...+

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

“คิดต่าง มองต่าง คือ การออกแบบ” คำนิยามของอาจารย์สาว ม.รังสิต

การออกแบบ คือ อะไร ? หรือ อะไรที่เรียกว่า “ออกแบบ” หลายๆ คน คงยังค้นหาหรือเฝ้ารอคำตอบของคำๆ นี้ วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับหญิงสาวผู้มีสไตล์ในแบบฉบับของตัวเอง อาจารย์อรพรรณ สาระศาลิน เชฟเฟอร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และดีไซเนอร์ @ Studiomake ผู้ให้นิยามคำว่าการออกแบบ คือ การมองสิ่งที่ธรรมดาแล้วเห็นอะไรที่ไม่ธรรมดา และสามารถสร้างสรรค์ไอเดียเหล่านั้นให้กลายมาเป็นวัตถุที่จับต้องได้ และผู้คนยอมรับ

อาจารย์อรพรรณ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการนักออกแบบเป็นเพราะคุณพ่อกับคุณแม่อยู่ในแวดวงการออกแบบ เหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้อยู่รอบข้างและหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก หลังจากที่เรียนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก University of Arizona ได้มีโอกาสทำงานด้านสถาปนิก ในรัฐแคลิฟอเนีย ทำงานอยู่ประมาณ 4 ปี ก็สอบใบประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก หลังจากนั้นจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านเซรามิก ที่ Cranbrook Academy of Art รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา

“เหตุผลที่ตัดสินใจเรียนทางด้านเซรามิก เพราะอยากเรียนเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดความรู้ในอีกแขนงหนึ่งของการออกแบบ ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีการมอง วิธีการตั้งคำถาม การตั้งโจทย์ในการออกแบบ รวมถึงการลงรายละเอียดเพิ่มเติมให้แก่ผลงาน ช่วยให้ได้มุมมองใหม่ๆ นำมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งทำให้งานออกแบบมีรายละเอียดและมีคลาสเพิ่มขึ้น”

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานได้สักพัก อาจารย์อรพรรณได้เริ่มสอนที่มหาวิทยาลัย Woodbury ในเมือง San Diego สอนวิชา Design Studio ถือเป็นครั้งแรกในฐานะอาจารย์ “จากที่ตอนแรกที่เราเคยเป็นผู้รับ แต่ตอนนี้กลับมาเป็นผู้ให้ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของตนเองอีกอย่าง ซึ่งการสอนหนังสือนั้น นอกจากเป็นการเพิ่มเติมความรู้ หรือมุมมองต่างๆ อีกสิ่งหนึ่ง คือ การได้มีโอกาสทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นด้วยจากการสอนหนังสือ”

สำหรับผลงานที่ผ่านมาของอาจารย์อรพรรณ ในฐานะนักออกแบบ คือ การออกแบบและปรับปรุงห้องพักที่อาศัย โดยลงมือทำเองทุกขั้นตอน ซึ่งได้ลงปกนิตยสาร Dwell ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบชื่อดังในอเมริกา โดยหลังจากที่กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย ก็ได้ตัดสินใจเปิดสตูดิโอ โดยมีชื่อว่า Studiomake เปิดรับงานออกแบบทั้งด้านสถาปัตย์ ด้านการออกแบบภายใน interior ด้าน future & product design ตั้งแต่งานสเกลเล็กไปจนถึงสเกลใหญ่ อาทิ ถ้วยเซรามิก Flawed อุปกรณ์ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ Domestic Clamps รวมถึงตกแต่งภายในร้าน Dude Cigar Bar เป็นต้น

อาจารย์อรพรรณ กล่าวต่อว่าเหตุผลในการตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตเมืองไทย เป็นเพราะอยากใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวมาเพื่อพัฒนาการออกแบบในประเทศไทย “ดิฉันมองว่า ประเทศไทยมีสิ่งที่น่าสนใจในการออกแบบอยู่มากมาย ทั้งในเรื่องของวัตถุดิบรวมถึงวัฒนธรรมไทย ซึ่งคนไทยมีฝีมืออยู่ทุกภาค แต่ฝีมือนั้นยังไม่ได้ถูกประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัย เช่น การเขียนลวดลายบนถ้วยเบญจรงค์ การทำหัตถกรรม รวมถึงงานฝีมือของแต่ละภาค ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้สิ่งเหล่านี้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นทักษะเหล่านี้ควรถูกนำมาประยุกต์ให้เป็นที่แพร่หลายและมีการอนุรักษ์เพื่อสืบทอดสู่รุ่นลูก รุ่นหลานต่อๆ ไป

สำหรับนักศึกษาหรือวัยรุ่นคนไหนอยากจะเป็นนักออกแบบที่ดีในอนาคต ต้องมีคุณสมบัติเป็นคนช่างสังเกต มองทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนบางครั้งต้องมองให้แตกต่างจากคนอื่น ต้องมองเห็นปัญหา และอยากที่จะแก้ไขปัญหานั้น ที่สำคัญต้องมีความขยันเพราะว่าก่อนที่จะก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านใดๆ ก็ตาม ต้องผ่านการฝึกฝน และฝึกซ้อม และท้ายสุด คือ มีไอเดียสร้างสรรค์” อาจารย์อรพรรณกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น