...+

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทิศทางการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใครเหลียวแล โดย นพ.สมบูรณ์ ทศบวร

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงานและในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งในหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชน ถ้าในปัจจุบันมีใครพูดว่า “ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์” ก็คงถูกหาว่า “ไม่บ้าก็เมา”

การพัฒนาคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานราชการโดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์นั้น แรกเริ่มก็อาศัยบุคลากรของหน่วยงานเองซึ่งก็เหมาะกับงานเล็กๆ ต่อเมื่อระบบงานมีความซับซ้อนขึ้น การให้คนของตนเองพัฒนาก็คงไปไม่ตลอดรอดฝั่งเพราะขาดทั้งแรงจูงใจและขาดความชำนาญในการพัฒนาเชิงลึก หน่วยงานราชการจึงต้องจัดจ้างเอกชนมาเป็นผู้พัฒนา โดยมี “ความเชื่อ” ว่า เอกชนมีความชำนาญกว่า งานมีคุณภาพดังที่ต้องการมากกว่า มีมาตรฐานการเขียนโปรแกรมมากกว่า (โดยที่ทางหน่วยงานเองก็ไม่ทราบว่า รายละเอียดของสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐาน” นั้นเป็นอย่างไร) ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยเอกชนก็สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีในเบื้องต้นตามที่สาธิตให้ดู อาทิ ซอฟต์แวร์ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ปฏิบัติการในงานหลักของหน่วยงานราชการต่างๆ ซอฟต์แวร์ปฏิบัติการของโรงพยาบาล ฯลฯ

ครั้นเมื่อมีผู้เข้าร่วมใช้งานมากขึ้นระบบก็เริ่มสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน อาทิ มีความล่าช้าในการประมวลผล ผู้ใช้บริการเข้าระบบไม่ได้ ระบบไม่ตอบสนองการเรียกใช้ (ในกรณีถ้าเป็นมากๆ ระบบก็อาจล่มได้) เราจึงเห็นตัวอย่างมากมายที่หน่วยงานต้องบอกเลิกราเลิกสังฆกรรมกับซอฟต์แวร์ดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็นในระดับกอง ระดับกรม โรงพยาบาลต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่ในทางเทคนิคแล้ว ปริมาณงานหรือผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นแทบจะไม่เป็นภาระกับฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ แต่ผู้ที่รับผิดชอบของหน่วยงานก็ต้องหันหน้าไปปรึกษากับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่เพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาก็มักให้คำตอบว่า “ปัญหาอยู่ที่เครือข่าย (Network) อยู่ที่คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) อยู่ที่อุปกรณ์สลับช่องสัญญาณ (Switch) เพราะมีอายุการใช้งานยาวนาน สายสัญญาณ (อันได้แก่สายเคเบิล สายไฟเบอร์ออฟติก) มีช่องทางไม่เพียงพอต่อการเรียกเข้าปริมาณมากได้ ฯลฯ ต้องจัดหาระบบเพิ่มเติม” มูลค่าของระบบที่จัดหาของหลายหน่วยงานอาจมีมูลค่าถึงหลายสิบล้านบาท และในอนาคตก็เชื่อว่า มูลค่าของระบบดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยต่างๆ

การที่เอกชนผู้รับจ้างพัฒนาให้คำตอบเช่นนี้นอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในคุณภาพของซอฟต์แวร์ที่พัฒนาแล้ว ยังทำให้ตนเองมีโอกาสจะได้งานใหญ่ทั้งด้านซอฟต์แวร์ที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อรองรับฮาร์ดแวร์ใหม่ และงานด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งจะพ่วงมากับซอฟต์แวร์ที่เพิ่มเติมโดยไร้คู่แข่ง

ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาระบบโดยอิงกับซอฟต์แวร์เดิมนั้นจำเป็นต้องอาศัยเอกชนผู้พัฒนารายเดิม ผู้พัฒนารายใหม่แทบจะไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้เพราะเข้าไม่ถึงซอร์ซโค้ด (Source Code) โดยไม่มีใครได้ไปพิจารณาเลยว่า ปัญหาที่ว่านั้นเกิดจากเครือข่าย หรือเกิดจากซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพการพัฒนาที่ไม่ได้มาตรฐานและดีเพียงพอ ความสูญเสียมูลค่ามหาศาลจึงเกิดขึ้นกับระบบราชการและเป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนผู้พัฒนา ทั้งๆ ก็เป็นที่ทราบกันดีให้วงการว่า บริษัทเอกชนรายดังกล่าวมีคุณภาพในการพัฒนาที่ไม่ได้มาตรฐานและมีปัญหามาแล้วในหน่วยงานอื่น

ครั้นเมื่อหน่วยงานที่ต้องให้บริการประชาชนหรือบริการหน่วยงานภาครัฐอื่นทำคำของบประมาณโดยอ้างถึงภารกิจของหน่วยงานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งให้ข้อมูลการล่มของระบบ ข้อมูลความล่าช้าของระบบ พร้อมกับข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรม (Transaction) ที่เพิ่มมากขึ้น สำนักงบประมาณก็คงยากในการที่จะปฏิเสธไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบตามที่ขอ เพราะสำนักงบประมาณเองก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง และไม่เคยลงพื้นที่หรือศึกษาในรายละเอียด เพราะมีภารกิจงานที่สำคัญอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่สำนักงบประมาณทำได้ก็เพียงขอต่อรองลดงบประมาณลงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15

เป็นนิมิตหมายที่ดีที่กระทรวงไอซีทีได้เริ่มมาสนใจในประเด็นดังกล่าวและเชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งหลายที่มีผลิตภัณฑ์ “ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์” มาร่วมทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีอยู่ในท้องตลาด ทำให้หน่วยงานราชการอื่นๆ ได้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดที่มีปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะในการเชื่อมโยงกับระบบอื่น หรือเมื่อมีภาระงานมาก แต่นี่เป็นเพียงซอฟต์แวร์การใช้งานเพียงโปรแกรมเดียว ยังมีซอฟต์แวร์อื่นอีกมากมายที่หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องให้บริการประชาชนหรือหน่วยงานเอกชนอื่น โดยที่หน่วยงานก็ไม่ทราบเลยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้อยู่นั้นมีคุณภาพดีจริงหรือไม่ สามารถรองรับภาระงานปริมาณมากโดยไม่ทำให้ระบบล่มได้หรือไม่

ถ้านี่คือปัญหาร่วมของหน่วยงานราชการต่างๆ และเป็นปัญหาร่วมที่มีมูลค่าการใช้จ่ายงบประมาณหลายพันล้านบาทแล้ว คำถามคือ หน่วยงานใดควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานใดควรเป็นฝ่าย “ผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อสร้างมาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของหน่วยงานราชการ?

คำถามแรกคงตอบได้ไม่ยาก เพราะโดยลักษณะของปัญหาแล้ว กระทรวงไอซีทีควรมีหน้าที่ในการตระหนักถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวในภาพรวม แม้ว่าทางกระทรวงไอซีทีจะได้จัดทำ “เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์” ซึ่งทุกหน่วยงานราชการใช้เป็นกรอบในการพิจารณาจัดซื้อจัดหาคอมพิวเตอร์ แต่ในรายละเอียดแล้วมุ่งเน้นไปทางด้านฮาร์ดแวร์เท่านั้น ยังมิได้มีเกณฑ์ในการพิจารณาการจัดซื้อจัดหาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์

น่าจะถึงเวลาแล้วที่กระทรวงไอซีทีจะมาให้ความสนใจต่อมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบเพื่อให้เกิดมาตรฐาน ไม่ว่าจะในประเด็นมาตรฐานการพัฒนา การที่ต้องผ่านการทดสอบทางเทคนิคที่สำคัญ เช่น ทดสอบในกรณีที่มีภาระงานมาก การกำหนดให้ต้องสามารถเชื่อมโยงกับระบบ Th e-GIF ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีก็คงไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มาขบคิดให้คำตอบในรายละเอียดด้านเทคนิคดังกล่าวได้ จำเป็นที่ต้องอาศัยหน่วยงานในสังกัด อันได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในการศึกษาและจัดทำมาตรฐานที่มีรายละเอียดและเหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบในการจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ของหน่วยงานราชการต่างๆ

ปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ อันก่อให้เกิดภาระแก่สังคมในทางงบประมาณ โดยการดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของกระทรวงไอซีทีและ NECTEC ตามที่เสนอไว้ข้างต้น ด้วยมูลค่างบประมาณจำนวนดังกล่าวรัฐบาลสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นให้เกิดประโยชน์ “มหาศาล” โดยตรงแก่คนรากหญ้า แก่ประชาชนที่อยู่ตามชายขอบประเทศ ซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีใครเหลียวแลและเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ เป็นประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง แทนที่จะปล่อยให้เงินดังกล่าวมาจมอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานราชการ

อย่างน้อยอานิสงส์ที่รัฐบาลทำเพื่อประชาชนคนรากหญ้าก็น่าที่จะดลบันดาลให้สามารถลดจำนวนกลุ่มชาวบ้านผู้เดินขบวนมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐบาลให้น้อยลงได้บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น