...+

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"รับผิดชอบต่อสังคม" วิสัยทัศน์หัวเรือใหญ่รั้วแม่โดม

อธิการบดี ป้ายแดง ม.ธรรมศาสตร์ แถลงวิสัยทัศน์ "มิติใหม่ของธรรมศาสตร์" สร้างวิชาศึกษาทั่วไปตัวใหม่ เน้นปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน เสริมสร้างการเรียนรู้ใกล้ชิดชุมชน พร้อมปรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาสมรรถนะทางการเรียนการสอน พร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันระดับอาเซียน

เหล่าผู้บริหารมธ. ร่วมแถลงวิสัยทัศน์มิติใหม่ธรรมศาสตร์


ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิ การบดีม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบสื่อมวลชน ถึงนโยบายการศึกษาในฐานะรับตำแหน่งเป็นอธิกการบดีคนล่าสุด ว่า ม.ธรรมศาสตร์มีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรก คือ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ธรรมศาสตร์จึงต้องเป็นผู้นำทางวิชาการของประเทศด้วย โดยการจะเป็นผู้นำทางวิชาการได้นั้นต้องมีงานวิชาการที่ดีๆ มีงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในต่างประเทศ รวมถึงมีอาจารย์จากต่างประเทศและนักศึกษาต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพ ในธรรมศาสตร์

"เรา ไม่ใช่โรงเรียนที่สอนจนนักเรียนจบไปแล้วไม่ผลิตสิ่งใหม่ให้สังคม แต่การเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริงนั้น ต้องผลิตใหม่ให้สังคม นั่นคืองานวิจัยต่างๆทั้งสายสังคมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติ เพราะงานวิจัยเป็นหัวใจของการพัฒนา มธ. เป็น1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยที่ถูกจัดอันดับให้ต้องทำงานวิจัยให้แก่ประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้เราพยายามทำเพื่อพัฒนาธรรมศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า เรื่องที่สอง คือ ม.ธรรมศาสตร์ ต้องทำหน้าที่เป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ตามปณิธานของอ.ปรีดี พนมยงค์ในครั้งอดีต กล่าวคือ ปัจจุบัน มธ. ห่างไกลจากคำนี้มากขึ้น เนื่องจากเด็กที่เข้ามาเรียนล้วนมีฐานะทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่มธ. ไม่อยากผลิตบัณฑิตที่จบไปแล้วสามารถสร้างฐานะตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องการบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรมและออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ ได้

"หลายๆ คนบอกว่า เด็กมธ.รวย อยู่ในสังคมสูงๆทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราคิดเยอะว่า ทำอย่างไรให้มธ. เป็นจุดสนใจในแง่ที่เป็นมหาวิทยาลัยของคนส่วนรวม ของประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของคนเฉพาะกลุ่ม เราไม่อยากผลิตบัณฑิตที่สร้างตนเองแล้วไปหากินร่ำรวยในสังคมเท่านั้น แต่อยากผลิตบัณฑิตที่ออกไปดูแลคนด้อยโอกาสในสังคม อยากให้มีจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ที่มีใจเสรี เราอยากสร้างให้ มธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างประชาธิปไตยและกล้าต่อสู่เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง และเราก็ประกาศตัวว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของคนด้อยโอกาสในสังคม เรารับนักศึกษาที่ยากจนและนักศึกษาพิการในเขตชนบทและเมืองมากที่สุดแห่ง หนึ่ง" ศ.ดร.สมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า มธ.ส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรม ซึ่งนักศึกษาทุกคนที่เข้ามาปีละ 5,000 คน ต้องถูกอบรมในความเป็นธรรมศาสตร์ และ มธ. เป็นมหาวิทยาลัยแถวหน้าที่ปรับปรุงวิชาพื้นฐานที่เรียกว่า "วิชาศึกษาทั่วไป" ให้มีการเรียนการสอนแบบใหม่ มีการบรรยายเพียงเล็กน้อย แต่เสริมการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเข้าไปให้มากขึ้น

"เรา คิดว่าการนั่งเรียนในห้องไม่พอสำหรับคนธรรมศาสตร์ เราพยายามทำให้นักศึกษาสัมผัสกับชีวิตที่แท้จริงของคนในประเทศไทยให้ได้ นอกจากวิชาพื้นฐานแล้ว พวกวิชาการทั้งหมดอย่างสายวิทยาศาสตร์ เราจะเอาปัญหาของคนไทยเป็นตัวตั้งไม่ใช่เรียนแค่ทฤษฎี และความตั้งใจว่าจะไม่ให้นักศึกษาห่างเหินกับสังคมไทย โดยสรุป คือ เราจะมุ่งพัฒนาไปทั้ง 2 ขา ขาที่หนึ่งคือ เน้นให้เป็นมหาวิทยาลัยวิชาการ วิจัย และอินเตอร์ชั้นนำของประเทศ และอีกขา เราจะทำให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่พึ่งของคนยากจน หรือคนด้อยโอกาส เราหวังอย่างยิ่งว่าคนธรรมศาสตร์ เมื่อจบแล้วจะไปเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่ไปที่ไหนก็เติบโตได้ที่นั่น เป็นผู้นำ และกล้าตัดสินใจ เป็นคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม" ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ด้านรศ.เกศินี วิฑูรชาติ รอง อธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง กล่าวถึงมธ. ในมิติใหม่ว่า มธ. ต้องการผลักดันให้นักศึกษาเกิดการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกระตุ้นให้เด็กได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การลงไปช่วยชาวบ้านวางระบบบัญชีสหกรณ์หมู่บ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือกับสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีจิตวิญญาณใส่ใจในเรื่องของความรับผิด ชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่ทำไปตามหน้าที่ แต่ต้องซึมซับเรื่องของกระบวนการความคิดต่างๆ ในการบริหารจัดการสำหรับส่วนรวมด้วย

"ได้ เสนอว่าปีการศึกษาใหม่นี้ มธ. จะเป็นปีแห่งการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม มีSocial Enterprise มากขึ้น เพราะการทำเพื่อสังคมนั้นก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มารับเงินบริจาคแล้วบริหารแค่นั้นก็จบ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้มันต่อเนื่องยืนยาว ก็คงจะให้มีการเรียนการสอนทางด้านนี้มากขึ้น ส่วน มธ.กับความเป็นนานาชาตินั้น เรามีMOU ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติหลายสถาบันทั่วโลก และตอนนี้เราต้องมาเตรียมความพร้อมผู้คนในประเทศเราให้สามารถแข่งขันใน ประชาคมอาเซียน เราจึงจะFocus ไปที่เอเชียและอาเซียนมากขึ้น" รศ.เกศินี กล่าว

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รอง อธิการบดีฝ่ายวิชาการ เสริมอีกว่า จะมีการปรับปรุงให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีมากขึ้น และควรเน้นหลักสูตรในสายสังคมศาสตร์ให้มากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันหลักสูตรสายวิทยาศาสตร์มีมากกว่า รวมทั้งปรับปรุงให้การเรียนการสอนแบบนานาชาติในสายสังคมศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนในสายนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยสรุป จะมีการปรับตัวด้านวิชาการให้มีหลักสูตรนานาชาติที่เพิ่มขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยวิชาการ มหาวิทยาลัยวิจัย และมหาวิทยาลัยอินเตอร์ชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของมธ.

"มธ.ปัจจุบัน นี้สอนหนังสือ 170 หลักสูตร แต่เป็นปริญญาตรีเพียง 70 หลักสูตร ที่เหลือเป็นหลักสูตรปริญญาโทและเอก ซึ่งเราน่าจะสอนหลักสูตรปริญญาตรีให้มากขึ้น และเนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่กับสังคม เปิดเทอมใหม่เดือนมิ.ย. นี้ เราจึงได้สร้างวิชาเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้น เพื่อเน้นให้นักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยจะต้องนึกถึงการสอนแบบเป็นทีม และการสร้างวิชานี้ก็เป็นเจตจำนงค์แน่วแน่ที่อยากให้นักศึกษาทำกิจกรรมโดย ไม่มีข้อยกเว้น" รศ.ดร.นครินทร์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น