...+

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

“Climate Cool” ลดโลกร้อน ตามสไตล์ นิสิต มมส.-นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์

Climate Cool สะกิดไอเดียวัยโจ๋ เปิดโอกาสสร้างโครงการช่วยโลกด้วยวิธีง่ายๆ นิสิต มมส. หยิบกระดาษเก่าเหลือใช้ ปรุงโฉมใหม่เป็นสมุดสุดสวย ด้านสาว มธ. ขอไปเล่านิทานสร้างแนวคิดให้เด็ก

โครงการ Climate Cool โดยความร่วมมือของ บริติช เคานซิล สถานทูตอังกฤษ นิตยสาร a day และ Youth Venture Thailand เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำสิ่งดี ๆ ให้กับโลก ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของ คนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะเสนอคำตอบให้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยจุดเด่นของโครงการ คือ ไม่เน้นการประกวดโครงการสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด แต่เน้นการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้คิด และทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในแบบของตนเอง



ไลฟ์ ออน แคมปัส มีโอกาสได้สัมภาษณ์ตัวแทนเจ้าของโครงการที่ผ่านการคัดเลือกประจำปีนี้ อย่าง “โครงการ CD Green Heart ใช้กระดาษอย่างรู้ค่าคืนชีวาให้โลกสดใส” โดยกลุ่มนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่รวมตัวกันตั้งทีม “CD Green Heart” ชวนชาว ม.มหาสารคาม มาทำสมุดทำมือที่ใช้กระดาษจากชีทและเอกสารการเรียน ที่แต่ละปีจะถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ มีอยู่ใกล้ๆตัวและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

กลุ่มนิสิตผู้คิดโครงการนี้ประกอบไปด้วย น.ส.กิติยา เจ้นลา , น.ส.เสาวลักษณ์ หมายมี , น.ส.วราพร ครามบุตร ,น.ส.สายแนน ชื่นชม , น.ส.เจษฎาภรณ์ พิณเหลือง , นายวัฒนะ บูรณ์เจริญ และ น.ส.โสลิยา สาแก้ว

เจษฎาภรณ์ พิณเหลือง ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า แรงบันดาลใจในโครงการ มาจากการที่เราใช้กระดาษเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชีทรายงานต่างๆ กระดาษเหลือใช้ก็มีมาก เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษา แนะนำโครงการ Climate Cool จึงลองเขียนโครงการส่งมา จนกระทั่งได้รับคัดเลือก

“เราดูรายการโทรทัศน์ จึงทราบข้อมูลว่าคนไทยใช้กระดาษเปลืองมาก คนหนึ่งใช้ 60 กิโลกรัมต่อปี รวมถึงการตัดต้นไม้ก็มีปริมาณมาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยเอากระดาษชีทเหลือใช้ ขนาด 70 แกรม และเรียบ นำด้านที่ยังเป็นกระดาษขาวมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยติดต่อกับโรงพิมพ์เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดทำรูปเล่ม เอากระดาษเหลือใช้มาทำเป็นปก การประสานงานของลายเซ็น นีน่า กุลนัดดา ลงบนปกเพื่อเป็นไอดอลแก่นิสิต และเพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้คนสนใจได้มากขึ้น”


ชีทเหลือใช้ กลายเป็นสมุดใหม่สุดสวย

เจษฎาภรณ์ ทิ้งท้ายว่า กระดาษที่นำมาใช้ เป็นกระดาษมือสองทั้งหมด และได้พิมพ์เป็นต้นแบบ 500 เล่ม โดยได้จากปริมาณกระดาษที่ได้รับบริจาค นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างความตระหนัก อบรมเรื่องการใช้กระดาษ และการใช้พลังงาน การฝึกสมุดทำมือ เพื่อเป็นอีกแนวทาง ที่นำกระดาษเหลือใช้ นำมารีไซเคิลอีกครั้ง รวมถึงอาจจะต่อยอดกับชมรมต่างๆ ลงพื้นที่ในชนบทเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่อไป

ส่วน “โครงการ EC-Cool” ของกลุ่มนักศึกษาลูกแม่โดม ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย น.ส.มิ่งขวัญ จันทร์พิมพ์ , น.ส.รพีพรรณ เหลืองธาดา , น.ส.นภัทร หาญนารากร และ น.ส.วริษฐา อาจทวีกุล เป็นการรวมพลังสาวๆจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่อยากสร้างเทรนด์ใหม่ให้นักศึกษาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ชวนกันไปอ่านนิทานสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ดฟัง เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนตัวน้อยของชาติเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการสร้างสีสันให้น้องๆได้ร่วมสนุกและฝึกฝนจินตนาการด้วย



จุดเริ่มต้นโครงการ มาจากปีที่แล้วเคยมีรุ่นพี่ทำโครงการ Climate Cool มาก่อน สาวๆ EC-Cool จึงอยากลองไอเดียดีๆ หากิจกรรมทำบ้าง จนเป็นโครงการง่ายๆ แต่ได้ผลยิ่งใหญ่ ผ่านการถ่ายทอดค่านิยม ความตระหนักให้กับเด็กๆ เรื่องภาวะโลกร้อน

“กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กอ่อนพญาไท เป็นเด็กโตอายุประมาณ 5-10 ขวบ พวกเราไปช่วยกันทำกิจกรรม โดยตอนแรกเด็กก็วุ่นมาก เพราะเป็นวัยกำลังซน เราก็ต้องใช้เทคนิคในการทำให้เด็กสนใจ จนกระทั่งผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะเด็กสามารถตอบคำถามได้หมด ว่าควรทำตัวอย่างไร กับปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น และใช้อะไรในการแก้ปัญหา”


เด็กๆสนใจฟังนิทาน

สาวๆลูกแม่โดม กล่าวต่อไปว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกำพร้า ในอีกทางหนึ่งจึงเป็นการมอบความอบอุ่น พร้อมทั้งปลูกฝังสิ่งดีๆด้านสิ่งแวดล้อมให้กับน้องๆ เพราะเป็นนิทานเรื่องโลกร้อนโดยตรง ให้เห็นถึงเหตุผลที่ทำให้เกิด มีความร้ายแรงแค่ไหน และจะลดโลกร้อนด้วยตัวเองง่ายๆอย่างไร

“การถ่ายทอดแนวคิดให้เด็กเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะเด็กเหล่านี้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพต่อไป เป็นพลังสำคัญในอนาคต ดังนั้นยึดตามคติไม้อ่อนดัดง่าย เด็กๆรู้อะไรตอนนี้ก็ย่อมทำสิ่งดีๆได้ในอนาคต” สาวๆ EC-Cool กล่าวสรุป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น