...+

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์. . .ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัย! โดย ประสาท มีแต้ม

โดยปกติเมื่อพูดถึงปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขามักจะพิจารณาถึงหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ (1) ต้นทุน (2) ความปลอดภัย (3) การจัดการกับกากนิวเคลียร์ และ (4) การเพิ่มกระจายของความเสี่ยง (proliferation risk) แต่ถ้าพูดถึงโรงไฟฟ้าโดยรวมเขาจะพิจารณาเพิ่มอีก เช่น (1) การกระจายรายได้ (2) ความเป็นอิสระด้านพลังงาน และ (3) ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นได้ส่งผลให้ชาวโลกต้องลุกขึ้นมาคิดถึงความเหมาะสมกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ได้มุ่งไปที่เรื่องความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว

ในบ้านเรา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีแผนการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 5 โรง คิดเป็นร้อยละสิบของกำลังการผลิตทั้งหมดในช่วง 20 ปีข้างหน้า

บทความนี้จะกล่าวถึง 3 ประเด็นที่เหลือและขอเพิ่มเติมอีกหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมไทยเลยทีเดียว

ผมเริ่มต้นด้วยคำพูดของคุณอัล กอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพว่า “สมมติว่าเราสามารถแก้ปัญหาสำคัญ 2 อย่างได้แล้ว คือ (1) ปัญหาที่เก็บกากนิวเคลียร์ที่ปลอดภัย (2) ปัญหาการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์แล้ว เรายังคงสงสัยว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่”

ถ้าเปรียบเทียบกับหลักการ 4 ข้อข้างต้น อัล กอร์ ยังไม่ได้กล่าวถึงหลักการเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในวันนี้เหตุการณ์ในญี่ปุ่นได้อธิบายและตอกย้ำตัวมันเองแล้วว่า อะไรเป็นอะไร

เรื่องอาวุธนิวเคลียร์เขากล่าวว่า “ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผมอยู่ในทำเนียบขาว ปัญหาการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ทุกปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ล้วนเชื่อมโยงกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เราชอบพูดกันมานานหลายสิบปีแล้วว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ (ทางทหารและพลเรือน)แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ใช่ แต่ถ้าคุณมีทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และคุณเป็นเผด็จการ คุณก็สามารถทำให้พวกเขาสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ให้คุณได้ในชั่วข้ามคืน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือและอิหร่าน” (จากบทความของสันติ โชคชัยชำนาญกิจ)

สำหรับเรื่องต้นทุน จากงานวิจัยเรื่อง “Solar and Nuclear Costs-The Historic Crossover” ของ John O. Blackburn และ Sam Cunningham (ค้นได้จาก google) โดยการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์กับแผงโซลาร์เซลล์ในรัฐ North Carolina พบว่า เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ต้นทุนจากแผงโซลาร์เซลล์มีราคาสูงกว่าพลังงานนิวเคลียร์จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ต้นทุนจากนิวเคลียร์มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่นับจากปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ต้นทุนจากโซลาร์เซลล์กลับมีราคาถูกกว่าราคาจากนิวเคลียร์แล้ว และจะถูกกว่ามากขึ้น

งานศึกษาเรื่อง “Update of the MIT 2003 Future of Nuclear Power” (จาก google) ต้นทุนค่าก่อสร้างที่ไม่คิดค่าดอกเบี้ย (Overnight Cost) ได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากปี 2545 ถึงปี 2550 (จาก 2 เป็น 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์) หรือปีละ 15% ในขณะที่ค่าเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นจาก 0.47 เป็น 0.67 เซ็นต่อหน่วยความร้อนหนึ่งล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 57%

แต่ทาง กฟผ. ได้เสนอต้นทุนที่ต่ำกว่านี้มาก เพื่อที่จะนำไปโฆษณาให้ประชาชนยอมรับ นอกจากนี้ยังไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปของต้นทุนดังกล่าวได้

มาถึงเรื่องวัฒนธรรมที่คนทั่วไปไม่ได้คำนึงถึง อาจารย์ด้านพลังงานจากสถาบันแห่งหนึ่ง (ดร.จำนง สรพิพัฒน์) ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า “ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไต้หวัน วิศวกรคนหนึ่งกับรักษาความปลอดภัยคนหนึ่งทั้งสองรู้จักคุ้นเคยกันดี แต่วันหนึ่งวิศวกรลืมบัตรเข้า-ออก ลองทายดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าเป็นเมืองไทยจะเกิดอะไรตามมา”

ปรากฏว่า รปภ.ไม่อนุญาตให้เข้า ถ้าเป็นเมืองไทย รปภ.คงต้องยอมเพราะมิฉะนั้นแล้วอาจจะถูกไล่ออกได้

อีกเรื่องหนึ่ง ก่อนที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลจะระเบิด มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น ช่างเทคนิคอาวุโสได้เตือนวิศวกรจบใหม่ผู้เป็นหัวหน้าเวร เพื่อไม่ให้หัวหน้าทำอะไรบางอย่าง แต่วิศวกรผู้นี้ตอบไปว่า “ผมเป็นวิศวกร ผมต้องการจะแสดงให้หัวหน้าเห็นความสามารถ ผมต้องทำ”

ปัญหาด้านวัฒนธรรมดังกล่าว ในบ้านเรา “แข็งแกร่ง” มากกว่าที่อื่นใดในโลกนี้มั่ง!

ย้อนมาที่กรณีญี่ปุ่นซึ่งเราถือกันว่า คนของเขามีวินัยอย่างมาก แต่รายงานข่าวจากสำนักข่าวไทยว่า “บริษัทไฟฟ้าโตเกียวยอมรับว่า แจ้งรายงานเท็จเกี่ยวกับผลการตรวจตราโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ โรงที่ 1 ต่อหน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์สิบวันก่อนเกิดแผ่นดินไหว เทปโกยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้นซึ่งมีอายุการใช้งานมานาน ขณะที่แผงจ่ายไฟฟ้าให้แก่วาล์วควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่งก็ไม่ได้รับการตรวจมานานถึง 11 ปี”

กลายเป็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่ทำงานสำคัญมากๆ ในญี่ปุ่นก็เป็นเสียเองหรือนี่ หรือมันกำลังสะท้อนว่าระบบทุนใหญ่ๆ มันสามานย์เหมือนกันทั่วโลก

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก พบว่าช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือช่วงทศวรรษ 1970 ด้วยเหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ได้มาซบเซาเอาหลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล 2529 แล้วทำท่าจะมาเฟื่องฟูใหม่อีกครั้งหลังปี 2543 จนมาถึงเหตุการณ์ในญี่ปุ่น

ข่าวหลายแหล่งรายงานว่าเริ่มมีการประท้วงกันแล้วทั้งในบ้านเราเอง และอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งเยอรมนีที่รัฐบาลจะยืดอายุการใช้งานออกไปอีก 12 ปี

เรื่องที่อ้างว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องหลอกลวง (ดูการ์ตูนประกอบ) เพราะกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วเสร็จต้องใช้เวลานานถึง 12-15 ปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “ไม่ทันกาล” กับปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น