...+

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

สหรัฐฯ แทรกแซงปัญหาภายในลิเบีย จะมีผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ โดย ว.ร.ฤทธาคนี

แม้นว่าพันเอกกัดดาฟี จะเป็นอันธพาลจอมเกเรที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดดิสโกเธคกลางกรุงเบอร์ลิน มีคนตายนับสิบ และการระเบิดเครื่องบินโดยสารสายการบินแพนแอม อเมริกัน เที่ยวบินที่ 103 ซากเครื่องบินกระจายทั่วเมืองล็อกเคอร์บีในสกอตแลนด์ และทั้งสองรายการที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1986 และอะไรๆ อีกมากที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายจึงถูกลงโทษ โดยอดีตประธานาธิบดีเรแกนแห่งสหรัฐฯ โดยความเห็นชอบของท่านผู้หญิงมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อนุญาตให้ฝูงบินโจมตี F-111 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บินออกจากฐานทัพในอังกฤษถล่มเพื่อสังหารพันเอกกัดดาฟี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นิยมใช้กันในการสงครามเรียกว่า ยุทธการเด็ดหัว หรือ Decapitation และแผนการโจมตีล้มเหลวไม่สามารถสังหารพันเอกกัดดาฟีสำเร็จ แถมยังมีลูกระเบิดหลงพลาดไปโดนสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์นั้นไทยงดออกเสียงสนับสนุนสหรัฐฯ ในเวทีสหประชาชาติ หลังจากการโจมตีโดยพลการ

พันเอกกัดดาฟีหรือหมาบ้าทะเลทรายเคยให้การสนับสนุนขบวนการแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่เมื่อคุณหญิงแสงดาว สยามวาลา ผู้นำสตรีมุสลิมแห่งชาติ ได้เข้าพบพันเอกกัดดาฟี และอธิบายถึงสถานภาพของชาวไทยมุสลิม ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พันเอกกัดดาฟี จึงยุติการสนับสุนขบวนการแยกดินแดนซึ่งเป็นการแทรกแซงการเมืองและสังคมไทย

ในการนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสถึงคุณหญิงแสงดาวเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ว่า “ท่านเป็นคนกล้า และเป็นคนที่รักชาติ พยายามอย่างยิ่งที่จะเตือนทุกคนให้ทุกคนทราบว่า ประเทศนี้แต่ไหนแต่ไรมา การเลือกนับถือศาสนาทุกคนมีอิสระเสรีที่จะเลือกนับถือศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจของตนอย่างเต็มที่ เป็นการยืนยันให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกเชื้อชาติศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข”

พันเอกกัดดาฟีเดิมเป็นเด็กในอาณัติของอังกฤษเจ้าอาณานิคมลิเบียมาก่อน พันเอกกัดดาฟีเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ และอังกฤษคาดหวังว่าจะเป็นเด็กในโอวาท แต่อังกฤษคิดผิดเพราะไม่สามารถที่จะควบคุมกัดดาฟีได้ โดยที่อังกฤษเห็นแววต่อต้านอังกฤษตั้งแต่กรณีอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล รวมหัวกันบุกยึดครองสุเอซจากอียิปต์ในปี ค.ศ. 1956 กัดดาฟีปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับอังกฤษในครั้งนั้น ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ต่อต้านการบุกยึดครองสุเอซด้วยกำลังทหารของอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลด้วย เกรงว่าอียิปต์จะเอาใจไปอยู่ค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียต แต่ก็เป็นไปตามนั้น เพราะอดีตประธานาธิบดีนัสเซอร์รับการช่วยเหลือจากโซเวียตจนเป็นชาติที่มีกำลังรบแข่งแกร่งคุกคามอิสราเอล

ลิเบียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของตะวันออกกลาง ตามนัยสำคัญ 2 ประการคือ ประการที่ 1 เป็นเมืองท่าสำคัญทางยุทธศาสตร์นาวี และยุทธศาสตร์พาณิชย์นาวีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และประการที่ 2 เป็นประเทศผลิตน้ำมันในสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของน้ำมันโลก

พันเอกกัดดาฟีก็เหมือนกับนักการเมืองผู้แสวงอำนาจทั่วไป ที่ปลุกระดมประชากรด้วยเชื้อชาติ ศาสนา และเสรีประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อเข้าไปมีอำนาจก็จะใช้หลักประชานิยมเป็นกลไกสร้างเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีอำนาจถาวร และลดโอกาสคู่แข่งทางการเมืองด้วยยุทธวิธีเถื่อนฆ่าทิ้งหรือกลไกทางกฎหมายทำลายล้าง

ลักษณะเช่นนี้เป็นหลักพื้นฐานที่นักการเมืองที่มากด้วยกิเลสมักยึดถือเป็นสูตรสำเร็จในการรักษาอำนาจของตน ซึ่งคนไทยเองก็ได้สัมผัสมาแล้วในยุคเผด็จการทหารจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เงื่อนไขในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้นง่ายกว่าที่ใช้ต่อต้านลัทธิอาณานิคมครอบงำของตะวันตกและความขัดแย้งของศาสนาที่มีอดีตอันขมขื่นหลายร้อยปีมาแล้วเป็นกุญแจในการสร้างฐานมวลชนสนับสนุน

ในประเทศไทยใช้เงื่อนไข “ประชาชนนิยมยุทธศาสตร์เอื้ออาทร” จนประชาชนถูกมอมเมาด้วยทุนนิยมสามานย์ให้รอแต่เงินที่รัฐบาลมอบให้โดยไม่ต้องลงทุน ซึ่งมิใช่รัฐสวัสดิการที่เกิดความเสมอภาค และเกื้อกูลในเชิงสร้างสรรค์ในการดำรงชีพ แต่กฎหมายเกื้อกูลให้นักธุรกิจการเมืองสามารถแสวงประโยชน์จากกฎหมายลงทุน เช่น การซื้อขายหุ้น เช่น กรณีที่ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป เป็นเงินนับแสนล้านบาท แต่ไม่ต้องเสียภาษีเพราะมีกฎหมายเอื้อประโยชน์

พันเอกกัดดาฟีก็เป็นเผด็จการในร่างประชาธิปไตย เพราะได้อำนาจจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1969 และค่อยๆ เปลี่ยนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สหประชาชาติเขียนให้ก่อนที่จะให้เอกราชในปี ค.ศ. 1952 จนสามารถครองอำนาจแบบถาวร และยังมีการถ่ายทอดอำนาจเหมือนกันกับผู้นำหลายประเทศ รวมทั้งผู้นำกัมพูชาด้วยที่ต้องการให้ลูกชายก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มประเทศอาหรับตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบียที่ผู้นำใช้พลังประชาชนสร้างอำนาจรัฐถาวร แต่ก็มีผู้คนกลุ่มหนึ่งเบื่อหน่ายต่อการปกครองแบบถาวรและหมดโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศบ้างจึงออกมาต่อต้าน จึงถูกปราบปรามเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเส้นแบ่งเขตระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตย การรักษาความสงบเรียบร้อยและการสร้างเสถียรภาพรัฐล่อแหลมต่อการใช้อำนาจรัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงที่ต้องการสลายพลังผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ อันเป็นภาพไม่น่าดูหรือดูแล้วมีความทารุณ แต่ตามหลักของเซอร์ไอแซค นิวตัน คือ Action เท่ากับ Reaction โดยกฎนี้เองมักจะเกิดความสมดุลตามมา เพราะจะไม่มีอำนาจอะไรยั่งยืน โดยเฉพาะเผด็จการที่ในที่สุดก็ถูกโค่นล้มไปเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว สหรัฐฯ และกลุ่มชาติตะวันตกก็ไม่ควรแทรกแซง เพราะเป็นการสร้างทฤษฎีครองโลกยุคใหม่ที่กลุ่มชาติมหาอำนาจตะวันตกใช้สหประชาชาติเป็นเครื่องมือ และถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในจีนเหมือนกรณีเหตุการณ์เทียนอันเหมินที่เติงเสี่ยวผิง สั่งสลายฝูงชนทำให้คนตายกว่า 3,000 คน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตกจะร่วมมือรุมโจมตีจีน ซึ่งเชื่อว่าจีนต้องตอบโต้รุนแรงกว่าลิเบียเป็นร้อยเท่า แล้วไทยเราจะเข้าข้างใคร

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ว่า การแทรกแซงของชาติมหาอำนาจเป็นการประกาศศักดาถึงขอบเขตอำนาจทางทหารที่จะแทรกแซงได้ทุกเรื่อง และการนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลหรือสหรัฐฯ และกลุ่มชาติตะวันตกมีความต้องการที่จะครอบครองแหล่งน้ำมันอีกแหล่งหนึ่ง การแทรกแซงของชาติตะวันตกย่อมสร้างอำนาจต่อรองให้หลายประเทศที่อาจยอมลงทุนขายผลประโยชน์ของชาติให้กับชาติตะวันตกก็เป็นได้แม้กระทั่งกรณีไทยกับกัมพูชา ที่ผบ.ทบ ไม่ยอมให้อินโดนีเซียเข้าแทรกแซงแม้กระทั่งเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ เราอาจจะต้องถูกชาติตะวันตกบังคับเอาก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น