...+

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความรักที่แท้จริง คือ อะไร โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

>> ท่าน ว. วชิรเมธี << ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ อาตมาต้องขอทบทวนความรักและพัฒนาการของความรักเสียก่อน คือถ้าเราเห็นพัฒนาการของความรัก เราก็จะตอบได้ว่า อะไรคือรักที่แท้ในทรรศนะพระพุทธศาสนา ความรักนั้นในทรรศนะของอาตมภาพจัดเป็น 4 ระดับด้วยกันคือ

1. รักตัวกลัวตาย : เป็น ความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และที่เรียกว่าสรรพชีพ สรรพสัตว์ทุกชนิด สรรพชีพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไปสรรพสัตว์ หมายถึง สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่าคน หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความรักขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตาย ความรักอย่างนี้ เป็นความรักอิงสัญชาติญาณการดำรงชีวิตรอด สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว แต่ยังไม่ใช่รักแท้ เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามจะเอาตัวรอด ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่นดังนั้นความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่รักที่แท้ ต้องพัฒนาต่อไป

2. รักใคร่ปรารถนา : เป็น ความรักในเชิงชู้สาว เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งคือสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความผูกพันกันในเชิงชู้สาว ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่ 1 คือ รักตัวกลัวตายนั่นเอง แต่ว่าประณีตขึ้น แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้น ดูเหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่นด้วยแต่แท้ที่จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง หากมองอย่างลึกซึ้ง รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง ฉะนั้นรักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ

3. รักเมตตาอารี : ความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด นามสกุล ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ ภาษาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆว่า เป็นความรักที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกันกับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน ความรักชนิดนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า ความรักอิงสายเลือดบ้าง ความรักอิงความเมตตาบ้าง เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ เพื่อนรักเพื่อน นายรักลูกน้อง มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์ สัตว์ด้วยกันรักสัตว์ คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน เช่นคนไทยรักคนไทยมากกว่าฝรั่ง ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย จีนก็จะรักจีนมากกว่าแขก นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง เพราะยังมีข้อจำกัดว่าเลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศสคณาญาติของตน แม้จะดูกว้างขวางแต่ก็ยังไปไม่พ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง

4. รักมีแต่ให้ : เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในหัวใจอย่างลึกซึ้ง แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของตนเอง จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่โลกทั้งผอง หัวใจไร้พรมแดน เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด มองคน มองสรรพชีพ มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้ เปิดเผย บริสุทธิ์ จริงใจ โดยไม่เรียกร้องการตอบแทน เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้ที่ชโลมผืนโลก ให้ความชุ่มชื่นเย็น งดงาม และไม่ต้องการให้ใครมองเห็นคุโณปการของตัวเอง เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอม แล้วร่วงโรยไปตามวันเวลาอย่างสงบเงียบ ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฎอะไร

เช่นเดียวกับพระอรหันต์ อริยชนทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบัน บุคคลขึ้นไป ก็ทำงานเพราะมีความรักที่แท้เป็นแรงผลักดัน ทำงานก็เพราะว่างานนั้นเป็นสิ่งที่วิถีชีวิตของท่านควรทำไม่มีแรงจูงใจใน ลักษณะเกิดจากลาภสักการะ หรือผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น เหมือนเราทุกคนเกิดมาแล้วหายใจ ที่เราหายใจเพราะการหายใจคือส่วนหนึ่งของชีวิต เราหายใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง ไม่จำเป็นต้องบังคับ การหายใจก็คือการหายใจ การหายใจมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองฉันใด ผู้ที่มีรักแท้ในหัวใจก็พร้อมรักคนทั้งโลกโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน ฉันนั้น ทั้งนี้เพราะมันเป็นธรรมชาติอันเป็นธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้รักแท้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "กรุณา" หรือ "การุณยธรรม" เกิดขึ้นหลังจากที่ปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งได้ค้นพบปัญญา คือ ความตื่นรู้ แล้วเกิดวิสุทธิภาวะ คือจิตใจที่หลุดพ้น เป็นอิสรภาพจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง ปัญญาที่ตื่นรู้ และวิสุทธิภาวะของจิตที่หลุดพ้นจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดคุณธรรมชนิดใหม่ซึ่งเปรียบเสมือนธารน้ำที่หลั่งไหลมาของความรักก็ คือ กรุณา ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาการุณิกะ" แปลว่าบุคคลผู้เปี่ยมด้วยความรักอันไพศาล นั่นแหละ รักแท้ คือ กรุณา

" มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นพบรักแท้ในหัวใจของตัวเองได้เพราะรักแท้หรือ กรุณามาจากพุทธภาวะในหัวใจของเราทุกคนฉะนั้นขอแค่เราเป็นคนเท่านั้นแหละ เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็นความรักแท้ที่จำพรรษาในใจอยู่แล้ว รอแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะค้นพบเท่านั้นเอง เขารอเราอยู่ตลอดเวลา ทุกภพทุกชาติทุกวินาที "

พรหมวิหาร 4 ก็เป็นวิธีอธิบายพัฒนาการของความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง คนที่จะปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้สมบูรณ์ได้นั้นต้องใช้ปัญญาขั้นสูงพอสมควร ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เมตตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) กรุณา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) มุทิตา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) อุเบกขา (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก) พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นพรหม คนที่จะเป็นพรหมได้จึงต้องใช้ปัญญากันมากพอสมควร

เป็น ที่รู้กันว่าในวัฒนธรรมความเชื่อแบบอินเดียโบราณ พรหม คือ พระผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง เพราะฉะนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมก็ต้องมีคุณธรรมของพรหม 4 ประการคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้สมบูรณ์ แต่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานั้น จะปฏิบัติให้สมบูรณ์เป็นเรื่องยากมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะเมตตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง กรุณาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง มุทิตาเฉพาะกับคนที่ตัวเองรัก คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เห็นไหม สามข้อนี้ปฏิบัติยากมากเพราะเป็นเรื่องของคนกับคน คนกับอารมณ์ พอมาถึง อุเบกขา ยิ่งยากมากกว่านั้นนับร้อยนับพันเท่า เพราะอุเบกขาเป็นเรื่องของคนกับธรรม หรือคนกับหลักธรรม

ธรรมชาติ ของมนุษย์มักจะมีความโน้มเอียงตกเป็นฝักฝ่าย ไม่บวกก็ลบ ไม่สูงก็ต่ำ ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่เธอก็ฉัน แต่อุเบกขา คนที่จะปฏิบัติได้นั้นต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมในทางจิตใจ สามารถมองทะลุสมมุติบัญญัติทั้งปวง มีโลกทัศน์ในลักษณะที่เรียกว่า Duality คือ เหนือสิ่งซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามทั้งหมดทั้งปวง สามารถทะลุทะลวงสิ่งสมมุติ แล้วลอยเด่นอยู่เหนือสิ่งสมมุติทั้งหลายทั้งปวง มองโลกได้ทั้งในแง่ดีแง่ร้าย มองคนได้ทั้งคนดีและคนร้าย มองสรรพสัตว์ทั้งดีและร้าย ด้วยระดับเดียวกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร และตัวเองก็ไม่เลือกเข้าข้างใคร การที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นคนที่อยู่ในโลกที่มีภาวะจิตใจเหนือโลกเช่นนี้ได้ นั้น ต้องการปัญญาขั้นสูง ฉะนั้นพรหมวิหารธรรมจึงเป็นธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นพรหม ไม่ใช่ธรรมะตื้นๆ ธรรมดาๆ แต่เป็นธรรมขั้นสูงผู้ที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์จึงหาไม่ได้ ง่ายๆ แต่ใครก็ตามสามารถบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์ ต้องถือว่าคนนั้นมีคุณค่าเท่ากับเป็นพรหมทีเดียว เพราะคนๆนั้น สามารถสร้างโลกสร้างชีวิตได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข พอๆ กับที่พระพรหมสร้างโลกทั้งผองให้มีความลงตัวสมบูรณ์ สร้างครั้งเดียวแล้ว ไม่ต้องกลับมาสร้างใหม่ เห็นไหม ใครก็ตามที่มีพรหมวิหารธรรมในหัวใจ ก็สามารถปฏิบัติต่อคนทั้งโลก สามารถปฏิบัติต่อธรรมะซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำให้โลกนี้มีความร่มเย็นเป็น สุขอยู่ได้อย่างสมดุล

โดยสรุปคนที่จะปฏิบัติ พรหมวิหารธรรมในหัวใจได้นั้น ต้องมีพุทธภาวะ คือ มีปัญญา มีสุทธิภาวะ คือมีจิตใจซึ่งหลุดพ้นจากอวิชชา และแน่นอนที่สุดก็ต้องมีกรุณาภาวะ คือ รักแท้เป็นเรือนใจ จึงจะสามารถปฏิบัติพรหมวิหารธรรมได้อย่างสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ทั้งพรหมวิหารธรรม และรักสี่ประการที่อาตมภาพกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นเนื้อเดีวกัน อุเบกขาจึงเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากปฏิบัติกันผิดๆ ไหนๆ ถามแล้วก็ขออธิบายลงลึกในรายละเอียดว่า พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการนั้น ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ ดังนี้

เมตตา ใช้ในสถานการณ์ปกติ คือมองดูคนทั้งโลก มองดูสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งโลกด้วยสายตาแห่งไมตรีจิต และเป็นมิตร ในลักษณะ " We are the world " หรือ "โลกทั้งผองพี่น้องกัน"

กรุณา ใช้ ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่ข้างหน้าเรา สรรพชีพ สรรพสัตว์กำลังตกทุกข์ได้ยาก เราจึงยื่นมือเข้าไปช่วย ถ้าเขาอยู่เฉยๆ เรายื่นมือเข้าไปช่วย อาจจะโดนข้อหาหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ใช่ไหม เขาไม่ต้องการอาหาร เรายกอาหารไปให้เขา ก็อาจถูกข้อหายัดเยียดอาหารให้เขาทั้งๆ ที่เราหวังดี แต่เพราะทำไม่ถูกกาลเทศะ กลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย ฉะนั้นกรุณาถ้าไม่ถูกกาลเทศะ อาจกลายเป็นยุ่งเรื่องคนอื่นได้

มุทิตา ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่เบื้องหน้าของเราได้ดีมีความสุข เราให้กำลังใจเขา ทำไมต้องให้กำลังใจเขา เพราะถ้าเราไม่รีบให้กำลังใจ ใจของเราจะพลิกจากมุทิตาเป็นริษยา คือ จะทนต่อคุณงามความดีของคนอื่นไม่ได้ เมื่อปล่อยให้ริษยาก่อตัวขึ้นในใจ ริษยานั้นจะเผาไหม้ใจของเราให้เป็นจุณ จากนั้นจะลุกลามไปเผาไหม้คนที่เราริษยา พระพุทธเจ้าแนะให้มุทิตาก็เพื่อป้องกันริษยา และเพื่อยกระดับจิตใจเราให้สูงขึ้น ปรารถนาให้คนอื่นดีกว่าตน นั่นคือ เป็นปฏิบัติการที่ฝึกใจให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ มุทิตาเป็นรอยต่อทำให้คนเป็นพระโพธิสัตว์นะ ถ้าเราเห็นคนอื่นได้ดี แล้วเข็มไมล์หัวใจของเราไม่กระดิกด้วยริษยา แสดงว่าเราเริ่มมีพัฒนาการที่จะเป็นพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์ให้บำเพ็ญมุทิตาจิตให้มากๆ เห็นคนอื่นได้ดีมีสุขแล้วเข็มไมล์หัวใจนี่ไม่กระดิกในทางลบเลย มีแต่เบิกบาน ผ่องใสกับเขา เหมือนสายฝนตกมาแล้ว หลังฝนพรำ เห็ดก็งอกออกจากพื้นดิน เพราะมุทิตาต่อสายฝน เห็ดจึงสามารถผุดออกมาจากผืนดินได้ เช่นเดียวกันเพราะมุทิตาต่อคนอื่น หัวใจจึงสามารถหลุดพ้นจากความคับแคบของโซ่ตรวนแห่งความริษยาได้

อุเบกขา ใช้ในสถานการณ์ที่คนกำลังขัดแย้งกับหลักธรรม หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และหลักกฎหมาย เราควรปล่อยให้คนเหล่านั้นได้รับผิดชอบจากผลแห่งการกระทำนั้นด้วยตัวของเขา เองโดบปราศจากการแทรกแซง เราวางตัวเป็นกลางด้วยความตื่นรู้ แล้วก็กันตัวเองออกมา เฝาดูคนทำผิดหลักการ ผิดหลักธรรม ผิดหลักธรรมนั้น รับผลแห่งการกระทำของเขาเองอย่างตรงไปตรงมา ตามลักษณะของความเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้เกิดขึน สิ่งนี้ดับไปก็เพราะสิ่งนี้ดับไป" เราเป็นผู้ดู ผู้สังเกตุการณ์ ปล่อยให้คนที่สวนทางกับหลักการ หลักธรรม หลักกรรมทั้งหลายนั้น รับผลซึ่งเค้าได้ก่อเหตุเอาไว้อย่างตรงไปตรงมานั่นแหละคือการวางตัวเป็นกลาง การวางตัวเป็นกลาง อย่างนี้ต้องใช้ปัญญาขั้นสูง เพราะมีคนจำนวนมากที่พยายามวางตัวเป็นกลาง แต่เนื่องจากปราศจากปัญญา การพยายามวางตัวเป็นกลาง เลยการเป็นการปล่อยปละละเลย

" ฉะนั้นอุเบกขาจึงมีสองลักษณะ หนึ่ง อุเบกขาที่มาพร้อมกับปัญญา เป็นอุเบกขาที่แท้จริง พึงประพฤติปฏิบัติ สอง อุเบกขา ที่มาพร้อมกับความโง่ เรียกว่า อัญญานุเบกขา เป็นอุเบกขาที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากวางอุเบกขาด้วยความโง่ ยิ่งพยายามวางอุเบกขากลายเป็นว่ายิ่งทอดธุระ ยิ่งปล่อยปละละเลย "

ฉะ นั้นการปฎิบัติพรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการให้สมบูรณ์ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วย เสมอ ถ้าไม่ดูสภาพแวดล้อม แล้วจู่ๆก็มีเมตตา อาจกลายเป็นเมตตาจนเกินพอดี เขามีปัญหาช่วยเหลือมากเกินไป กลายเป็นแบกภาระแทนเขา เขาได้ดีมีสุข มุทิตาไม่ดูกาลเทศะ ทำให้คนที่ถูกมุทิตาหลงตัวเอง หากใช้อุเบกขาโดยไม่ใช้ปัญญาก็อาจกลายเป็นการทอดธุระปล่อยปละละเลย เฉยมั่ว เฉยเมย และเฉยเมิน ในการฝึกมุทิตากับคนอื่น ให้เรามองตัวเรากับมองตัวเขาว่า เราทั้งคู่นี่ช่างโชคดีจังเลยนะ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งที่กว่าจะเกิดมาก็แสนยาก กว่าจะดำรงชีวิตรอดก็แสนยาก แล้วทั้งๆที่เกิดแสนยาก ดำรงชีวิตแสนยากนั้นก็ยังอุตส่าห์สู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้จนประสบความสำเร็จ คนเช่นนี้ช่างน่านับถือในความวิริยะอุตสาหะจังเลย ฉันขอชื่นชมต่อคุณนะ แล้ววันหนึ่งฉันจะพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นเหมือนคุณบ้าง นี่เห็นไหม มองกว้างๆ อย่างนี้แล้วเราจะไม่อิจฉาไม่ริษยาเขาเลยเพราะอะไร เพราะเขาก็คือเพื่อนร่วมโลกเหมือนกับเรา ให้มองคนที่อยู่ตรงหน้าว่าเขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ในสังสารวัฏเดียวกัน

การที่เราชิงชังรังเกียจเขา ริษยาเขา ก็คือเรากำลังโกรธเกลียดชิงชังเพื่อนของเรานั่นเอง แล้วคนที่เกลียดเพื่อนสุดท้ายก็จะเสียเพื่อน และกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน ดังนั้นการทำร้ายเพื่อน การริษยาเพื่อน แท้ที่จริงก็คือการทำร้ายตัวเรานั่นแหละ เรื่องอะไรเราจะทำร้ายตัวเราด้วยการทำร้ายเพื่อน แต่หากเราแผ่มุทิตาต่อเขา ใจของเราก็เบิกบาน เหมือนดอกไม้ ทันทีที่แสงตะวันสาดมาต้อง ดอกไม้ไม่ขังตัวเองไว้ แต่เปิดใจรับแสงตะวัน ดอกตูมจึงกลายเป็นดอกบาน เห็นไหม ถ้าดอกไม้ตูมไม่เปิดใจรับแสงตะวัน ทั้งปีทั้งชาติก็ตูมอยู่อย่างนั้น แล้วกลิ่นหอมจะมาแต่ไหน ความเป็นดอกไม้ก็ไม่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์ของดอกไม้อยู่ที่เป็นดอกไม้แล้วได้บาน ได้ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ความสมบูรณ์ของคนก็อยู่ที่ คุณเป็นคน มีจิตใจเบิกบานเพราะปราศจากไฟริษยา

" ความริษยานับเป็นคุกชนิดหนึ่ง เมื่อเราเติมมุทิตาเข้าไป จิตใจของเราก็เบิกบาน เมื่อเบิกบาน ความเป็นมนุษย์ของเราก็สมบูรณ์ ดุจเดียวกับดอกไม้ เมื่อเปิดใจรับแสงตะวัน กลีบของดอกไม้ก็คลี่บานแล้วส่งกลิ่นหอม ความเป็นดอกไม้ก็สมบูรณ์ เมื่อคนๆหนึ่งสามารถเปิดหัวใจให้กว้าง ผลิบานต่อความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนมนุษย์ แสดงว่าเขากำลังก้าวสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะว่ามุทิตาซึ่งเป็นภาวะของจิตใจของคนที่กำลังเป็นพระโพธิสัตวว์องค์ น้อยๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว "

ขอขอบคุณหนังสือ รักแท้ คือ กรุณา โดย ท่านว.วชิรเมธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น