...+

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทางเดินถึงความสิ้นทุกข์ พระธรรมเทศนาโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปฺนโน)

ทางเดินถึงความสิ้นทุกข์



เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗

การตั้งข้อสังเกตจิตในเวลาฟังเทศน์หรือเวลานั่งภาวนา
เราไม่ต้องกดขี่บังคับจิตจนเกินไป เป็นเพียงทำความรู้ไว้เฉพาะหน้าเท่านั้น
ท่านผู้กำลังเริ่มฝึกหัดโปรดจดจำวิธีไว้ แล้วนำไปปฏิบัติ ส่วนจะปรากฏผลอย่างไรนั้น
โปรดอย่าคาดคะเนและถือเป็นอารมณ์ในผลของสมาธิที่เคยปรากฏมาในคราวล่วงแล้ว
ขอให้ตั้งหลักปัจจุบัน คือระหว่างจิตกับอารมณ์มีลมหายใจ เป็นต้น ที่กำลังพิจารณาอยู่ให้มั่นคง
จะเป็นเครื่องหนุนให้เกิดความสงบเยือกเย็นขึ้นมาในเวลานั้น
เมื่อปรากฏผลชนิดใดขึ้นมา จะเป็นความสงบนิ่งและเย็นสบายใจก็ดี จะเป็นนิมิตเรื่องต่างๆ ก็ดี
ในขณะนั่งฟังเทศน์ หรือขณะนั่งภาวนาก็ตาม เวลาจะทำสมาธิภาวนาในคราวต่อไป
โปรดอย่าถืออารมณ์ที่ล่วงแล้วเหล่านี้เข้ามาเป็นอารมณ์ของใจในขณะนั้น
จิตจะไปทำความรู้สึกกับอารมณ์อดีต โดยลืมหลักปัจจุบันซึ่งเป็นที่รับรองผล
แล้วจะไม่ปรากฏผลอะไรขึ้นมา

โปรดทำความเข้าใจว่า เราทำครั้งแรกซึ่งยังไม่เคยมีความสงบมาก่อนเลย
ทำไมจึงปรากฏขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะการตั้งหลักปัจจุบันจิตไว้โดยถูกต้อง
สิ่งที่จะถือเอาเป็นแบบฉบับจากอดีตที่เคยได้รับผลมาแล้วนั้น คือหลักเหตุ
ได้แก่วิธีตั้งจิตกับอารมณ์แห่งธรรมตามแต่จริตชอบ
ตั้งจิตไว้กับอารมณ์แห่งธรรมบทใดและปฏิบัติต่อกันอย่างไรในเวลานั้น
จึงปรากฏผลเป็นความสงบสุขขึ้นมา โปรดยึดเอาหลักการนี้มาปฏิบัติในคราวต่อไป
แต่อย่าไปยึดผลที่ปรากฏขึ้นและล่วงไปแล้ว
จะไม่มีผลอะไรในเวลานั้น นอกจากจะทำให้จิตเขวไปเท่านั้น
โดยมากที่จิตได้รับความสงบในวันนี้ แต่วันต่อไปไม่สงบ
ทั้งนี้เพราะจิตไปยึดเอาสัญญาอดีตที่ผ่านไปแล้วมาเป็นอารมณ์ในเวลาทำสมาธินั้น
ถ้าเรายึดเอาเพียงวิธีการมาปฏิบัติ ผลจะปรากฏขึ้นเช่นที่เคยเป็นมาแล้วหนึ่ง
จะแปลกประหลาดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแล้วเป็นลำดับหนึ่ง

ส่วนมากผู้บำเพ็ญทางด้านจิตใจที่เคยได้รับความสงบเย็นใจมาแล้ว
แต่ขาดการรักษาระดับที่เคยเป็นมาแล้ว ทั้งความเพียรด้อยลง
เพราะได้รับความเย็นใจแล้วประมาทนอนใจ จิตก็มีความเสื่อมลงได้
เมื่อจิตเสื่อมลงไปแล้วพยายามหาทางปรับปรุงจิตให้ขึ้นสู่ระดับเดิม
แต่ไม่สามารถจะยกขึ้นสู่ระดับเดิมได้
ทั้งนี้เพราะจิตไปยึดเอาสัญญาอดีตที่เคยเจริญและผ่านมาแล้วมาเป็นอารมณ์
จึงเป็นการกีดขวางหลักปัจจุบันให้ตั้งลงเต็มที่ไม่ได้ขณะที่นั่งทำความเพียร
ฉะนั้น ผู้จะพยายามทำใจให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ จึงควรระวังสัญญาอดีต
อย่าให้เข้ามารบกวนใจในเวลาเช่นนั้น ให้มีแต่หลักปัจจุบันดังที่กล่าวมาแล้วล้วน ๆ
แม้ผู้มีจิตเสื่อมลงจากสมาธิชั้นใดก็ตาม ถ้านำวิธีนี้ไปใช้
จะสามารถรื้อฟื้นสมาธิที่เสื่อมไปแล้วคืนมาได้โดยไม่ต้องสงสัย

อารมณ์เช่นที่ว่ามานี้ต้องปล่อยวางทั้งสิ้นในขณะบำเพ็ญภาวนา โดยถือหลักปัจจุบันเป็นหลักใจ
เราชอบธรรมบทใดน้อมมากำกับใจ ทำความรู้ไว้กับธรรมบทนั้นให้มั่นคง
ไม่ต้องไปคาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิภาวนาจะมีลักษณะเช่นไรบ้าง
เหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นจากการภาวนาจะเป็นเหตุการณ์อะไรบ้าง
และเกี่ยวกับเรื่องความได้เสียอะไรบ้าง เหล่านี้เราไม่ต้องไปสนใจและคาดคะเน
โปรดทำความมั่นใจในหลักปัจจุบันเป็นสำคัญ ไม่ว่าจิตของนักบวชไม่ว่าจิตของฆราวาส
และไม่ว่าจิตของผู้หญิง ผู้ชาย เพราะเป็นธรรมชาติที่มุ่งต่อความรู้สึกในสิ่งต่างๆ อยู่ด้วยกัน
เมื่อได้รับการอบรมถูกทาง ต้องหายพยศและหยั่งลงสู่ความสงบสุขได้เช่นเดียวกัน
ทั้งหญิง ชาย นักบวช ฆราวาส ทั้งจะเป็นจิตที่มีหลักฐานมั่นคงไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน

นับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เวลาพระอุปัชฌาย์จะบวชพระบวชเณร
ท่านต้องให้กรรมฐานห้า คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
เรียกว่า ตจปัญจกกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า เพื่อเป็นหลักใจของนักบวชนั้นๆ
ในเวลาบำเพ็ญเพียรทุกประโยค จิตจะได้อาศัยอยู่กับอาการทั้งห้านี้
อาการใดอาการหนึ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของตน
โดยพิจารณาเข้าข้างในและพิจารณาออกข้างนอก ให้ความรู้ได้อยู่กับอาการเหล่านี้เป็นประจำ
ความรู้อาจจะซึมซาบไปสู่อาการอื่นๆ ทั่วร่างกายและทราบได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีลักษณะเช่นไรบ้าง
หลักความจริงที่มีประจำร่างกายนี้ แม้ท่านจะระบุไว้เพียงห้าอย่างเท่านั้นก็ตาม
สิ่งที่ไม่ระบุไว้นอกนั้นจิตจะรู้ซาบซึ้งไปโดยตลอด ไม่มีส่วนใดลี้ลับ
เมื่อจิตไปอาศัยและมีสติอยู่กับอาการใด
ย่อมจะรู้และทำความเข้าใจตนเองกับอาการเหล่านั้นได้โดยถูกต้อง
และซึมซาบไปตามอาการต่างๆ บางครั้งก็ปรากฏเห็นอาการของกาย เช่นเดียวกับเห็นด้วยตาเนื้อ
และจิตก็มีความสนใจใคร่จะรู้ความจริงของร่างกายมากขึ้น
นี้เรียกว่าจิตอยู่ในปัจจุบันกายและปัจจุบันจิต ที่เนื่องมาจากการเห็นกาย
และมีความสนใจจดจ่อกับอาการที่เห็นนั้น ความรู้ก็ซึมซาบไปทุกแห่งทุกหน
เบื้องบน เบื้องล่าง ในส่วนร่างกาย จนเกิดความสลดสังเวชต่อร่างกายของตน
ว่ามีสิ่งบางๆ สิ่งเดียวเท่านั้น ไม่หนาเท่าใบลานเลย ปกปิดหุ้มห่อไว้
จนทำความลุ่มหลงแก่ตนเอง นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยสิ่งไม่พึงปรารถนา

แต่เพราะสติปัญญามองข้ามไปเสีย จึงเห็นสภาพเหล่านี้กลายเป็นตน เป็นตัว เป็นสัตว์
เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นหญิง เป็นชายขึ้นมา
แล้วกลายเป็นจุดที่ยึดหมายของอุปาทานในขันธ์ขึ้นมาอย่างเต็มที่

ตามธรรมดาของจิตถ้าได้ปักปันมั่นหมายลงในที่ใด
ย่อมฝังลึกจนตัวเองก็ไม่ยอมถอนและถอนไม่ขึ้น ขอยกรูปเปรียบเทียบ
เช่น มีผู้ไปปักปันเขตแดนลงในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยถือว่าเป็นของตนขึ้นมา
แม้ที่นั้นจะยังไม่มีสมบัติ สิ่งเพาะปลูกชนิดต่างๆ มีเพียงที่ดินว่างๆ อยู่เท่านั้นก็ตาม
เกิดมีผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาล่วงล้ำเขตแดนนั้นเข้า อย่างน้อยก็ต่อว่าต่อขานกัน
มากกว่านั้นก็เป็นถ้อยเป็นความ หรือฆ่าฟันรันแทงกันจนเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นโรงขึ้นศาล
เกิดความเสียหายป่นปี้ ไม่มีชิ้นดีเลย เพราะที่ว่างๆ มีราคานิดเดียว
ยังยอมเอาตัวซึ่งเป็นของมีคุณค่ามากไปพนันขันตายแทนได้
ลักษณะของอุปาทานในขันธ์ก็มีนัยเช่นเดียวกัน
เขตแดนประเภทนี้ต้องอาศัยการไตร่ตรองพิจารณาโดยทางปัญญาซ้ำๆ ซากๆ
และถือเป็นงานประจำของผู้จะรื้อถอนเชื้อวัฏฏะออกจากใจ
เหมือนเขานวดดินเหนียวเพื่อทำภาชนะต่างๆ ต้องถือเป็นงานใหญ่ และจำเป็นจริงๆ
ไม่เช่นนั้นสิ่งที่สำเร็จรูปออกมาจะไม่มีคุณภาพ ความสวยงาม และความแน่นหนามั่นคงพอ
เราจะไปที่ใด อยู่ที่ใด ในอิริยาบถความเคลื่อนไหวให้เป็นเรื่องของสติปัญญาทำงานในขันธ์

ของจริงกับของจริงต้องเจอกันวันหนึ่งแน่นอน คือ ขันธ์ก็ทรงความจริงไว้ตามธรรมชาติของตน
สติปัญญา ความพากเพียรก็เพียรเพื่อรู้เห็นของจริงที่มีอยู่ภายในขันธ์ในจิต
ธรรมของจริงอันเป็นส่วนผลเป็นขั้นๆ ก็มีอยู่ในขันธ์และในจิต
ของจริงทั้งสาม คือ ขันธ์ ความเพียร ธรรมอันเป็นผล
ต้องเจอกันและรวมลงในธรรมแห่งเดียวได้ในวันหนึ่งข้างหน้า
ขออย่างเดียวคืออย่าเห็นความเพียรเป็นข้าศึกแก่ตนเอง จะหาทางเล็ดลอดไปไม่ได้
ถ้าเห็นความเพียรเป็นคู่มิตรผู้ร่วมคิดช่วยปราบศัตรูแล้ว
อย่างไรต้องมีหวังผ่านพ้นจากอุปสรรคนานาชนิดไปได้โดยแน่นอน
ขันธ์เป็นหลักธงชัยอันสำหรับผู้ต้องการผ่านพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้น กรรมฐานห้าที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ จึงเป็นหลักใหญ่อันสำคัญในส่วนแห่งกาย
ถ้าจะพูดถึงอริยสัจ ก็มีอยู่ที่กายนี้ คือทุกข์ เกิดขึ้นที่กาย สมุทัยก็หมายถึงความถือกาย
มรรค แม้จะมีอยู่ในที่แห่งเดียวกันก็หาทางเดินไม่ได้
เพราะร่างกายท่อนนี้เกลื่อนไปด้วยเรื่องสมุทัยเที่ยวปักปันเขตเอาไว้
ดังนั้น อุบายทั้งห้า คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันเป็นส่วนใหญ่ที่ท่านมอบให้แก่นักบวช
จึงเป็นเหมือนให้อาวุธเข้าถากถางเพื่อถอดถอนอุปาทานที่ฝังเกลื่อนอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ให้หมดสิ้นไปเป็นลำดับ เริ่มแต่การพิจารณาชั้นต้นจนถึงขั้นความชำนาญ
และสามารถรู้เท่าทันส่วนร่างกาย ทั้งภายนอก ภายใน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างโดยทั่วถึง

ถ้าจะแยกกายนี้ออกเป็นประเภทของทุกข์
ทุกอาการของกายจะวิ่งลงสู่สายทุกข์ตามกันหมด ไม่มีชิ้นใดฝืนตัวอยู่ได้
เพื่อความประจักษ์ใจและแน่นอนกับทุกข์ในกาย
ลองเอาปลายเข็มจรดลงด้านใดด้านหนึ่งของกายสักนิดหนึ่ง
จะทราบทันทีว่าทุกข์มีอยู่ทุกขุมขนทั่วร่างกายของบุคคลและสัตว์ผู้หนึ่งๆ
ดังนั้น ผู้ใช้สติปัญญาตรวจตรองอยู่กับขันธ์
ย่อมมีทางทราบเรื่องของตัวและทุกข์ที่อยู่ในขันธ์นี้ทั้งขันธ์โดยลำดับ
เพราะทุกข์ทั้งมวลไม่นอกไปจากขันธ์นี้เลย
แม้คำว่าอริยสัจซึ่งถือว่าเป็นธรรมลึกซึ้ง จึงไม่เลยความรู้สึกของผู้รับสัมผัสไปได้
ต้องอยู่ในวงความรู้สึกของเราด้วยกัน จะสูงก็ไม่เลยกายกับใจนี้ไปได้
สมุทัยก็ไม่ลึกเลยความรู้อันนี้ เพราะความรู้สึกเป็นฐานที่เกิดของสมุทัย

สมุทัยไม่มีที่อื่นเป็นแดนเกิดนอกจากใจดวงนี้เท่านั้น
การพิจารณาทางปัญญาไปตามส่วนต่างๆ ของขันธ์
จึงเป็นอุบายจะรื้อถอนอุปาทานคือตัวสมุทัยนั้นขึ้นมา เพื่อให้ธรรมชาติเหล่านั้นได้อยู่เป็นปกติ
ไม่ถูกกดบังคับจับจองจากใจ เพื่อใจได้อยู่เป็นสุข ไม่ต้องกังวลกับสิ่งใด
เป็นเราเป็นของเรา คือต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่ ที่เรียกว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ
รู้เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาจริง ๆ ไม่เพียงจำได้และพูดออกมาด้วยสัญญา
ยังสามารถถอดถอนหนามจากอุปาทานของขันธ์ที่ทิ่มแทงใจได้อีก
สมุทัยที่ทำงานเกี่ยวกับกายก็ถอนตัวออกไป ส่วนสมุทัยที่เกี่ยวกับใจโดยเฉพาะ
ก็เป็นวิสัยของสติปัญญาจะตามสอดรู้และทำลายเช่นเดียวกัน
เพราะทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้งหยาบและละเอียดเกิดขึ้นจากใจอันเดียวกัน
ฉะนั้น ทุกข์ สมุทัย จึงไม่มีเกาะใดจะเป็นที่ออกตัว ว่าได้ผ่านพ้นสายตาของสติปัญญาไปได้
และไม่สูงต่ำไปที่ไหนนอกจากใจดวงนี้

ที่ไม่อาจมองเห็นความจริงอันตั้งปรากฏชัดอยู่ยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก
เนื่องจากการมองข้ามกายข้ามใจดวงนี้ไปเสียเท่านั้น
จึงไม่ทราบว่าอริยสัจอันแท้จริงอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร
เราเคยทราบมาจนชินหูว่าพระพุทธเจ้าและสาวกตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ท่านตรัสรู้อะไร
นอกจากจะรู้แจ้งทุกข์ สมุทัย ที่ได้ยินแต่เสียงและรู้อยู่ด้วยใจ
ทุกเวลาที่เขาแสดงตัวอยู่ในห้องมืดอย่างเปิดเผย ไม่เกรงขามต่อผู้ใด
โดยการเปิดม่านออกดูด้วยมรรค คือสติ กับ ปัญญา นิโรธก็แสดงตัวออกมา
ในขณะม่านเครื่องกั้นห้องของสมุทัยได้ถูกเปิดขึ้น เป็นความดับสนิทแห่งทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น
ธรรมของจริงซึ่งควรจะรู้ภายในใจจะเป็นอื่นมาแต่ที่ไหน
ก็ต้องเป็นของจริงอยู่กับใจ และรู้ขึ้นที่ใจ พ้นทุกข์ที่ใจ
เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกเท่านั้นแล ถ้าทำถูกตามแบบท่าน

ฉะนั้น คำว่า มัชฌิมา ในครั้งนั้นกับครั้งนี้จึงเป็นอริยสัจอันเดียวกัน
และตั้งอยู่ท่ามกลางแห่งขันธ์ของท่านกับของเราเช่นเดียวกัน
ไม่เคยย้ายตำแหน่งหน้าที่ไปทำงานที่ไหน
คงเป็นธรรมของจริงอยู่ประจำขันธ์และประจำจิตตลอดมา
จึงควรจะกล่าวได้ว่าอริยสัจให้ความเสมอภาคทั่วหน้ากัน
นอกจากเรายังไม่ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเท่าที่ควรแก่เพศและฐานะเท่านั้น
อริยสัจจึงไม่มีช่องทางจะอำนวยประโยชน์ให้สมกับว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ
อนึ่ง ความไม่สงบก็คือเรา ผู้พยายามทำเพื่อความสงบโดยวิธีดัดแปลงต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของเราเอง
แต่เหตุใดจึงจะเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ อย่างไรใจจะหนีจากความพยายามไม่ได้แน่นอน
ต้องหยั่งลงสู่ความสงบได้ ก็ความสงบของใจมีหลายขั้น สงบลงไปชั่วขณะแล้วถอนขึ้นมา
นี่ก็เรียกว่า ความสงบ ความสงบที่รวมจุดลงแล้วถอยออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่างๆ
เป็นเรื่องภายนอกบ้าง ภายในของตัวออกแสดงบ้าง แต่ตัวเองไม่รู้
เพราะขั้นเริ่มแรกสติไม่ทัน นี้ก็เรียกความสงบประเภทหนึ่ง
แต่ความสงบอย่างสนิทท่านเรียกว่า อัปปนาสมาธิ
แม้จะถอนออกจากสมาธิมาทรงตัวเป็นจิตธรรมดา ก็มีความสงบประจำ
ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับอารมณ์ต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยความสงบสุข มีความเยือกเย็น
สบายเป็นประจำ จะคิดอ่านการงานอะไรได้ตามความต้องการ
แต่ความสงบของสมาธิที่เป็นภาคพื้นอยู่แล้ว ย่อมทรงตัวอยู่เป็นปกติ
ขณะที่รวมสงบเข้าไปก็ปล่อยวางกิริยาความคิดปรุงต่างๆ เสีย
อยู่เป็นเอกจิตหรือเอกัคคตา เท่านั้น
ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และรวมได้เป็นเวลานานๆ ตามต้องการ

ปัญญาก็มีเป็นขั้น ๆ เหมือนกับสมาธิที่เป็นขณิกะ อุปจาระ และอัปปนาสมาธิ
ปัญญามีขั้นหยาบ ขั้นกลาง และขั้นละเอียด ซึ่งจะควรใช้ไปตามขั้นของสมาธิขั้นนั้นๆ
ปัญญาที่เริ่มฝึกหัดเบื้องต้นก็เป็นขั้นหยาบ อาศัยการฝึกหัดเสมอก็ค่อยมีกำลังขึ้นเป็นลำดับ
อาศัยการฝึกหัดมากเท่าไร ก็ย่อมมีความชำนาญคล่องแคล่วและรวดเร็วขึ้น
เช่นเดียวกับสมาธิที่ฝึกอบรมจนพอตัวแล้ว ต้องการจะให้จิตสงบลงสู่สมาธิเมื่อไรก็ได้ตามความต้องการ
ปัญญาก็จำต้องอาศัยการฝึกเช่นเดียวกัน มิใช่เพียงจิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง
และจิตเป็นสมาธิขั้นไหน จะกลายเป็นปัญญาขั้นนั้นๆ ขึ้นมาตามๆ กัน ต้องอาศัยการฝึกหัดเป็นสำคัญ

ถ้าปัญญาจะปรากฏตัวแฝงขึ้นมาตามสมาธิ โดยไม่ต้องอาศัยการฝึกหัดแล้ว
ผู้บำเพ็ญใจเป็นสมาธิแล้วจะไม่ติดอยู่ในสมาธิเลย
เพราะปัญญาก็มีแฝงขึ้นมาและมีหน้าที่ทำงานแก้ไขปลดเปลื้องกิเลส ช่วยสมาธิไปเช่นเดียวกัน
แต่การติดสมาธิรู้สึกจะมีดาษดื่น เพราะความเข้าใจว่าสมาธิก็เป็นตัวของตัวได้พออยู่แล้ว
ทางที่ถูกและราบรื่นในการปฏิบัติควรจะเป็นทำนองว่า สมาธิก็ให้ถือว่าเป็นสมาธิเสีย
ปัญญาก็ควรถือว่าเป็นปัญญาเสีย ในเวลาที่ควรจะเป็น
คือขณะที่จะทำเพื่อความสงบก็ให้เป็นความสงบจริงๆ
เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว
ควรฝึกหัดคิดอ่านไตร่ตรองธาตุขันธ์ อายตนะ และสภาวธรรมต่างๆ
แยกส่วนแบ่งส่วนของสิ่งเหล่านั้นออกดูให้ชัดเจนตามเป็นจริงของเขาด้วยปัญญา
จนมีความชำนาญเช่นเดียวกับสมาธิ ปัญญาก็จะรู้หน้าที่การงานของตนไปเอง
ไม่ใช่จะต้องถูกบังคับขู่เข็ญอยู่ตลอดเวลา และจะก้าวขึ้นสู่ระดับอันละเอียดเป็นขั้นๆ ไป
จนกลายเป็นมหาสติมหาปัญญาไปพร้อมๆ กัน
และกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ โดยไม่ต้องสั่งเสียบังคับ
ว่าให้พิจารณาสิ่งนั้น ให้ตรวจตราสิ่งนี้ ให้เห็นสิ่งนี้ ให้รู้สิ่งนี้
แต่สติกับปัญญาจะทำงานกลมเกลียวกันไปในหน้าที่ของตนเสมอกัน

สิ่งใดมาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติกับปัญญาจะรู้และแก้ไขสิ่งที่มาสัมผัสนั้นได้ทันท่วงที
แต่สติปัญญาขั้นนี้ทำงานเกี่ยวกับนามธรรมล้วนๆ ซึ่งเป็นส่วนละเอียด ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกายเลย
เพราะกายนี้เพียงสติปัญญาขั้นกลางก็สามารถพิจารณารู้และปล่อยวางได้
ส่วนนามธรรมซึ่งเป็นส่วนละเอียดและเกิดกับดับพร้อมอยู่จำเพาะใจ
เป็นหน้าที่ของสติปัญญาอันละเอียดจะทำการพิจารณา
เพราะสติปัญญาขั้นนี้มีความกระเพื่อมและหมุนตัวเองอยู่เสมอ
นอกจากเวลาเข้าอยู่ในสมาธิและเวลานอนหลับเท่านั้น
ทั้งไม่มีการบังคับ นอกจากจะทำการยับยั้งไว้เพื่อพักสงบตามโอกาสอันควรเท่านั้น
ไม่เช่นนั้นจะไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนตัวเองเลย
เพราะความเพลิดเพลินในการคิดอ่านไตร่ตรอง เพื่อการถอดถอนตัวเอง

ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมขั้นสูงว่า อุทธัจจะความฟุ้งของใจนั้น
ได้แก่ ความเพลินในการพิจารณาธรรมทั้งหลายที่สัมผัสใจจนเกินไป ไม่ตั้งอยู่ในความพอดีนั่นเอง
เมื่อจิตผ่านไปแล้วจึงจะย้อนกลับมารู้ว่า การที่จิตเพลินในธรรมจนเกินไป
แม้จะเป็นไปเพื่อถอดถอน ก็จัดเป็นทางผิดได้ทางหนึ่งเหมือนกัน
เพราะจิตไม่ได้พักผ่อนทางด้านความสงบ ซึ่งเป็นทางถูกและเป็นการเสริมกำลังปัญญา
เพียงการทำงานตลอดเวลาไม่มีการพักผ่อนหลับนอน
ก็ยังรู้สึกเหนื่อยและทอนกำลัง แม้จะเป็นไปเพื่อผลรายได้จากงานที่ทำ
ดังนั้น จิตแม้จะอยู่ในปัญญาขั้นไหนจำเป็นต้องพักสงบ
ถอนจากความสงบออกมาแล้วก็ทำงานต่อไปตามแต่อะไรจะมาสัมผัส
สติกับปัญญาต้องวิ่งออกรับช่วงและพิจารณาทันที
ที่ทำงานของจิตก็คือธรรมทั้งสี่ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีความเกี่ยวโยงกัน

ทั้งเป็นงานติดกับตัวซึ่งควรจะพิจารณาได้ทุกขณะที่เคลื่อนไหว
การเกิดและการดับของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันเป็นส่วนภายใน
เมื่อนำมาเทียบกับด้านวัตถุ คือกายแล้ว ก็คือการเกิด การตายของแต่ละสิ่งนั่นเอง
ที่ต่างกันอยู่บ้างก็เพียงไม่เห็นซากของสิ่งเหล่านี้ยังเหลืออยู่เหมือนซากแห่งร่างกายเท่านั้น
ฉะนั้น การสังเกตทบทวนดูเรื่องความเกิดดับของอาการทั้งสี่นี้โดยทางปัญญา
จึงเป็นเหมือนไปเยี่ยมคนตายในสงครามหรือเมรุเผาศพนั่นเอง ไม่มีอะไรผิดแปลกกัน
ทั้งขันธ์หยาบ (รูปขันธ์) ทั้งขันธ์ละเอียด (นามขันธ์) สงเคราะห์ลงในความพังพินาศเสมอกัน
ไม่มีใครมีอำนาจราชศักดิ์ไปยึดเอาขันธ์เหล่านี้
มาเป็นขันธ์เที่ยง ขันธ์เป็นสุข ขันธ์ไม่มีทุกข์ ขันธ์เป็นอัตตา คือนึกเอาตามใจหวังได้แม้แต่รายเดียว
ผู้พิจารณาหยั่งลงถึงไตรลักษณะ ด้วยไตรลักษณญาณจริงๆ แล้วก็มีอยู่ทางเดียว
คือต้องรีบออกไปให้พ้นจากป่าช้าแห่งความเกิดตายทุกประเภทเท่านั้น
ไม่ต้องมาเป็นกังวลซากศพของเขาของเรา ซึ่งเป็นสภาพที่น่าทุเรศเสมอกันทั้งสัตว์ทั้งคนอีกต่อไป

ฉะนั้น นักค้นคว้าทางด้านจิตใจ จึงควรคำนึงถึงฐานที่เกิดและดับของขันธ์ทั้งสองประเภทนี้
ด้วยปัญญาอันหลักแหลมว่า ขันธ์เหล่านี้เกิด-ดับ เกิด-ดับจากอะไร ฐานที่ตั้งของเขาคืออะไร
นอกจากจิตดวงงมงายซึ่งกำลังเป็นเขียงเช็ดเท้าและเป็นผู้ให้กำเนิดของเขาแล้ว
สมมุติเครื่องกังวลน้อยใหญ่ไม่มีทางเกิดได้
ก็จิตดวงงมงายนี้มีอะไรแทรกซึมเขา เขาจึงกลายเป็นจิตที่มีโรคเบียดเบียนเป็นประจำ
ไม่มีความแยบคายพอจะถอนตัวออกจากหล่มลึก คือความเกิดตายได้
ลองใช้จอบและดาบเพชร คือ สติปัญญาขุดค้นฟาดฟันดูดวงใจนั้นด้วยความเพียร
จะเห็นซากของอวิชชาทั้งเป็น เกาะกินอยู่ในจิตดวงนั้น
เมื่ออวิชชาถูกจอบและดาบเพชรขุดค้นฟาดฟันอย่างหั่นแหลก ก็แตกกระเด็นออกจากใจ
เสียงดังสะท้านหวั่นไหว ประหนึ่งแผ่นดินถล่มทั่วขอบเขตจักรวาล เสียงสะเทือนสะท้านทั่วทั้งไตรภพ

เสียงทั้งนี้ คือเสียงอวิชชาพังทลายลงจากแท่นบัลลังก์
องค์พุทธะที่บริสุทธิ์ผุดขึ้นแทนแท่นบัลลังก์ของอวิชชาที่สิ้นซากลงไป
เรื่องภพน้อยภพใหญ่ก็ทราบชัดในขณะนั้น ว่าเป็นไปจากธรรมชาติอันเดียวนี้พาให้เกิดให้ตาย
ถ้าเป็นไม้ก็คือรากแก้วของต้นไม้ ถ้าเป็นภพชาติก็รากแก้วของภพชาติ
คือ อวิชชาที่เชื่อมกันกับจิตอย่างสนิทมาเป็นเวลานาน
จนไม่สามารถจะทราบว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นอวิชชา จำต้องหลงแล้วหลงเล่า
จนกว่าสติปัญญามีความสามารถแกล้วกล้าถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว
จึงจะทราบรากฐานที่เกิดภพชาติได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งการทำลายด้วยมรรคญาณ
คือ ปัญญาขั้นละเอียด ภพชาติจึงสิ้นสุดลงจากดวงใจ
นั่นแล ที่ท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ
เป็นผู้เสร็จกิจในพระศาสนาโดยสมบูรณ์ ท่านจึงให้นามว่า วิมุตติ
สมมุตินั้นเราตั้งชื่อด้วย มีความติดใจในสิ่งนั้นด้วย เป็นอุปาทานในสมมุตินั้นด้วย
ส่วนวิมุตติตั้งขึ้นจากใจของท่านผู้บริสุทธิ์ จึงไม่มีความติดใจกับชื่อวิมุตติ
เพียงตั้งไว้เป็นคู่เคียงของสมมุติเท่านั้น

เมื่อใจได้ถึงขั้นนั้นแล้ว อริยสัจไปอยู่ที่ไหนเล่า ก็ขณะจิตยังลุ่มหลงอยู่ อริยสัจไปอยู่ที่ใด
เมื่อรู้แล้วอริยสัจก็จะอยู่ที่นั่นเอง จะถูกเปลี่ยนแปลงไปที่ไหนไม่ได้
เพราะสัจธรรมเป็นธรรมอันตายตัว ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแต่กาลไหนๆ มา
อริยสัจสี่เป็นเส้นทางเดินถึงความสิ้นทุกข์ทั้งมวล ไม่ใช่เป็นสิ่งจะแบกหามไปด้วย
ทุกข์ก็สิ้นไปจากใจ เพราะสมุทัยถูกถอนขึ้นด้วยมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
นิโรธก็แสดงเป็นความดับทุกข์ขึ้นในขณะเดียว แล้วก็สิ้นสุดลง
ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไปผู้นั้นเป็นธรรมพิเศษจากอริยสัจสี่อันหนึ่งต่างหาก
ควรเรียกว่า วิสุทธิธรรม เพราะหมดเรื่องเกี่ยวข้องโดยประการทั้งปวงแล้ว
ท่านนักใจบุญทุกท่านที่ได้ยินได้ฟังแล้ว โปรดฝังใจลงในธรรม ปฏิบัติให้ถูกตามทางของพระพุทธเจ้า
ผลเป็นที่พึงพอใจจะสนองตอบแทนความเหนื่อยยากจากการบำเพ็ญของเรา
โดยไม่ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช และฆราวาส
อย่าได้ประมาทวาสนาของตนที่สร้างมาแล้ว โปรดมีความภาคภูมิใจ
และพยายามบำเพ็ญต่อเติมวาสนาของเราให้มากมูนขึ้นไป
ใจจะถึงแดนแห่งความสมหวังในวันหนึ่งแน่นอน

ในอวสานแห่งการแสดงธรรม ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย
จงอภิบาลรักษาให้ทุกท่านมีความสุขกายสบายใจ
นึกสิ่งใดจงสมหวังดังความปรารถนาทุกประการเทอญ


sathu2 sathu2 sathu2

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คัดจาก “แว่นดวงใจ” รวมพระธรรมเทศนาโดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน9+++-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/99-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น