...+

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

บุหรี่นำเข้าราคาต่ำกว่าจริง : ข้อกังขาก่อปัญหาซ้ำเติม

โดย สามารถ มังสัง

ในขณะที่น้ำมันปาล์มขาดแคลน ราคาแพง และแถมหาซื้อในราคาควบคุมได้ยาก ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค เป็นเหตุให้เกิดข้อกังขาต่อปัญหา และบทบาทในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ยังไม่ทันจะเลือนหายไป การนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อดังโดยการสำแดงราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบกับผู้นำเข้ารายอื่นทั้งที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน ก็ได้ปรากฏกเป็นข่าวและก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยแก่ประชาชนคนทั่วไป ทั้งที่อยู่ในวงการและนอกวงการธุรกิจบุหรี่ ดังที่กำลังเป็นข่าวทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เป็นที่ทราบกันทั่วไปในขณะนี้

แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นประเด็นอันเป็นเหตุให้เกิดข้อกังขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอข่าวนี้อีกครั้ง โดยสรุปเป็นประเด็นพอสังเขปดังนี้

1. บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และยี่ห้อแอล แอนด์ เอ็ม จากประเทศฟิลิปปินส์ โดยสำแดงราคา 7.76 บาทต่อซอง และ 5.97 บาทต่อซอง ตามลำดับ

2. เมื่อเปรียบเทียบราคากับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ของเมืองไทย ได้นำเข้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้จากประเทศมาเลเซีย โดยสำแดงราคายี่ห้อมาร์ลโบโร 47.46 บาทต่อซอง และแอล แอนด์ เอ็ม 18.81 บาทต่อซอง

3. จากการเปรียบราคาที่ทั้ง 2 ผู้นำเข้าสำแดงไว้ จะเห็นได้ว่าผู้นำเข้ารายที่ 1 ต่ำกว่ารายที่ 2 มาก จึงเป็นเหตุให้มีการสอบสวนในเรื่องนี้ขึ้น โดย DSI เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ และในที่สุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ในข้อหาสำแดงราคานำเข้าบุหรี่อันเป็นเท็จ

4. ต่อมาได้มีการทบทวนเรื่องนี้ โดยเชิญหน่วยราชการหลายหน่วยมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และในที่สุดอัยการได้มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง

5. อนึ่ง ในขณะที่ทางการได้ดำเนินการสอบสวนหาความผิดในการสำแดงราคาบุหรี่อันเป็นเท็จ ทางผู้นำเข้ารายนี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนองค์การการค้าโลก หรือ WTO และทาง WTO ได้มีความเห็นว่า ประเทศไทยทำไม่ถูกต้อง และให้มีการแก้ไขทบทวนเรื่องนี้ และสุดท้ายการสำแดงราคาบุหรี่อันเป็นเท็จของผู้นำเข้าก็จบลงด้วยการไม่ฟ้องตามความเห็นของอัยการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีนี้

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเหตุให้เกิดข้อกังขาต่อบทบาท และภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำรัฐบาล และในฐานะผู้บังคับบัญชา ข้าราชการการเมืองที่เข้ามาก้าวก่ายเรื่องนี้ โดยการเรียกประชุมหน่วยราชการต่างๆ ที่ทำเนียบฯ ว่าทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และใครจะรับผิดชอบความเสียหายอันเกิดจากการสำแดงราคาอันเป็นเท็จของผู้นำเข้าบุหรี่รายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องใหญ่ดังต่อไปนี้

1. จากการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ของผู้นำเข้ารายนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท

2. เมื่อมีการนำเข้าในราคาถูก ก็ย่อมขายในราคาที่ถูก และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบถึงธุรกิจผลิต และจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการที่ผู้ผลิตบุหรี่ในประเทศขายบุหรี่ได้น้อยลง

3. การสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงสามารถกระทำได้โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ ก็จะเป็นเหตุให้ผู้นำเข้าสินค้าประเภทอื่นเอาอย่าง และถ้าเป็นเช่นนี้แล้วประเทศไทยจะนำมาตรการอะไรมาปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยให้รอดพ้นจากการทุ่มตลาดด้วยการขายต่ำกว่าราคาทุน

จากพฤติกรรมและภาวะผู้นำรัฐบาลที่เพิกเฉย ไม่แสดงภาวะผู้นำแก้ปัญหาด้วยการใช้ความเด็ดขาด โดยยึดกฎหมายและผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในทางความคิดในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนต่างชาติด้วย และนี่เองน่าจะเป็นสาเหตุหลักให้ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในอาทิตย์หน้า และเป็นสาเหตุหนึ่งให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำเรื่องนี้มาเปิดเผยในที่ชุมนุมอันเป็นการอภิปรายนอกสภา

จริงอยู่ ถ้ามองในแง่กฎหมายอาจเอาผิดรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงข้าราชการการเมืองรอบๆ ตัวนายกฯ ไม่ได้ แต่เชื่อได้ 100% ว่าในแง่สังคม และการเมือง เรื่องนี้จะเป็นตัวกัดกร่อนศรัทธาที่มีต่อผู้นำรัฐบาลที่น้อยลงเรื่อยๆ ในเวลานี้ ทั้งจากเรื่องน้ำมันปาล์ม และปัญหาดินแดนระหว่างไทย-กัมพูชา จะยิ่งถูกกัดกร่อนมากยิ่งขึ้นด้วยข้อหาทางสังคมในประเด็นที่ว่า ทำไมปล่อยให้คนรอบตัวผู้นำเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงแล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมว่ากันไป จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วไม่มีความผิด โดยที่ฝ่ายบริหารไม่เข้าไปก้าวก่ายวุ่นวาย และถือโอกาสแสวงหาความนิยมชมชอบ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์อันพึงได้จากการยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้เอกชนโดยไม่จำเป็นต้องทำ และนี่คือเหตุสำคัญของเรื่องนี้ และเป็นจุดที่ฝ่ายค้านนำไปเป็นประเด็นซักฟอกรัฐบาลได้อย่างมีน้ำหนักยิ่งด้วย

ส่วนว่าเมื่อนำไปอภิปรายฯ แล้วจะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. วิธีการนำเสนอว่ามีศิลปะในการรวบรวม และเรียบเรียงประเด็นให้ผู้ฟังคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน

2. ผู้อภิปรายมีบุคลิกภาพ และคุณธรรมเป็นที่น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำรัฐบาลว่าใครน่าเชื่อถือมากน้อยกว่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น