...+

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

มข.ตั้งโต๊ะเสวนา "พิบัติภัยสึนามิ" บทเรียนที่คนอีสานควรรู้

นัก วิชาการ มข.ให้ความรู้ประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถล่มญี่ปุ่น ครั้งรุนแรง ในรอบ 140 ปี พร้อมเตรียมจัดเวทีสาธารณะ “ธรณีพิโรธ : พิบัติภัยสึนามิ - กัมมันตภาพรังสี บทเรียนที่คนอีสานควรรู้”

จากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว ความรุนแรง 9 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิ ที่มีความสูง 4-15 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่งตลอดแนวของประเทศญี่ปุ่น ด้านมหาสมุทรแปซิฟิคตั้งแต่บนเกาะฮอกไกโด ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชูมาจนถึงจังหวัดวาคายามา ทางตอนกลางของประเทศและมายังเมืองเซนได และเมืองมินามิซันริกในจังหวัดมิยางิ ของประเทศญี่ปุ่น กวาดต้อนเอาบ้านเรือน ร้านค้า รถยนต์ เรือ กลืนเข้าไปอยู่ในคลื่นน้ำขนาดใหญ่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนสูญหายเรือนหมื่น นอกจากนี้ยังเกิดเพลิงไหม้ในหลายแห่ง และเกิดอาฟเตอร์ช็อคไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ความรุนแรงไม่ต่ำกว่า 6 ริคเตอร์ นับเป็นความรุนแรงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติในรอบ 140 ปีของญี่ปุ่น

จากสถานการณ์ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ ประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นของประชาชนในประเทศ ญี่ปุ่น จึงได้จัดส่งนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ ออกประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ พร้อมเตรียมจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “ธรณีพิโรธ : พิบัติภัยสึนามิ - กัมมันตภาพรังสี บทเรียนที่คนอีสานควรรู้ โดย มี รศ. ดร. รวี หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศิริธร บุราณุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมให้ความรู้

รศ. ดร. รวี หาญเผชิญ
รศ. ดร. รวี หาญเผชิญ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนใน ภูมิภาค เป็นเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอันส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ใกล้เคียงหลายประเทศ และยังมีผลกระทบที่ตามมาทางด้านเศรษฐกิจหลายประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เวทีสาธารณะครั้งนี้ จึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในภาคอีสาน ได้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงในด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบต่อมนุษย์ มาร่วมแลกเปลี่ยนเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย เรื่อง “แผ่นดินไหว วงแหวนแห่งไฟ ภัยที่คนอีสานควรรู้” โดย ผศ.พัชร์สุ วรรณขาว ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มข. เรื่อง “ความปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์” โดย ผศ.ดร.บำรุง สมสวัสดิ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มข. เรื่อง มหันตภัย กัมมันตภาพรังสี ผลกระทบต่อคน และสังคม” โดย ผศ.พญ.กฤษณาร้อยศรี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข. และ เรื่อง “ธรณีพิโรธ พิบัติภัยสึนามิ บทเรียนที่คนอีสานควรรู้” โดย ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานมูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมและป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC)”


ศิริธร บุราณุรักษ์
ด้าน ศิริธร บุราณุรักษ์ กล่าวถึงภัยพิบัติสึนามิ-กัมมันตภาพรังสี ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยว่า การระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น จนเกิดการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตภาพรังสีในบริเวณกว้าง ในส่วนของประเทศไทย ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก แต่ขอให้ตั้งสติเตรียมพร้อมในการป้องกันตนเองเพราะการพัดพาของสารกัมมันตภาพ รังสีนั้นขึ้นอยู่กับทิศทางของกระแสลม

“ขณะนี้ประเทศไทยได้มีหน่วย งานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งในส่วนของจังหวัดขอนแก่นเอง ก็มีหน่วยงานเฝ้าระวัง การตรวจวัดสารกัมมันตภาพรังสี ในสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง นั้นก็คือ สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี โดยความร่วมมือของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สำนักสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการตรวจหาสารกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่องและที่ ผ่านมาก็ยังอยู่ในระดับปกติ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น