
"จะยืนดูอยู่ทำไมอีกเล่า จงเอาบ่าแบกลูกล้อเข้า แล้วเฆี่ยนควายให้เดิน ลูกล้อก็จะเคลื่อนที่ขึ้นจากหล่มได้ การที่ร้องโวยวายไปเสียก่อน ยังไม่ทันจะได้ลองกำลังของตนเองให้เต็มฝีมือดังนี้ จะให้ใครเขามีแก่ใจช่วยเจ้าได้"

2. ความกตัญญูกตเวที เป็นหลักธรรมที่เป็นลักษณะของคนดี เพราะคนดีนั้นต้องรู้จักสำนึกในบุญคุณของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง และเมื่อสำนึกในบุญคุณแล้วต้องรู้จักตอบแทนพระคุณของผู้นั้นด้วย เช่น พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา เราจึงต้องตอบแทนพระคุณของท่าน เป็นต้น ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้พบเห็น

3. ความมีระเบียบวินัย เป็นหลักธรรมที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะระเบียบวินัยเป็นความสามารถในการปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับของคนในกลุ่ม เมื่อมีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยระเบียบวินัยเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เหมือน ๆ กัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

4. ความเป็นผู้มีวัฒนธรรมและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะความเป็นไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่ไม่เหมือนกับชาติอื่น เราในฐานะที่เป็นคนไทยจึงควรช่วยกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยที่ดีงาม เช่น วัฒนธรรมในการแสดงความเคารพ วัฒนธรรมในการแสดงความนับถือผู้อาวุโส รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ



ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ . สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.3 . พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์ .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น